แบรนด์ดังแห่ลดไซซ์ แก้เกมยอดขายหดเพิ่มทางเลือกคนกำลังซื้อน้อย

17 มี.ค. 2561 | 10:30 น.
จับตาแบรนด์ดังลดไซซ์ ย่อส่วนสินค้ารับกำลังซื้อหดตัว เงินในกระเป๋าน้อยลง หั่นลดค่าใช้จ่าย พร้อมปูพรมหว่านขายผ่านร้านสะดวกซื้อ เผยผลวิจัยพบ ตลาดอุปโภคบริโภคลดตํ่าสุดรอบ 10 ปี ขณะที่ร้านสะดวกซื้อกลายเป็นช่องทางหลักซื้อง่าย ขายคล่อง คาดปี 2563 เบียดขึ้นเบอร์ 1 ที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าคอนซูเมอร์มากสุด

ผลวิจัยของกันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการวิจัยตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) หรือ FMCG (Fast Moving Consumer Goods) ที่พบว่าในรอบปี 2560 ภาพรวมของสินค้าคอนซูเมอร์ตกตํ่าสุดในรอบ 10 ปี โดยมีการเติบโตติดลบ 0.4% มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 4.42 แสนล้านบาท แต่หากพิจารณาใน 3 กลุ่มสินค้าสำคัญ ได้แก่ กลุ่มสินค้าของใช้ภายในบ้าน (Home Care) มีการเติบโตในอัตรา 4.1% กลุ่มสินค้าของใช้ส่วนบุคคล (Personal Care) มีอัตราการเติบโต 2.6% แต่สินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage) มีอัตราเติบโตติดลบ 2.4%

mp36-3348-a สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้สินค้าของใช้ส่วนบุคคลและสินค้าของใช้ภายในบ้านยังมีอัตราการเติบโต เป็นเพราะการพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรม และการออกสินค้าด้วยบรรจุภัณฑ์ใหม่ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ไซซ์เล็ก เพื่อรองรับกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัว ซึ่งเห็นได้จากกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่เติบโตติดลบ เพราะผู้บริโภคเลือกตัดค่าใช้จ่ายในกลุ่มสินค้านี้ก่อน รวมถึงการหันไปเลือกซื้อสินค้าที่มีราคาถูกกว่าเดิม

นายอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการด้านพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตา เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยว่า จากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัว ส่งผลให้ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายในสินค้าที่ไม่จำเป็น หรือซื้อสินค้าที่มีราคาถูกลง ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์การทำตลาด ทั้งการจัดโปรโมชันส่งเสริมการขายเพิ่มมากขึ้น โดยปีที่ผ่านมาพบว่ามีผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าด้วยโปรโมชันสัดส่วนมากถึง 36% และมีแนวโน้มสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 40% ภายในปีนี้และต่อเนื่องถึงปีหน้าด้วย

[caption id="attachment_118926" align="aligncenter" width="503"] อิษณาติ วุฒิธนากุล อิษณาติ วุฒิธนากุล[/caption]

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังใช้กลยุทธ์ การปรับขนาดของสินค้าให้เล็กลง เพื่อที่ผู้บริโภคจะสามารถซื้อสินค้าได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าสกินแคร์และกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่หันมาใช้กลยุทธ์นี้มากขึ้น มีกรณีตัวอย่างแบรนด์สินค้าที่ปรับไซซ์ให้สอดคล้องกับกำลังซื้อและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ที่ส่งผลให้ยอดขายเติบโตเพิ่มสูงขึ้น อาทิ แบรนด์ การ์นิเย่ ที่ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ในรูปแบบซอง ออกมาจำหน่ายซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูง มียอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง

“การ์นิเย่ นอกจากจะออกบรรจุภัณฑ์ไซซ์เล็กแบบซองแล้ว ยังมีพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบบซองที่มีฝาเปิดปิด จากปกติทั่วไปเป็นแบบซองฉีก ทำให้ใช้งานง่ายและยังออกสินค้าจับกลุ่มเป้าหมายหลายกลุ่ม ทั้งกลุ่มผู้ใหญ่และกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีรูปแบบซอง ราคาของสินค้าค่อนข้างสูงทำให้ร้านค้าโดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อ ไม่รับสินค้าเข้ามาขาย แต่พอปรับไซซ์ลงมาก็ทำให้ขายดีขึ้น แนวโน้มเช่นนี้มีในทุกกลุ่มสินค้าประเภทสกินแคร์ รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ทำแบบกินได้ 1 วัน หรือแพ็กแบบมื้อเดียวออกมาขายจำนวนมากด้วย”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ ขณะที่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม แม้ว่าภาพรวมตลาดจะเติบโตติดลบ แต่สำหรับสินค้าที่ใช้กลยุทธ์เรื่องของไซส์ซิ่งเข้ามาทำตลาด ก็จะพบว่าสามารถสร้างยอดขายให้เติบโต สวนกระแสตลาดได้ด้วยเช่นกัน เช่นกรณีของนมข้นหวานแบรนด์ทีพอท ที่เดิมเป็นบรรจุภัณฑ์ประเภทกระป๋อง ได้พัฒนาออกมาในรูปแบบของหลอดบีบ ก็พบว่าสามารถสร้างการเติบโตได้มากเช่นกัน ผลิตภัณฑ์อาหารเช้าซีเรียลแบรนด์โกโก้ครั้นช์ ที่เดิมเป็นกล่องขนาดใหญ่ที่ต้องผสมนมเพื่อกินเป็นอาหารเช้า ได้พัฒนาสินค้าใหม่ออกมาเป็นในรูปแบบแท่ง และมีขนาดบรรจุที่เล็กลง ก็ได้รับการตอบรับด้านยอดขายที่ดีด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นอกจากการปรับไซซ์สินค้าให้มีขนาดเล็กลง เพื่อรองรับกับกำลังซื้อของผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการทำสินค้าให้เหมาะกับช่องทางการจัดจำหน่ายด้วย โดยเฉพาะช่องทางร้านสะดวกซื้อ หรือ CVS ที่พบว่ามีอัตราการขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 17% จากตลาดรวมของการซื้อสินค้าในกลุ่มคอนซูเมอร์ และเป็นการเติบโตมาอย่างต่อเนื่องจากช่วงปี 2548 ที่มีสัดส่วนเพียง 8.3% เท่านั้น โดยคาดว่าภายในปีนี้หรือปีหน้าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 18% และในปี 2563 คาดว่าจะเป็นช่องทางค้าปลีกอันดับ 1 ที่ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้ามากที่สุดด้วย เหมือนกับหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เป็นต้น

[caption id="attachment_263792" align="aligncenter" width="476"] TP15-3344-2 งเจษฎากร โคชส์[/caption]

ด้านนางเจษฎากร โคชส์ รองกรรมการผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัท ไทยดริงค์ จำกัด กล่าวว่า ได้ออกสินค้าขนาด 390 มิลลิลิตร ในราคา 10 บาท ออกมาทำตลาดผ่านช่องทางร้านโชวห่วย เนื่องจากมองว่ากำลังซื้อสอดคล้องกับช่องทางดังกล่าว และเพื่อขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น รวมถึงสร้างแบรนด์อิมเมจ ขณะที่หากเป็นสินค้าที่มีขนาดใหญ่ จะวางขายผ่านช่องทางไฮเปอร์มาร์เก็ต โดยมองว่าการแข่งขันของตลาดเครื่องดื่มในปัจจุบัน จะมุ่งเน้นเรื่องของนวัตกรรม ภาพลักษณ์ และแพ็กเกจจิ้ง ขณะที่คู่แข่งที่มีสินค้าราคา 10 บาท จะมีขนาดเพียง 330 มิลลิลิตร โดยนํ้าอัดลมราคา 10 บาทมีสัดส่วนประมาณ 20% ของตลาดรวม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,348 วันที่ 15 - 17 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว