ธนาคารเฟ้น‘แบงกิ้งเอเยนต์’ คุมเสี่ยง-ตอบโจทย์ลูกค้า

14 มี.ค. 2561 | 07:35 น.
ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับช่องทางให้บริการของธนาคารพาณิชย์ ลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 โดยเกณฑ์ใหม่ได้ยืดหยุ่นเรื่องรูปแบบ สาขา วันเวลาทำการและให้บริการผ่านช่องทางอิเล็ก ทรอนิกส์ หรือ Mobile Banking แล้ว ได้ขยายการแต่งตั้งตัวแทนของธนาคาร (Banking Agent)ให้ครอบคลุมบุคคล เช่น ผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ประกอบธุรกิจบริการได้รับอนุญาตก่อนให้บริการตามบัญชี ค.ท้ายพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ 2551 ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ซื้อสินค้า/บริการเฉพาะอย่างตามรายการที่กำหนดไว้ล่วงหน้าจากผู้ขายสินค้าหรือให้บริการหลายราย โดยไม่จำกัดสถานที่และไม่อยู่ภายใต้ระบบจัดจำหน่ายและให้บริการเดียวกันฯ และนิติบุคคลอื่น เช่น ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด กองทุนหมู่บ้าน และสหกรณ์ที่มีคุณสมบัติตามกำหนด สำหรับการว่าจ้างผู้รับจ้างช่วงงานต่อที่เป็นประเภทตัวแทน/จะให้บริการในช่องทางใหม่นอกจากที่กำหนดให้ธนาคารขออนุญาตธปท.เป็นรายกรณี

++ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ Digital
“กิตติยา โตธนะเกษม” รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า Banking Agent จะมีบทบาทในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ Digital แม้สัดส่วนการใช้ดิจิตอลยังไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับสาขาปกติ และการก้าวสู่สังคมไร้เงินสดไม่ได้เกิดในทันที ดังนั้นการมี Banking Agent จะช่วยธนาคารที่มีสาขาน้อย หลักเกณฑ์ของธปท.ที่ออกมา ก็เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ ส่วนการตัดสินใจก็ขึ้นกับแต่ละธนาคาร เช่น พื้นที่ห่างไกลมีสาขา แต่ปริมาณธุรกรรมน้อย หรืออาจจะให้ Banking Agent ทำแทนเพื่อลดต้นทุน ซึ่งก็ต้องมีการลงทุนทั้งระบบ และความปลอดภัยและการป้องกันการทุจริตด้วย ซึ่งธนาคารรวมทั้งไทยพาณิชย์เองอยู่ระหว่างศึกษาและกำลังตัดสินใจกันอยู่

MP24-3347-2A ++CIMBTพร้อมขยายธุรกรรม
“กิตติพันธ์ อนุตรโสตถิ” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า กำลังพูดคุยกับพันธมิตรแบงกิ้งเอเยนต์เพิ่ม เพื่อประโยชน์ของธนาคารและลูกค้าที่จะเลือกใช้บริการ สิ่งที่ต้องมีคือ กระบวนการต้องรัดกุม ถ้ามีระบบ Digital ID จะเอื้อให้ตัวแทนและนันแบงก์ช่วยเปิดบัญชีได้ ยกเว้นการแนะนำผลิตภัณฑ์การลงทุน ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีพันธมิตร 2 รายคือ เอไอเอสกับสปาร์ ตั้งสาขาในศูนย์บริการพันธมิตร AIS กว่า 60 แห่ง ให้บริการฝาก ถอน จ่ายเงิน และจะขยายขอบเขตและจำนวนธุรกรรมเพิ่มขึ้นในปีนี้ รวมถึงเปิดสาขาในปั๊มนํ้ามันบางจากด้วย

++ร้านค้ามีโอกาสเพิ่มธุรกิจ
“ปรีดี ดาวฉาย” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทยให้ความเห็นว่าความแตกต่างในแต่ละพื้นที่และสังคมไร้เงินสดเอื้อให้แบงกิ้งเอเยนต์เป็นทางเลือกของลูกค้าขณะที่ร้านค้าตัวแทนมีโอกาสเพิ่มธุรกิจและรายได้ด้วยเมื่อเทียบธุรกิจเดิม ที่สำคัญคือการบริหารความเสี่ยง จึงเป็นเรื่องที่ต้องประเมิน เพราะธนาคารต้องรับผิดชอบต่อการทำธุรกรรมของแบงกิ้งเอเยนต์ หากต้องบริหารความเสี่ยงมากจะเป็นต้นทุนเช่นกัน ส่วนปัจจุบันไปรษณีย์ไทยเป็นแบงกิ้งเอเยนต์ กสิกรไทย

บาร์ไลน์ฐาน ++ลุ้นดิจิตอลไอดีหนุน“ถอนเงิน”
ขณะที่“ปิติ ตัณฑเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทยระบุว่า4-5 ปีก่อน ธนาคารว่าจ้าง ธนาคารออมสินและไปรษณีย์ไทยป็นตัวแทน ซึ่งตอนนั้นซัพพลายเชนของปตท. ซึ่งให้บริการปั๊มนํ้ามันจะมีเงินสดรับทุกวัน จึงให้นำเงินเข้าไปรษณีย์ รวมถึงการชำระเงินสินเชื่อ ซึ่งตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่รับเงินสด แต่ช่วงนี้การผลักดันธุรกรรมผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ต้องค่อยๆ ปรับพฤติกรรมเพราะไทยยังเป็นสังคมใช้เงินสด

“พงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจลูกค้ารายย่อยและเครือข่ายการขาย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงนโยบายแบงกิ้งเอเยนต์ว่า ปัจจุบันมีปณท เป็นแบงกิ้งเอเยนต์ในการจ่ายเงินแทนธนาคารอยู่แล้ว และเตรียมจะเซ็นสัญญากับอีกรายภายในเดือนมีนาคม ส่วนนโยบายใหม่ของธปท.ขอรอดูรายละเอียดจากเกณฑ์ใหม่โดยยอมรับว่ามีความสนใจในหลายธุรกิจเพื่อต่อยอด เช่น ร้านค้าสะดวกซื้อ ปั๊มนํ้ามัน ร้านค้าที่มีเครือข่าย หรือร้านค้าจากผู้ผลิตโดยตรง (Outlet)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,347 วันที่ 11 - 14 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว