สินเชื่อส่งออกถึงไตรมาสแรกยังแผ่ว แบงก์แนะโควตราคาปิดเสี่ยง

19 ม.ค. 2559 | 23:00 น.
ความต้องการสินเชื่อเพื่อส่งออกถึงไตรมาสแรกยังแผ่ว! แบงก์/ธปท. แนะเฟ้นคู่ค้า-ปรับตัวบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ลูกค้าตั้งเงื่อนให้คู่สัญญาเปิดแอลซีค้ำประกันความเสี่ยง หลังสถานเศรษฐกิจโลกยังไม่ปกติ-จีนลดหยวน ธสน. ระบุ 1 1เดือนปี 58 มียอดจ่ายสินไหมแล้วกว่า 56 ล้านบาท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดทั้งปีเงินหยวนอ่อนแตะ 7 หยวนต่อดอลล์ไม่กระทบส่งออก

ดร.เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงทิศทางค่าเงินหยวนในอีก 12 เดือนข้างหน้า คาดจะอ่อนค่าไม่มากในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เฉลี่ยทั้งปีที่ระดับ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะรัฐบาลจีนต้องการให้หยวนมีเสถียรภาพไม่แกว่งมาก แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจของจีนที่ยังไม่ดีจึงอาจเห็นหยวนทยอยอ่อนค่า ซึ่งต้องรอดูการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4/2558 ของจีนที่จะออกมาในวันที่ 19 มกราคมนี้

ส่วนกรณีคาดหยวนอ่อนค่า ในกรอบ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นั้น จะไม่ส่งผลต่อไทยมากนัก แต่จะกระทบกำลังซื้ออาทิ คำสั่งซื้อจากจีนและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่จะตกต่ำทั่วโลกรวมทั้งไทย ที่จะกระทบต่อรายได้ภาคการเกษตรและส่งออกไทย

"ถ้าจีนยังไม่ฟื้น ส่งออกไทยไม่รู้จะได้เป้าขนาดไหน หากส่งออกได้ 2% ตามที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาด ความต้องการสินเชื่อของกลุ่มส่งออกหรือยอดวงเงินการค้าคงจะดีขึ้น เทียบปี 2558 ที่ติดลบมาก เห็นได้จาก 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.58 ) ส่งออกไทยติดลบไปแล้ว 5.5% และทั้งปีน่าจะติดลบ 6% "

สอดคล้องกับนางพรรณี เลิศจรรยากุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลง ยังไม่ได้กระทบต่อลูกค้าในกลุ่มการค้าระหว่างประเทศ หรือเทรดไฟแนนซ์ของธนาคารมากนัก เนื่องจากสัดส่วนลูกค้าของธนาคาร ที่ค้าขายกับจีนมีเพียง 15% ของพอร์ต และมีการซื้อขายด้วยสกุลเงินหยวนไม่มาก เมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตัวเลขปริมาณการค้าขายด้วยสกุลหยวนในปี 2557 ในกลุ่มนำเข้ามีมูลค่า 1.6 พันล้านบาท และกลุ่มส่งออกประมาณ 1.7 พันล้านบาท และในปี 2558 มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 5 พันล้านบาท ขณะที่ส่งออกเพิ่มเป็น 2.6 พันล้านบาท จะเห็นว่าปริมาณซื้อขายด้วยหยวนมีอัตราเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มากนัก โดยลูกค้าธนาคารกสิกรไทยที่มีการค้าขาย 3 ประเทศ อันดันแรกจะเป็นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน

ที่ผ่านมาธนาคารได้สนับสนุนให้ลูกค้าค้าขายด้วยเงินหยวนมากขึ้น โดยธนาคารมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะรองรับความต้องการลูกค้าได้ ปีนี้กสิกรไทยตั้งเป้าเติบโต ทางด้านธุรกิจเทรดไฟแนนซ์ประมาณ 5-8% จากปีก่อนมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทุกสกุลเงินโดยรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งกลุ่มที่ต้องการเน้นจะเป็นกลุ่มส่งออกเพื่อหนุนให้เงินไหลเข้าประเทศ พร้อมได้แนะนำให้ลูกค้าปิดความเสี่ยงค่าเงิน หรือกรณีที่ซื้อขายกับคู่ค้ารายใหม่ ก็อาจต้องซื้อประกันความเสี่ยง หรือขอเงินมัดจำคู่ค้าก่อนที่จะมีการส่งออก เป็นต้น

"หยวนอ่อนค่ามีผลไม่เยอะ เพราะถ้าในฝั่งนำเข้าอาจจะซื้อในราคาที่สูงขึ้น แต่ฟากผู้ส่งออกจะได้ราคาสินค้าที่สูงขึ้น ดังนั้นลูกค้าอาจจะต้องปรับตัวตามสถานการณ์ อาจจะโค้ดราคาซื้อขายที่แน่นอน หรือดูความเสี่ยงคู่ค้า รวมทั้งต้องจับตามองจีนเป็นรายไตรมาส แต่คิดว่าหยวนอ่อนค่าลงคงไม่เกิน 1 ปี เป็นปัจจัยระยะสั้น"

