‘ไทคอน’เท 5 พันล้านยึดอีอีซี ผุดคลังสินค้าโรงงานเช่า-รับ‘อาลีบาบา’สนใจลงทุน

15 มี.ค. 2561 | 03:20 น.
ไทคอนฯ ประกาศแผนรุกลงทุนในอีอีซี คาดใช้งบราว 5 พันล้านบาท พัฒนาพื้นที่ 1,500 ไร่ ผุดคลังสินค้าและโรงงานให้เช่า รองรับซัพพลายเออร์ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ยันมีการเจรจากับอาลีบาบา ตั้งฮับอี-คอมเมิร์ซ ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา

จากนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีที่กำลังเป็นรูปร่าง และมีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้บรรดาผู้พัฒนาที่ดิน เพื่อรองรับการลงทุนตื่นตัวกันอย่างมาก โดยล่าสุดบริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON ผู้นำตลาดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อการอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ได้ประกาศแผนพัฒนาที่ดินอีกราว 1,500 ไร่ ในอีอีซี ด้วยงบการลงทุนประมาณ 5 พันล้านบาท ในช่วง 3 ปี(2561-2563) เพื่อก่อสร้างคลังสินค้าและโรงงานให้เช่า ไว้บริการนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ จากงบทั้งหมดที่ตั้งไว้ 1 หมื่นล้านบาท

[caption id="attachment_267518" align="aligncenter" width="391"] วีรพันธ์ พูลเกษ วีรพันธ์ พูลเกษ[/caption]

นายวีรพันธ์ พูลเกษ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันบริษัทมีพื้นที่อยู่ในอีอีซีราว 3.5 พันไร่ ได้พัฒนาก่อสร้างคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าและพร้อมให้บริการไปแล้ว 500 อาคาร ซึ่งได้ทำสัญญาให้เช่าไปแล้วราว 70-80 % จากปัจจุบันบริษัทมีคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าอยู่ทั่วประเทศราว 800 อาคาร หรือคิดเป็นพื้นที่ราว 2.7 ล้านตารางเมตร

โดยบริษัทได้ให้ความสำคัญกับนโยบายการพัฒนาอีอีซี เนื่องจากเป็นพื้นที่ในการส่งเสริม 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล และลูกค้าที่มีอยู่ปัจจุบันก็เป็นกลุ่ม 5 อุตสาหกรรมเดิม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และโลจิสติกส์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของบริษัทในการให้บริการ อีกทั้งอุตสาหกรรมใหม่หรือนิว เอส-เคิร์ฟ เช่น อากาศยาน การแพทย์ครบวงจร อี-คอมเมิร์ซ เทคโนโลยีชีวภาพ จะเข้ามาเป็นตัวช่วยให้การขยายงานของบริษัทก้าวกระโดดมากขึ้น

“ผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในอีอีซี ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษที่มีการประกาศไว้ แต่จะมีบริษัทอื่นๆ ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ ตามเข้ามา ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ป้อนให้กับอุตสาหกรรม บริษัทจึงหวังให้บริการในส่วนนี้เข้ามาเช่าคลังสินค้าและโรงงานได้”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ด้วยศักยภาพของพื้นที่ตั้งที่กระจายอยู่ในอีอีซี บริษัทมีโครงการที่จะจับมือกับพันธมิตรที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่จะรองรับการเติบโตของตลาดอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งยอมรับว่าทางกลุ่มอาลีบาบา ได้เข้ามาหารือที่จะเช่าคลังสินค้าของบริษัท ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราแล้ว ที่จะลงทุนดิจิตอลฮับเป็นการลงทุนเพิ่มเติมจากเดิมที่จะมีการลงทุนในเรื่องโลจิสติกส์ ใช้เป็นฐานสำหรับดูแลการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปหรือลงนามในสัญญาแต่อย่างใด ซึ่งอาจจะยังรอความชัดเจนในด้านข้อกฎหมายของการนำเข้าส่งออกสินค้าของกรมศุลกากรอยู่

นายวีรพันธ์ กล่าวอีกว่า ดังนั้น ด้วยงบลงทุนของบริษัทช่วง 3 ปี ที่ตั้งไว้ 1 หมื่นล้านบาทนั้น กว่าครึ่งหนึ่งน่าจะเป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซี นอกจากนี้ยังมีพื้นที่อีกราว 2 พันไร่ ของกลุ่มทีซีซี ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ซึ่งจะร่วมกันพัฒนาเพิ่มขึ้นได้อีก เพื่อรองรับการใช้พื้นที่ของ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย รองรับนักลงทุนเป้าหมายอย่าง ญี่ปุ่นจีน และยุโรปโดยบริษัทตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2563 จะมีการขยายพื้นที่เพิ่มเป็น 3.5 ล้านตารางเมตร และมีอัตราการเช่าพื้นที่เพิ่มเป็น 85% และส่งผลให้มีรายได้ขึ้นไประดับที่ 5 พันล้านบาทได้ จากปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ประมาณ 11%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,347 วันที่ 11 - 14 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว