ซื้อยางชี้นำ 45 บาท/กก. มาตรการเฉพาะกิจหยุดม็อบ

19 ม.ค. 2559 | 08:30 น.
ได้รับเสียงปรบมือและเสียงเชียร์ทุกทิศทั่วไทยกรณีรัฐบาลประกาศเมื่อ 14 มกราคม 2558 จะรับซื้อยางพาราในราคาชี้นำตลาดจากเกษตรกร ไม่ผ่านสถาบันเกษตรกร หรือพ่อค้าคนกลาง โดยในส่วนของยางแผ่นดิบชั้น 3 จะซื้อที่ 45 บาทบาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ยางก้อนถ้วย และน้ำยางสดจะซื้อในราคาลดหลั่นกันลงไปตามหลักเกณฑ์ที่จะกำหนด เป้าหมายเบื้องต้น 1 แสนตัน (จากมติคณะรัฐมนตรี 12 มกราคม 2559 ได้อนุมัติกรอบซื้อ 2 แสนตัน วงเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท)ผ่าน 3 หน่วยงานหลักได้แก่ องค์การคลังสินค้า (อคส.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) ดีเดย์จะเริ่มรับซื้อได้ภายในวันที่ 25 มกราคมนี้ เบื้องต้นจะใช้เงินจำนวน 4.5 พันล้านบาทจากกองทุนของการยางแห่งประเทศไทยเพื่อซื้อยางในปริมาณดังกล่าว โดยยางที่รับซื้อทั้งหมดจะป้อนเข้าสู่โรงงานแปรรูปและขายให้กับ 8 กระทรวงหลักเพื่อนำไปประโยชน์ของแต่ละส่วนราชการต่อไป

[caption id="attachment_27016" align="aligncenter" width="600"] ความเคลื่อนไหวราคายางในรอบสัปดาห์ ความเคลื่อนไหวราคายางในรอบสัปดาห์[/caption]

 ผลราคายางพุ่ง 4-6บาท/กก.

พลันที่รัฐบาลประกาศราคาดังกล่าวกลไกตลาดได้ขานรับ และส่งผลด้านจิตวิทยาต่อราคาซื้อขายยางพาราทั้งตลาดท้องถิ่น และราคาประมูล ณ ตลาดกลางทั้งที่จังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานีแหล่งซื้อยางรายใหญ่ที่พร้อมใจกันขยับขึ้นถ้วนหน้า เทียบกับราคาในต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับขึ้นมาแล้วถึง 4-6 บาทต่อกิโลกรัม (ดูตารางประกอบ) เป็นผลจากผู้ประกอบการได้เริ่มซื้อแข่งกับรัฐบาลในราคาที่สูงขึ้น เพื่อใช้ในการผลิตและส่งมอบลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ เพราะหากยังซื้อในราคาถูกแบบเดิมๆ ไม่มีใครขายให้แน่นอน

เปิดโมเดลรับซื้อยาง

ทั้งนี้จากข้อมูลของนายเชาว์ ทรงอาวุธ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ว่าการยางฯที่เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ระบุว่า การแทรกแซงซื้อยางตรงจากเกษตรกรในรอบแรก 1 แสนตันนี้จะมีเกษตรกรที่เป็นสมาชิก กยท.สามารถเข้าร่วมโครงการได้ประมาณ 4 แสนกว่าราย(ข้อมูล ณ 14 ม.ค.59) ดังนั้นหากใครยังไม่ได้เป็นสมาชิกต้องรีบแจ้ง ขณะที่โมเดลในการซื้อยางครั้งนี้ ที่ได้เสนอต่อพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาราคายางพารา วิธีการดำเนินงานของ กยท.จะไปเปิดจุดรับซื้อยางก้อนถ้วย และน้ำยางสดจากเกษตรกรโดยตรง โดยคำนวณตามเปอร์เซ็นต์เนื้อยางแห้ง(DRC) กำหนดรายละไม่เกิน 15 ไร่ (150 กก.คำนวณจากอัตราเนื้อยางที่ 30-40%) แต่ถ้าเนื้อยางมากก็จะได้บวกราคามาก

 เสนอเน้นซื้อยางก้อนถ้วย

ขณะการรับซื้อยางชี้นำตลาดของรัฐบาลมีความเห็นจากผู้ที่มีส่วนได้-เสียมีมุมมองที่หลากหลาย โดยที่นายสุนทร รักษ์รงค์ นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้ ได้ชื่นชมรัฐบาลถึงมาตรการที่ออกมา แต่ระบุว่า หากจะให้เกษตรกรรายย่อยได้ประโยชน์สูงสุดตามเจตนารมย์ ควรมีการกำหนดสัดส่วนการรับซื้อยางในครั้งนี้เป็นยางก้อนถ้วย 50% น้ำยางสด 30% และยางแผ่นดิบ 20% ซึ่งจะทำให้เกษตรรายย่อยในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานที่มีสวนยาง 8 ไร่ 10 ไร่ได้ประโยชน์มาก เพราะส่วนใหญ่ผลผลิตทำเป็นยางก้อนถ้วย แต่หากไปเน้นที่ยางแผ่นดิบต้องจับตามองเกษตรกรรายใหญ่ หรือเกษตรกรที่เป็นนอมินีของพ่อค้าที่สต๊อกยางแผ่นไว้จำนวนมากจะออกมาขายร่วมโครงการ ทั้งนี้ต้องเร่งดำเนินการ เพราะภาคเหนือและอีสานจะปิดกรีดยางในเดือนกุมภาพันธ์ ภาคตะวันออกปิดกรีดมีนาคม ภาคใต้ฝั่งอันดามันปิดกรีดมีนาคม และภาคใต้ตอนล่างปิดกรีดเมษายนจากไม้ยางสู่ฤดูผลัดใบ

 ผู้ค้ายางขยับซื้อแข่งดันราคา

สำหรับการซื้อยางชี้นำตลาดของรัฐบาลในครั้งนี้เชื่อแน่ว่า 5-7 บริษัทส่งออกยางพาราขนาดใหญ่จะเข้ามาแข่งขันและกว้านซื้อยางในราคาเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะปกติบริษัทเหล่านี้จะรับคำสั่งซื้อล่วงหน้า 3 เดือน หากไม่ซื้อก็จะไม่มียางส่งมอบลูกค้า นอกจากนี้จากที่รัฐบาลบอกจะย้ายยางในสต๊อก 3.6 แสนตันที่เช่าคลังเอกชนฝากเก็บตารางเมตรละ 80 บาทเข้าไปอยู่ในคลังทหาร จะเป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการที่ทุจริตแอบนำยางออกไปขายก่อนจะเร่งซื้อยางมาคืน จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยราคายางในตลาดปรับตัวสูงขึ้น

สอดคล้องกับนายวรเทพ วงศาสุทธิกุล ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยรับเบอร์ลาเท็คซ์ คอร์ปอเรชั่น(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)ที่มองว่า จากปริมาณยางที่เริ่มออกสู่ตลาดน้อย เพราะใกล้ปิดกรีด จะส่งผลให้ราคายางจากนี้ปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับนายไชยยศ สินเจริญกุล นายกสมาคมยางพาราไทยที่กล่าวว่า การแข่งซื้อยางในราคาสูงกว่าตลาดจะทำให้ผู้ส่งออกมีต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะนี้ต้องเร่งซื้อยางเพื่อส่งมอบให้ลูกค้า เพราะถ้ายางราคาสูงขึ้นเสี่ยงที่จะขาดทุนได้ในอนาคต

 15โครงการตัวช่วยยังอืด

อย่างไรก็ดีแม้เวลานี้ราคายางในประเทศจะปรับตัวสูงขึ้นจากการเตรียมเข้าซื้อยางในราคาชี้นำตลาดของรัฐบาล แต่คำถามคือหลังจากรัฐบาลซื้อยางได้ครบตามกรอบที่ 2 แสนตัน ราคายางในประเทศจะยังปรับตัวสูงขึ้นได้อีก หรือจะทรงตัว หรือตกต่ำลงอีกครั้ง เพราะปัจจุบันจากผลผลิตยางพาราในภาพรวมของไทยที่มีประมาณ 4 ล้านตันต่อปี(ปี 2558 มีผลผลิตราว 4 ล้านตัน ปี 2557 ผลผลิต 4.3 ล้านตัน) ใช้ในประเทศประมาณ 1 ล้านตัน ที่เหลือส่งออก 3 ล้านตัน ราคาส่งออกยังถูกกำหนดโดยตลาดโลก โดยผู้ซื้อปลายทาง หรือตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่พร้อมจะปั่นราคาขึ้น-ลงได้ทุกเมื่อ ขณะที่โครงการแก้ไขปัญหายางพาราภายใต้แนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบใน 15 โครงการเดิมเพื่อแก้ปัญหาในระยะสั้นและระยะกลางก็ยังเป็นไปโดยล่าช้า เช่นโครงการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันการเกษตรเพื่อใช้ในการรวบรวมยาง,โครงการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพารา,โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบผลิตภัณฑ์ยาง,โครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรรายย่อย เพื่อประกอบอาชีพเสริม เนื่องจากไม่ผ่านเกณฑ์ธนาคาร ผู้กู้มีหนี้ค้างชำระ หรือมีปัญหาภายในของตัวเอง เป็นต้น

 เห็นใจรัฐเข็นครกขึ้นเขา

เรื่องการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำนี้ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่ารู้สึกเห็นใจนายกรัฐมนตรีมาก เพราะมีความตั้งใจแต่เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขาไม่ง่าย ซึ่งการซื้อชี้นำราคาเพื่อเพิ่มการใช้ในประเทศไม่ได้แก้เรื่องราคา เพราะยังใช้หรือสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศน้อยต้องใช้เวลา

ส่วนการซื้อชี้นำราคาแม้จะช่วยได้ระยะหนึ่ง แต่พอหมดเงินแล้วก็อาจกลับมาสภาพเดิม ดังนั้นต้องแก้ที่โครงสร้างคือนำไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้นเหมือนที่มาเลเซียทิ้งผู้ผลิตยางอันดับ 1 หันไปสร้างมูลค่าเพิ่มส่งออกเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปมากขึ้น ทำให้มีเม็ดเงินเข้าประเทศมากขึ้น รวมถึงระยะยาวต้องเอาคนออกนอกภาคเกษตรให้มากขึ้น ที่เหลือรายย่อยรวมกันทำสวนยางแปลงใหญ่ทำให้มีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น

บทสรุปราคายางหลังซื้อตามกรอบรัฐบาล 2 แสนตันที่คาดว่าจะได้ครบตามจำนวนในไม่ช้านี้ ครั้นพอเปิดกรีดยางอีกครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม เกษตรกรคงต้องลุ้นระทึกอีกครั้ง เพราะมีปัจจัยเสี่ยงรออยู่ข้างหน้าอีกมากมายที่จะส่งผกระทบต่อราคายาง ทั้งจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่เป็นผู้ใช้ยางรายใหญ่ที่ยังชะลอตัว ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่คาดจะลดลงอีกเหลือระหว่าง 20-30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล จะส่งผลให้ยางเทียมหรือยางสังเคราะห์ที่เป็นคู่แข่งยางธรรมชาติมีราคาที่ถูกลง จะมีผลให้ยางธรรมชาติปรับมีราคาถูกลงตามได้ด้วย ไม่นับรวมถึงสต๊อกยางพาราของรัฐบาลที่ยังมีกว่า 3 แสนตันจะยังเป็นตัวกดดันราคาในประเทศ

ดังนั้นการซื้อยางชี้นำตลาดที่ 45 บาทต่อกิโลกรัมของรัฐบาลเปรียบเหมือนมาตรการเฉพาะกิจเข้าพยุงราคาเพื่อหยุดม็อบ แล้วรอลุ้นให้สภาวะตลาดเข้าที่เข้าทาง แต่ถ้าสถานการณ์ไม่เป็นใจเข้าแทรกแซงครบ 1.2 หมื่นล้านบาทแล้วตลาดยังเฉยๆ ถึงเวลานั้นค่อยมาว่ากันอีกที

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,123 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2559