กรมโรงงานอุตสาหกรรมเข้มแก้ลักลอบทิ้งกากฯ ปีนี้จับตา 9 พันแห่งไม่มีแผนกำจัดไม่ต่อใบอนุญาตรง. 4

20 ม.ค. 2559 | 11:00 น.
กรอ.ไล่เช็กบิลโรงงานจำพวก 3 ลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม ตั้งเป้าปีนี้กว่า 9 พันแห่ง ไม่มีแผนนำกากเข้าสู่ระบบ ไม่ต่อใบอนุญาตรง. 4 ให้ เท่ากับต้องปิดกิจการ ฝ่าฝืนยังเปิดกิจการต่อมีโทษจำคุก 2 ปี และหากต้องขอใหม่ไม่ง่าย แนะ 3 แนวทางให้ผู้ประกอบการดำเนินงาน ทั้งบริหารจัดการภายในโรงงาน เก็บกากในระยะเวลา 90 วัน หรือส่งโรงงานกำจัดกาก พร้อมตั้งศูนย์ช่วยเหลือ 6 ภูมิภาคให้คำแนะนำ

นายจุลพงษ์ ทวีศรี รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากที่กรอ.ได้กำหนดยุทธศาสตร์การจัดการกากอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปี(2558-2562) โดยมีเป้าหมายหลักที่จะเร่งรัดโรงงานจำพวกที่ 3 ที่มีอยู่กว่า 6.82 หมื่นโรงงาน เข้าสู่ระบบได้ไม่น้อยกว่า 90% และเร่งรัดให้มีปริมาณกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบไม่น้อยกว่า 90%

ซึ่งจากการดำเนินงานในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา พบว่า มีโรงงานเข้าสู่ระบบการจัดการหรือมาลงทะเบียนกับกรอ.มีเพียงจำนวน 75.6% หรือมีเพียง 5.16 หมื่นโรงงานเท่านั้นและมีปริมาณกากอุตสาหกรรมที่เข้าสู่ระบบการจัดการหรือถูกนำไปกำจัดเพียง 27.37 ล้านตัน จากที่คาดการณ์ไว้ที่ 37.42 ล้านตัน แบ่งเป็นกากอันตรายที่เข้าสู่ระบบ 1.32 ล้านตัน จากที่คาดการณ์ไว้ 2.84 ล้านตัน และกากไม่อันตรายเข้าสู่ระบบ 26.05 ล้านตัน จากที่คาดการณ์ไว้ 34.57 ล้านตัน

โดยเฉพาะกากอันตรายที่ประเมินว่ายังเข้าสู่ระบบในปริมาณที่ต่ำ และส่วนใหญ่มาจากโรงงานขนาดใหญ่เพียง 7% จากจำนวนโรงงานทั้งหมด ในขณะที่ 93% ซึ่งเป็นโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กยังไม่มีการนำกากเข้าสู่ระบบมากนัก ที่ชี้ให้เห็นว่ายังมีการลักลอบทิ้งกากฯออกสู่สาธารณะอยู่

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ทางกระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ออกประกาศกระทรวงเพิ่มเติม นอกเหนือจากพ.ร.บ.โรงงาน ที่ใช้บังคับอยู่ ที่จะกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแหล่งก่อกำเนิดกาก จะต้องมีการจัดทำแผนกำจัดกาก เพื่อใช้เป็นส่วนสำคัญในการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน(รง.4) ถ้าไม่มีการจัดการกากอุตสาหกรรมให้ถูกต้อง เท่ากับว่าไม่ปฏิบัติตามประกาศของกระทรวง และหากผลการตรวจสอบปรากฏว่าโรงงานไม่มีการดำเนินงาน ทางกรอ.จะไม่มีการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการให้ ซึ่งเท่ากับว่าโรงงานจะต้องหยุดประกอบการโดยทันที และหากเปิดประกอบกิจการหลังไม่ได้ต่อใบอนุญาตแล้ว ตรวจพบจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายจุลพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานนั้น จะมีอายุประมาณ 5 ปี เมื่อครบรอบผู้ประกอบการจะต้องมาต่อใบอนุญาตกับกรอ.ทุกสิ้นปี ซึ่งในแต่ละปีจะมีโรงงานที่ครบรอบเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.2 หมื่นราย แต่ในปี 2559 คาดว่าจะมีกว่า 9 พันราย ซึ่งในจำนวนโรงงานดังกล่าวนี้ ทางกรอ.ก็ได้เสนอทางเลือกหรือแผนจัดการให้โรงงานไปดำเนินการในการกำจัดกากไว้ 3 ทางเลือก ไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการด้วยโรงงานเอง หรือจะมีการแจ้งกรอ.ในการจัดเก็บกากไว้ในระยะเวลา 90 วัน ก่อนจะถูกนำไปกำจัด และส่งให้โรงงานรับกำจัดกากไปดำเนินการ

ทั้งนี้ โรงงานที่ใบอนุญาตประกอบกิจการกำลังจะหมดภายในปีนี้ จะต้องเสนอแผนและดำเนินการให้ได้ตามแผนที่แจ้งไว้ โดยก่อนที่จะมีการต่อใบอนุญาตให้ทางกรอ.จะส่งเจ้าหน้าไปตรวจสอบโรงงานว่า มีการดำเนินงานจริงหรือไม่ ซึ่งหากยังไม่ถูกต้องจะสั่งให้มีการแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด และหากพ้นระยะเวลาไปแล้ว ทางกรอ.จะมีคำสั่งไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้

ดังนั้น มาตรการดังกล่าวนี้จะช่วยให้โรงงานจำพวก 3 ที่มีอยู่ จะมีการจัดการนำกากเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น ซึ่งในปีนี้กรอ.หวังว่า จะมีกากอันตรายเพิ่มขึ้นมาประมาณ 1.5 ล้านตัน และกากไม่อันตราย 27-28 ล้านตัน

"การที่โรงงานไม่จัดทำแผนกำจัดกาก และไม่สามารถต่อใบอนุญาตได้ หรือเพิกเฉยต่อการปฏิบัติ ผลเสียที่เกิดขึ้นจะตกอยู่กับโรงงานเอง เพราะไม่เพียงประกอบกิจการไม่ได้แล้ว อาจจะมีโทษทางอาญาเพิ่มขึ้นมา หากมีการฝ่าฝืน อีกทั้งหากจะกลับมาขอใบอนุญาตประกอบกอบกิจการใหม่ จะเป็นเรื่องอยาก เพราะจะต้องกลับไปสู่ขั้นตอนแรกใหม่ ที่จะต้องเปิดทำประชาพิจารณ์ในชุมชนที่ตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายที่โรงงานจะกลับมาดำเนินการใหม่ได้"

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการเข้าใจถึงแนวทางการดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานดังกล่าว และให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ทางกรอ.จะมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือและติดตามการต่ออายุโรงงานที่ขาดการจัดการกากอุตสาหกรรมขึ้นใน 6 ภูมิภาค โดยการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ส่งที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญ ไปประจำสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด เพื่อให้คำแนะนำในการจัดทำแนวการดำเนินงาน ดังนั้น ทางกรอ.จึงเชื่อว่าหากมีมาตรการในลักษณะนี้ออกมาแล้วจะทำให้มีกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบได้ตามแผนที่วางไว้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,123 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2559