ด้านนายไตรรงค์ บุตรากาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี บมจ.ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ทิศทางหยวนที่อ่อนค่า ยังเอื้อต่อการส่งออกสินค้าไทยไปขายได้ ซึ่งลูกค้าของธนาคารทหารไทยประเภทคอมมิวนิตี ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ ยังมีการส่งออกไปขายยังจีน ส่วนเอสเอ็มอีส่งออกยังไม่มาก ซึ่งเท่าที่พูดคุยกับลูกค้าถ้าเป็นการส่งออกไปจีน ลูกค้าจะขอให้เปิดแอลซี (ให้คู่ค้าเปิดหนังสือค้ำประกันความเสี่ยง) โดยไม่มีการส่งออกตรงๆ

"ช่วงนี้ ยังคงมีคำสั่งซื้อหรือออร์เดอร์เข้ามาทั้งพวกมันสำปะหลัง ข้าวโพด แต่ยางแม้จะมีออร์เดอร์แต่ราคาจะถูกลง ดังนั้นความต้องการสินเชื่อจึงยังพอมี แต่ธนาคารจะให้ความสำคัญกับการสกรีนลูกค้าซึ่งเป็นอีกปีที่เราต้องรัดกุม คือ นโยบายอนุมัติสินเชื่อจะเน้นคัดกรอง ระวังและดูแลคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับลูกค้านำเข้าจะมีการซื้อฟอร์เวิล์ดป้องกันความเสี่ยงด้วยเช่นกัน "

นายวิพล วรเสาหฤท ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส กลุ่มลูกค้าธุรกิจ บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวถึงสัญญาณความต้องการสินเชื่อส่งออกในระยะ 3 เดือนข้างหน้านั้น จะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีคู่ค้าหลายรายและยอดคำสั่งซื้อกระจาย แต่สำหรับรายเล็กความต้องการวงเงินหมุนเวียนปลายปี 2558 น้อยลงซึ่งปกติน่าจะมีการตุนสินค้าเพื่อส่งออกหรือเพื่อผลิตสินค้าส่งออก แต่ก็ไม่เห็นสัญญาณ ยิ่งถ้าเป็นผู้ประกอบการผลิตสินค้าแบบเดิมแล้วไม่สามารถขายในราคาที่ถูกลงและตลาดยังเป็นตลาดเดิม แนวโน้มยังไม่ดีนัก

ขณะที่นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงความผันผวนของค่าเงินหยวนในขณะนี้ว่า ค่าเงินหยวนมีความผันผวนขึ้นตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 หลังจากที่จีนปรับระบบการคำนวณอัตราแลกเปลี่ยนค่ากลาง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความผันผวนของเงินสกุลต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากจีนเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของหลายๆ ประเทศ และเงินสกุลภูมิภาคมีแนวโน้มจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน จากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกัน เพราะฉะนั้น ผู้ส่งออกนำเข้า และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างในเอเชีย จะต้องมีการปรับตัว รวมถึงเพิ่มความระมัดระวัง และให้ความสำคัญกับการวางแผนการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนให้มากขึ้น

นายเขมทัศน์ สายเชื้อ รักษาการกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.หรือเอ็กซิมแบงก์) กล่าวถึงแนวโน้มการชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อต่างประเทศนั้น ช่วง 11 เดือน (ม.ค-พ.ย.58) มีผู้ส่งออกยื่นขอรับค่าสินไหมทดแทนทั้งสิ้น 20 ราย มูลค่ารวม 56.09 ล้านบาท สาเหตุหลักผู้ซื้อไม่ชำระค่าสินค้า 13 รายวงเงิน 45.97 ล้านบาท และผู้ซื้อล้มละลาย 7 ราย มูลค่า 10.12 ล้านบาท ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่อยู่ในแคนาดา 3 ราย เดนมาร์ก 3ราย อาเซียน 3 ราย สหรัฐอเมริกา 2 ราย อังกฤษ 2 รายตุรกี 2 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น และหากแยกเป็นประเภทสินค้าประกอบ ผู้ประกอบการด้านเครื่องประดับอัญมณี 9 ราย มูลค่า 29.28 ล้านบาท อาหารและเครื่องดื่ม 5 รายมูลค่า 22.65 ล้านบาท , ผลิตภัณฑ์พลาสติก 5 รายมูลค่า 3.46 ล้านบาท , เสื้อผ้าสำเร็จรูป 1 รายมูลค่า 0.70 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,123 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2559