กำลังซื้อทรุดหนักสุดรอบ 10 ปี ผู้บริโภครายได้คงที่หนี้สูง-อาหาร-เครื่องดื่มติดลบ2.4%

15 มี.ค. 2561 | 05:03 น.
ตลาดคอนซูเมอร์ปี 61 แนวโน้มติดลบต่อเนื่องถึง 1% หลังผู้บริโภครายได้คงที่ แต่หนี้ยังสูง ปีที่ผ่านมาตลาดตกตํ่าสูงสุดรอบ 10 ปี เหลือมูลค่ากว่า 4.42 แสนล้าน กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มโดนหนักสุดติดลบ 2.4% เหตุคนตัดรายจ่ายได้ง่ายและเลือกกินของถูกแทน กันตาร์ แนะออกสินค้านวัตกรรมกระตุ้นยอดขาย

ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบทำให้สินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Products) หรือ FMCG (Fast Moving Consumer Goods) ตกตํ่ามาโดยตลอด ล่าสุด บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์)ฯ ผู้ดำเนินธุรกิจด้านการวิจัยพฤติกรรมของผู้บริโภคเชิงลึก ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ได้ออกมาเปิดเผยถึงการเติบโตของกลุ่มสินค้าดังกล่าว ในปี 2560 ที่ลดตํ่าลงมากที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยอัตราการเติบโตที่ติดลบ 0.4% มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 4.42แสนล้านบาท

ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออัตราการเติบโตของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค คือ ภาวะเศรษฐกิจและความระมัดระวังในการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภคทั้งประเทศ ขณะที่รายได้ของผู้บริโภคโดยส่วนใหญ่ไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น ตามภาวะเงินเฟ้อหรือค่าครองชีพที่สูงขึ้น สวนทางกับหนี้ครัวเรือนของภาคประชาชนที่มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

[caption id="attachment_267354" align="aligncenter" width="443"] อิษณาติ วุฒิธนากุล อิษณาติ วุฒิธนากุล[/caption]

นายอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการด้านพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผยถึงผลการศึกษาชุด “สรุปภาพรวมตลาด FMCG ในปี 2560และแนวโน้มปี 2561-2562 พร้อปัจจัยที่กระทบต่อการเติบโตและการปรับกลยุทธ์” พบว่าภาพรวมของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้ลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 ที่มีอัตราการเติบโต 2.6% ปี 2558 มีอัตราการเติบโต 2.2% ปี 2559 มีอัตราการเติบโต 1.7% และในปี 2560 ติดลบ 0.4% ดังกล่าว นับว่าเป็นอัตราตํ่าสุดนับตั้งแต่ที่ได้เกิดวิกฤติด้านการเงินในปี 2550 เป็นต้นมา จากการประเมินก่อนหน้าว่าหากสถานการณ์เลวร้าย สินค้าคอนซูเมอร์จะติดลบเพียง 0.1% เท่านั้น

โดยสินค้ากลุ่มคอนซูเมอร์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ที่ติดลบในอัตรา 2.4% ซึ่งเป็นเพราะผู้บริโภคเลือกลดการใช้จ่ายในสินค้ากลุ่มดังกล่าวเป็น กลุ่มแรกๆ และเลือกบริโภคสินค้าที่มีราคาถูกลงแทน ขณะที่สินค้ากลุ่มของใช้ในครัวเรือน (Home Care) มีอัตราการเติบโต 4.1% และกลุ่มสินค้าส่วนบุคคล มีอัตราการเติบโต 2.6%

MP34-3347-1A จากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อในรอบปีที่ผ่านมายังไม่ฟื้นตัวดีขึ้น ยังส่งผลกระทบให้พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย คือ 1.ผู้บริโภคลด จำนวนครั้งในการออกไปซื้อสินค้า แม้ว่าผู้ประกอบการผู้ค้าปลีกจะออกแคมเปญโปรโมชันจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นความถี่ในการซื้อสินค้าให้เพิ่มมากขึ้นได้ และผู้บริโภคยังมีพฤติกรรมชอบเปลี่ยนแหล่งช็อปปิ้งไปเรื่อยๆ เพื่อแสวงหาสินค้าและโปรโมชันที่มีความคุ้มค่าและประหยัดเงินมากที่สุด

ประการที่ 2 ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นในการซื้อสินค้า จากการขยายสาขาของผู้ประกอบการค้าปลีกส่งผลให้เกิดการแข่งขันอย่างหนักในการนำเสนอโปรโมชัน เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า และ 3. ผู้บริโภคเลือกตัดกลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็นออก และมีการวางแผนการซื้อสินค้ามากยิ่งขึ้น

“กลุ่มสินค้าที่ได้รับผล กระทบมากที่สุด คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เพราะเป็นสิ่งที่ลดค่าใช้จ่ายได้ง่ายและตัดสินใจได้ทันที จึงเห็นหลายแบรนด์ขายสินค้าได้ไม่ดีนัก ขณะที่กลุ่มโฮมแคร์ยังขยายตัวได้ดี เป็นเพราะการมีนวัตกรรมออกมากระตุ้นตลาด แต่หากพิจารณาตลาดระหว่างในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด จะพบว่าในต่างจังหวัดตลาดลดลงมากกว่าส่งผลให้ผู้ประกอบการพยายามปรับกลยุทธ์ ด้วยการออกสินค้าที่มีแพ็กไซซ์เล็กลงเพื่อให้ง่ายต่อการตัดสินใจซื้อ”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ ส่วนแนวโน้มของตลาดคอนซูเมอร์ในปีนี้ ประเมินว่ายังคงเป็นปีที่ยากลำบากในการทำตลาด ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ภาพรวมตลาดจะเติบโตติดลบได้ถึง 1%เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่มีรายได้เพิ่มขึ้นแต่หากสถานการณ์ดีขึ้นอาจจะมีอัตราการเติบโตเป็นบวกได้ถึง 2% ซึ่งแนวทางที่ผู้ประกอบการต่างๆ จะนำมาใช้เป็นกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตได้นั้น จะต้องหานวัตกรรมสินค้าที่มีความแปลกใหม่ไม่ใช่แค่การออกรสชาติใหม่เท่านั้น การจัดทำบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับตลาดและผู้บริโภคการจัดโปรโมชันอย่างต่อเนื่อง และการขยายช่องทางออนไลน์เพื่อเพิ่มยอดขายให้มากขึ้นด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,347 วันที่ 11 - 14 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว