ซูโจว เมืองต้นธารเส้นทางสายไหมทางทะเล โอกาสของผู้ส่งออก/นักลงทุนไทย

19 ม.ค. 2559 | 23:30 น.
ซูโจว เมืองต้นธารของเส้นทางสายไหมทั้งทางทะเลและทางรถไฟกำลังเชื่อมโยงเป็นไหมเส้นยาวที่สอดร้อยประเทศน้อยใหญ่เข้าไว้ด้วยกัน โครงการ "One Belt One Road" นี้ สามารถเป็นเส้นทางการค้าขายชั้นเยี่ยม และเส้นทางลำเลียงวัตถุดิบชั้นเลิศสำหรับผู้ผลิตที่กำลังหาแหล่งวัตถุดิบจากทั่วโลก

ศักยภาพของเส้นทางสายไหมทางทะเล

แต่เดิมเส้นทางสายไหมทางทะเลนั้น ได้อิทธิพลมาจากนายพลนักเดินเรือทะเลผู้กล้าหาญของจีนที่มีชื่อว่า "เจิ้งเหอ" ซึ่งปรากฏหลักฐานจารึกในจีนว่า เขาเคยติดต่อกับ "สยาม" ในสมัยอยุธยาอีกด้วย ปัจจุบันเส้นทางสายไหมทางทะเล เป็นเส้นทางที่จะผนึกประสานความร่วมมือระดับภูมิภาคระหว่างประเทศต่างๆ บนเส้นทาง เพราะเส้นทางดังกล่าวเชื่อมผ่าน อาเซียน 10 ประเทศ เอเชียใต้ 6 ประเทศ เอเชียตะวันตก 8 ประเทศ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา 7 ประเทศ อีกทั้งยังสามารถเชื่อมต่อไปยัง 53 ประเทศและอีก 94 เมืองสำคัญ นอกจากการเดินทางคมนาคมขนส่งทางทะเลแล้ว ยังมีเส้นทางขนส่งทางบกโดยผ่านรถไฟเป็นสำคัญอีกด้วย ทำให้การขนส่งเชื่อมโลกนั้นเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพราะเป็นเส้นทางที่ถูกจัดวางไว้เพื่อข้ามทวีปนั่นเอง หากดูจากแผนที่ของเส้นทางสายไหมทางทะเลแล้ว จะเห็นได้ว่าจีนได้วางแผนตัวเองให้เป็นต้นทางของเส้นทางสายไหมทั้งทางทะเลและทางบก โดยจีนได้พัฒนาท่าเรือของเมืองซูโจว ในมณฑลเจียงซู เพื่อเพิ่มศักยภาพในการเป็นต้นทางการส่งออกและปลายทางการนำเข้าให้ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในอนาคต

 การพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต

เติ้ง เสี่ยว ผิง อดีตผู้นำจีน เคยกล่าวไว้ว่า "ถ้าอยากรวย ต้องสร้างถนนเสียก่อน" นายซือไถ่เฟิง รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมณฑลเจียงซู เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเมืองซูโจว จึงได้สะท้อนเสียงของท่านอดีตผู้นำจีนท่านนี้โดยเขาได้ให้ความเห็นว่า การที่ประเทศจีนทำการเชื่อมเส้นทางคมนาคมเส้นทางสายไหมนั้น "จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตเท่าเทียมกัน ขณะที่การส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานของจีนให้มีศักยภาพ จะช่วยทำให้ทวีปเอเชียและทวีปอื่นๆ เป็นเสมือนทวีปหนึ่งเดียวกัน อีกทั้งยังทำให้การค้า การลงทุนเติบโตอย่างก้าวกระโดด รวมทั้งวัฒนธรรมจะไร้พรมแดน เพราะมีการเชื่อมโยงซึ่งกันและกันมากขึ้นไปอีก" ดังนั้นเป็นที่ชัดเจนแล้วว่านโยบายที่ถ่ายทอดมาชั่วรุ่นได้ก่อตัวขึ้นมา มองเห็นเป็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในปัจจุบัน เมื่อเส้นทางการเดินทางลัดตัดตรงถึงกันมากขึ้น จะทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นและเติบโตอย่างยั่งยืน

 ปัจจัยหลักในการพัฒนาเมืองต้นทาง

ซูโจวเป็นเมืองที่มีศักยภาพและเติบโตเร็วที่สุดในจีน โดยมีแรงผลักดันจากฐานอุตสาหกรรม แรงงาน และนโยบายของรัฐบาลท้องถิ่น ที่มีการสนับสนุนอย่างจริงจัง ให้มีทั้งการลงทุน การผลิตในเชิงอุตสาหกรรม ธุรกิจการเงิน และเพิ่มขีดความสามารถทางโลจิสติกส์ แนวทางการพัฒนาของเมืองซูโจวสรุปได้ดังนี้

1) เพิ่มศักยภาพรองรับการส่งออกให้มากขึ้น โดยยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของท่าเรือของซูโจว การเป็นต้นธารเส้นทางไหมทางทะเล ปัจจุบันท่าเรือที่มีศักยภาพสูง 3 แห่งคือ ท่าเรือฉางซู จางเจียกั่ง ไท่ฉาง(ท่าเรือที่นายพลเจิ้งเหอออกเดินทาง) ได้ควบรวมเป็นท่าเรือเดียว เรียกว่า "ท่าเรือซินซิง" ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางสายไหมทางทะเล โดยจะเชื่อมประเทศอาเซียนทั้งหมด ออกสู่ศรีลังกา บังกลาเทศ ตัดข้ามมหาสมุทรอินเดีย ขึ้นเหนือเข้าทะเลแดง ลัดเลาะเข้าสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ออกสู่กรีซ อิตาลี ผ่านช่องแคบยิบรอลตาร์ (เส้นทางผ่านระหว่างประเทศสเปนและโมร็อกโก) ผ่านอังกฤษ สิ้นสุดที่เนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทาง

2) เชื่อมต่อเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเลโดยผ่านเส้นทางรถไฟความเร็วสูง พาดผ่านเมืองของจีน เช่น ซูโจว หนานจิง เจิ้งโจว หลานโจว อูหลู่มู่ฉี ออกคาซัคสถาน เติร์กเมนิสถาน อัฟกานิสถาน อิหร่าน ตุรกี บัลกาเรีย ยูเครน รัสเซีย เบลารุส เยอรมนี สิ้นสุดที่เนเธอร์แลนด์ ท้ายสุดเชื่อมต่อเส้นทางสายไหมทางทะเลอีกครั้ง และลัดเลาะมาบรรจบที่ซูโจวในที่สุด

3) นิคมอุตสาหกรรมซูโจว (Suzhou Industrial Park) มีพื้นที่กว่า 80 ตารางกิโลเมตร เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีน-สิงคโปร์ โดยมีเงินลงทุนระหว่างจีนและสิงคโปร์ ในสัดส่วน 67 ต่อ 33% ตามลำดับ ในปัจจุบันซึ่งพัฒนาให้มีศักยภาพ 9 อย่างด้วยกัน อาทิ

3.1 โครงสร้างของนิคมอุตสาหกรรมที่วางรากฐานเอาไว้

(1) Modernized platform for innovation สร้างแหล่งค้นคว้าวิจัยและศูนย์นวัตกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมแนวใหม่ อาทิ Suzhou International Science Park, Innovation Industry Park, Bibo-Bay, Ecological Science Hub, Nano-Tech, Industrial Park รวมทั้งเขตการค้าเสรีและรีสอร์ตเพื่อการท่องเที่ยว

(2) Integrated development between central area and outskirt districts บูรณาการพื้นที่กลางเมืองและนอกเมืองให้พัฒนาไปด้วยกัน รวมทั้ง มีแหล่งที่อยู่อาศัยทันสมัยภายในตัวนิคมอุตสาหกรรม

(3) Venturing-out Strategy ยุทธศาสตร์ดึงดูดแรงงานเพื่อให้เข้าถึงแหล่งแรงงานได้อย่างเสรี โดยมีนิคม Suzhou Suqian Industrial Park (SSIP) เป็นนิคมอุตสาหกรรมขับเคลื่อนหลัก และมีนิคม Suzhou-Nantong Sci-Tech Park เป็นนิคมความร่วมมือระหว่างสิงคโปร์และเจียงซู เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากสิงคโปร์ในการก่อสร้างโครงการเทคโนโลยีชั้นสูง

3.2 นโยบายทางบุคลากร

(1) ส่งเสริมการเรียนรู้ บุคลากรกว่าสองแสนรายได้เรียนรู้ ฝึกอบรม และรับประกาศนียบัตรวิชาชีพแล้ว

(2) Dushu Lake Sci-Edu Innovation Park บูรณาการ 18 สถาบันการศึกษาทั้งในท้องถิ่นและต่างประเทศ เพื่อให้ความรู้กับประชากรในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีปัจจุบันมีนักศึกษาทั้งหมด 66,800 คน และมีศูนย์วิจัย (R&D) กว่า 144 แห่ง

(3) โครงการสรรหาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญระดับโลกใน 15 โปรแกรมและ 64 โครงการเพื่อเลือกเพื่อเป็นบุคลากรพัฒนานวัตกรรมระดับชาติ

3.3 แนวทางการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

(1) Leading Industries (IT and machinery manufacturing) เน้นการพัฒนาทางไอทีและเครื่องจักรกลเป็นหลัก เพื่อก้าวเข้าสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

(2) Modern service industry ยกระดับพัฒนาการภาคบริการสมัยใหม่ โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับด้าน การเงิน การธนาคาร ที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ แหล่งแรงงาน นวัตกรรมทางวัฒนธรรม การค้า โลจิสติกส์ การท่องเที่ยว การประชุม สัมมนา เป็นอันดับแรก

(3) Emerging industries รองรับอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเติบโตในอนาคต เช่นเทคโนโลยี นาโน พลังงานทดแทน ชีวเภสัช นวัตกรรมการสื่อสาร ซอฟต์แวร์ แอนิเมชัน เกม ตลอดจนการพัฒนาเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม

  บทส่งท้าย

ถ้าพูดถึงโอกาสของเหล่านักลงทุนและผู้ส่งออกไทย เขตนิคมอุตสาหกรรมซูโจวนี้เป็นมากกว่านิคมอุตสาหกรรมในความคิดแบบเดิมๆ กล่าวคือนักลงทุนที่จะมาลงทุนในเขตอุตสาหกรรมนี้ ต้องเป็นผู้ผลิตเกี่ยวกับนวัตกรรมและเครื่องจักรกลเท่านั้น และสมควรที่อุตสาหกรรมดังกล่าวจะมาลงทุนที่นี่เป็นอย่างยิ่งเพราะนอกจากจะมีแรงงานที่มีศักยภาพแล้ว ยังมีแรงงานระดับฝีมือชั้นยอด คอยพัฒนาต่อยอดให้กับผลิตภัณฑ์ของคุณให้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดอีกด้วย แต่ก็เป็นดาบสองคมในการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพราะจีนอาจจะเอานวัตกรรมนั้นไปต่อยอดผลิตเป็นของตัวเองเป็นไปได้

แต่หากมองอีกแง่ หากไทยจะเอานวัตกรรมที่ถูกวิจัยขึ้นในเขตอุตสาหกรรมนี้มาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะตอนนี้ประเทศไทยยังต้องการสินค้าที่เป็นนวัตกรรมเป็นอย่างยิ่ง การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมนี้น่าสนใจไม่น้อย ส่วนผู้ส่งออกไทยก็สามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเลจากจีนเพื่อส่งสินค้าและนำเข้าสินค้าจากตะวันออกกลาง ประเทศยุโรป ซึ่งการใช้เส้นทางนี้น่าจะช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการขนส่งในอนาคต ต้องคอยติดตามกันว่าเส้นทางสายไหมนี้จะกลายเป็นจริงเป็นจังเมื่อไร!

ผู้สนใจติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจและลู่ทางการค้า-การลงทุนในตลาดจีน สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ http://www.thaibizchina.com

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,123 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2559