การออกแบบนโยบายสนับสนุน SMEs แค่‘Big Data’อาจไม่เพียงพอ

14 มี.ค. 2561 | 00:00 น.
TP07-3348-1A ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา กระแสความสนใจเรื่อง Big Data นั้นได้รับความสนใจจากภาคเอกชนเป็นอย่างมาก และขยายมาสู่ความสนใจของภาครัฐ ซึ่งกระแสดังกล่าวส่งผลทำให้ภาครัฐเข้าใจ ถึงความสำคัญของข้อมูลที่ถูกจัดเก็บโดยภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบัน และมีความพยายามนำเอาข้อมูลออกมาใช้ประกอบในการวิเคราะห์และพิจารณาออกแบบนโยบายต่างๆ มากยิ่งขึ้น

ฐานข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐถือเป็นฐานข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากมีทั้งข้อมูลระดับบุคคลที่เชื่อมโยงกับหลายๆ เรื่องผ่านเลขประจำตัวประชาชน หรือข้อมูลระดับบริษัทผ่านเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ซึ่งมีลักษณะข้อมูลที่มีจุดร่วม หรือมี common node เดียวกัน ประโยชน์ของข้อมูลประเภทนี้ จะเห็นได้จากการใช้ข้อมูลของภาครัฐในโครงการประชารัฐต่างๆ ที่เมื่อมีการกรอกข้อมูลผ่านฐานข้อมูลที่เชื่อมกับเลขที่บัตรประจำตัวประชาชนกับข้อมูลเรื่องรายได้ การศึกษา และอื่นๆ ก่อนพิจารณาสิทธิ์ของผู้เข้าร่วมโครงการได้อย่างรวดเร็ว

ท่านผู้อ่านอาจจะพอเห็นภาพคร่าวๆ แล้วว่าภาครัฐมีข้อมูลที่เป็น Big Data และมีการนำไปใช้เชิงนโยบายได้อย่างไรบ้าง

นอกเหนือจากข้อมูลทะเบียน ราษฎรที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น ภาครัฐเองก็มีข้อมูลอีกหลายประเภทที่มีขนาดใหญ่ เช่น ฐานข้อมูลระดับบริษัทที่แยกตามการผลิต การค้า และการลงทุน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บและการนำไปใช้ของแต่ละกรมและกระทรวงที่รับผิดชอบ โดยภาครัฐเองก็มีแนวคิดที่จะนำฐานข้อมูลต่างๆ เหล่านี้มาใช้ประกอบการกำหนดและดำเนินนโยบายมากขึ้น ทั้งในรูปแบบที่เปิดให้ภาคประชาชนและภาควิชาการเข้าถึง หรือที่เปิดให้ใช้เฉพาะหน่วยงานเพื่อใช้ช่วยกำหนด และดำเนินนโยบาย

TP07-3348-2A โดยในบทความนี้ ผมอยากพูดถึง การนำฐานข้อมูลของภาครัฐมาใช้ออกแบบมาตรการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ซึ่งมีมาตรการที่เกี่ยวข้องกับ Big Data เป็น 1 ใน 9 มาตรการสนับสนุน SMEs ที่รัฐบาลเพิ่งมีการออกมาตรการช่วยเหลือออกมา ทั้ง 9 มาตรการนี้มีอะไรบ้าง สามารถสรุปเป็นรูปได้ดังนี้ครับ

โดยผมจะขอพูดถึงเพียงมาตรการที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล Big Data หรือมาตรการ SME Big Data เท่านั้นครับ การรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลจากหลายๆ หน่วยงานมาเก็บรวมอยู่ที่เดียวกันนั้นมีประโยชน์ แต่อาจจะไม่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มประสิทธิผลมากนัก หากข้อมูลที่ถูกนำมารวมกันนั้นขาด “ความเชื่อมโยง” ระหว่างกัน ตัวอย่างเช่น กระทรวอุตสาหกรรมเน้นเก็บข้อมูลการผลิตหรือการลงทุนของบริษัท (แบบฟอร์ม รง. 9) ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์สนใจเรื่องการค้าระหว่างประเทศ (ข้อมูลการนำเข้า-ส่งออกตามพิกัดข้อมูลศุลกากร) ก็จะเก็บข้อมูลของบริษัทที่มีการส่งออกและนำเข้า หรือกระทรวงการคลังที่อาจจะมาจากมุมด้านภาษีนิติบุคคลเพียงอย่างเดียว หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีข้อมูลการเงินของบริษัทจดทะเบียน (แบบฟอร์ม 56-1) เท่านั้น ส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากการที่แต่ละหน่วยงานนั้นมีการจัดเก็บตามความต้องการใช้ของตนเองมากกว่า

นั้นหมายความว่า บริษัทที่มีการผลิตและลงทุนภายในประเทศอย่างเดียว แต่ไม่มีการนำเข้าหรือส่งออกเลย จะมีข้อมูลอยู่ในฐานข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรม แต่อาจจะไม่มีอยู่ในฐานข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เลย ทั้งๆ ที่บริษัทอาจจะมีความสามารถ หรือพยายามเตรียมความพร้อมในการส่งออกอยู่ เพียงเพราะอาจจะติดข้อจำกัดบางประการ และถึงแม้จะมีการนำเอา 2 ฐานข้อมูลมารวมกันที่เดียว ก็อาจจะไม่เพียงพอในการช่วยแก้ปัญหาความไม่เชื่อมโยงของข้อมูล เนื่องจากกลุ่มบริษัทที่จัดเก็บก็เป็นคนละกลุ่มกัน ทำให้เกิดช่องว่างของข้อมูล

ซึ่งแน่นอนย่อมจะส่งผลทำให้นโยบายที่ออกมาบางครั้งนั้น ดูกว้างและหว่านแห่ครอบคลุมเรื่องทั่วๆ ไป เช่น “ภาครัฐควรสนับสนุนให้ความรู้กับพนักงานเพื่อเพิ่มประสิทธิผลการผลิต” แต่ไม่สามารถระบุได้ว่า การพัฒนาเป็นความรู้ด้านใด หรือควรเป็นพนักงานระดับใด หรือภาครัฐควรช่วยพัฒนาระบบการบริหารจัดการให้บริษัทสามารถส่งออกได้มากขึ้น แต่ไม่สามารถระบุถึงขั้นตอนหรือกระบวนการที่ควรเข้าไปช่วย เช่น การจัดซื้อวัตถุ ดิบขั้นต้น/ขั้นกลาง หรือกระบวนการบรรจุหีบห่อ เป็นต้น

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ ตัวอย่างประสบการณ์จากต่างประเทศนั้นมีหลายๆ กรณีด้วยกันครับ เช่น กรณีประเทศญี่ปุ่นที่กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economic, Trade and Industry, METI) และองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan External Trade Organization, JETRO) มีการใช้ข้อมูลเชิงลึกจากการเก็บข้อมูลจำนวนมากของทั้งบริษัทที่ประสงค์ขอความช่วยเหลือจากภาครัฐเพื่อออกไปทำการค้าหรือลงทุนในต่างประเทศ และบริษัทที่ออกไปทำการค้าหรือลงทุนในต่างประเทศเอง โดยข้อมูลรายบริษัทในหลายๆ มิติ ถูกนำมาใช้ประกอบการพิจารณานโยบายหรือมาตรการสนับสนุนให้บริษัทญี่ปุ่นออกไปลงทุนในหลายๆ ประเทศ และสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับบริษัทเหล่านั้นได้อย่างมาก

เพราะฉะนั้นการรวบรวมข้อมูล Big Data เพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ภาครัฐหรือ หน่วยงานที่รวบรวมข้อมูลจำเป็นต้องพิจารณามิติที่แต่ละอย่างมีความสัมพันธ์กันด้วย เช่น การค้าและการลงทุน การค้า และความสามารถในการผลิต การลงทุนและพัฒนาแรงงานภายใน การจ้างงานและการค้า ฯลฯ

ทั้งนี้มีการนำแนวคิดทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์การค้าระหว่างประเทศและการลงทุนทางตรง ระหว่างประเทศที่เรียกว่า “Heterogeneous Firm Models” ที่อาศัยข้อมูลเชิงลึกจากหลายๆ มิติ ที่เชื่อมโยงกันมาประกอบการวิเคราะห์และพิจารณาผลที่เกิดกับการค้าระหว่างประเทศและการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศ ซึ่งผลที่ได้จะช่วยทำให้การออกแบบนโยบายหรือมาตรการสนับสนุน SMEs นั้นมีความชัดเจน และสามารถนำมาปฏิบัติใช้ได้มากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,348 วันที่ 15 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว