เทรนด์ 'หุ่นยนต์บริการ' มาแรง! 'โรงพยาบาล-ห้าง-ร้านอาหาร-สนามบิน' แห่ใช้แทนคน

13 มี.ค. 2561 | 12:25 น.
1906

‘ซีที เอเซีย โรโบติกส์’ ชี้เทรนด์ ‘หุ่นยนต์บริการ’ แซงหน้าหุ่นยนต์ผลิต ‘โรงพยาบาล-ห้าง-ร้านอาหาร-สนามบิน’ นำร่องแห่ใช้งานบริการ อัดรัฐหนุนไม่สุดดึงผู้ประกอบการการขึ้นทะเบียนนวัตกรรม แต่ไร้แผนช่วยส่งเสริมตลาด

นายเฉลิมพล ปุณโณทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีที เอเซีย โรโบติกส์ จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”
ว่า แนวโน้มการใช้งาน ‘หุ่นยนต์’ ในไทยปีนี้นั้น หุ่นยนต์ใช้งานในภาคบริการจะแซงหน้าหุ่นยนต์ภาคการผลิต ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกับที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยจะเห็นองค์กรหลากหลายมีการนำหุ่นยนต์ไปใช้ในการให้บริการ อาทิ กลุ่มโรงพยาบาล ที่มีการนำหุ่นยนต์ไปใช้ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ, ห้างสรรพสินค้า ที่นำหุ่นยนต์ไปใช้แนะนำสินค้า, ร้านอาหาร ที่ใช้หุ่นยนต์เสิร์ฟอาหาร และสนามบิน ที่นำหุ่นยนต์มาใช้ในการให้ข้อมูลผู้โดยสาร


TP05-3347-1A

ซึ่งทิศทางการทำตลาดของบริษัทจะพยายามสร้างตลาดในไทยให้สอดคล้องไปกับตลาดทั่วโลก โดยล่าสุด โรงพยาบาลจุฬาฯ เริ่มโครงการนำร่องเอาหุ่นยนต์ดินสอเข้าไปดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ จากเดิมก่อนหน้านี้ มีโรงพยาบาลสมิติเวช, โรงพยาบาลเพชรรัตน์ และโรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก มีการนำหุ่นยนต์ดินสอไปใช้แล้ว รวม 100 ตัว นอกจากนี้ ยังมีโครงการนำร่องนำหุ่นยนต์ไปใช้บริการนักท่องเที่ยวสนามบินในต่างจังหวัด

อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักของบริษัทยังคงอยู่ที่ตลาดต่างประเทศ โดยประเทศหลักที่มีการส่งออกหุ่นยนต์ดินสอ คือ ญี่ปุ่น ที่คาดว่า ปีนี้น่าจะมีตัวเลขการส่งออกประมาณ 500 ตัว จากเดิม 100-200 ตัว


P1-3227-a

นายเฉลิมพล กล่าวต่อไปอีกว่า สำหรับตลาดในประเทศนั้น รัฐบาลมี ‘นโยบายไทยแลนด์ 4.0’ ควรส่งเสริมผู้ประกอบการไทยที่มีการพัฒนานวัตกรรมของตัวเองขึ้น แต่ที่ผ่านมา มีการเชิญชวนให้ผู้ประกอบการมีการขึ้นบัญชีนวัตกรรม แต่ไม่มีการส่งเสริมการตลาด ท้ายสุด บัญชีนวัตกรรมก็อยู่บนหิ้ง ผู้ประกอบการไทยไม่อยากพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่เป็นของคนไทยออกมา เพราะทำออกมาขายไม่ได้และก็จะหันไปนำเข้าสินค้ามาจำหน่ายแบบซื้อมาขายไป

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ รัฐบาลควรมีนโยบายให้หน่วยงานราชการจัดซื้อหุ่นยนต์แบบพิเศษไปใช้ในการให้บริการประชาชน หรือ ให้ข้อมูลข่าวสารภาครัฐ เพื่อเป็นตัวอย่างให้เอกชนได้เห็นประโยชน์ของการนำหุ่นยนต์ไปใช้งานด้านบริการ

“ที่ผ่านมานั้น ภาครัฐมีการจัดซื้อนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมาโดยผู้ประกอบการไทยต่ำมาก ต่างจากจีนที่ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนากับผู้ประกอบการในประเทศ และมีการจัดซื้อจากผู้ประกอบการในประเทศเพื่อสร้างให้เกิดดีมานด์ขึ้นมาเพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ และสร้างให้ผู้ประกอบการในประเทศมีความแข็งแกร่ง”

 

[caption id="attachment_268013" align="aligncenter" width="449"] PHOTO | โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์ PHOTO | โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 อินเตอร์[/caption]

เช่นเดียวกับ นโยบายผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านตะวันออก ที่ภาครัฐกำลังใช้พฤติกรรม ‘ไทยแลนด์ 3.0’ มาใช้ โดยมุ่งดึงต่างชาติเข้ามาลงทุน โดยไม่มีนโยบายสร้างผู้ประกอบการขึ้นมา สุดท้าย ประเทศได้รับประโยชน์จากการจ้างงานคนไทยเท่านั้น ไม่เกิดนวัตกรรมที่พัฒนาโดยคนไทย ที่เข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศ


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,347 วันที่ 11-14 มี.ค. 2561 หน้า 05
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เปิดมุมมองนักคิด...ประดิษฐ์หุ่นยนต์ Sophia
ปตท.สผ. จับมือมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดตัวหุ่นยนต์ทำความสะอาดชายหาดตัวแรกที่พัฒนาโดยคนไทย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว