เกษตรฯ ฟุ้ง! ไทยเกินดุลการค้ากว่า 2 แสนล้าน เผยปี 61 ยังสดใส

11 มี.ค. 2561 | 10:32 น.
เกษตรฯ ชี้สินค้าเกษตรไทยส่งออกอาเซียน ปี 2560 ได้เปรียบดุลการค้ากว่า 2 แสนล้านบาท คาดทิศทางปี 61 ยังสดใส เน้นรักษามาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นสิสู่ตลาดโลก

นายสรวิศ ธานีโต โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามข้อมูลการนำเข้า–ส่งออก สินค้าเกษตรระหว่างไทยกับอาเซียน ปี 2560 พบว่า การค้าสินค้าเกษตร (พิกัดศุลกากร 01–24 และยางพาราธรรมชาติ พิกัด 4001) ปี 2560 ไทยมีการค้าสินค้าเกษตรและยางพาราขั้นปฐมไปยังอาเซียน 9 ประเทศ คิดเป็นมูลค่าการค้ารวม 439,129 ล้านบาท โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังตลาดอาเซียนรวม 328,902 ล้านบาท ในขณะที่นำเข้าสินค้าเกษตรจากอาเซียน 110,227 ล้านบาท ดังนั้น ภาพรวมไทยยังคงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าอาเซียน 218,675 ล้านบาท

ด้าน นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มสินค้าเกษตรไทยส่งออกไปตลาดอาเซียนในปี 2560 ที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) กลุ่มน้ำตาลและผลิตภัณฑ์จากน้ำตาล มีมูลค่าส่งออก 60,350 ล้านบาท (2) กลุ่มเครื่องดื่ม มีมูลค่าส่งออก 46,900 ล้านบาท (3) กลุ่มผลไม้ (ลำไย ทุเรียน และมังคุด) มีมูลค่าส่งออก 40,948 ล้านบาท (4) กลุ่มยางพาราธรรมชาติ มีมูลค่าส่งออก 32,398 ล้านบาท และ (5) กลุ่มข้าวและธัญพืช มีมูลค่าส่งออก 20,128 ล้านบาท

ในขณะที่กลุ่มสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่ไทยนำเข้าจากอาเซียนในปี 2560 ที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มปลาและสัตว์น้ำ เช่น ปลาทูน่า เนื้อปลาซูริมิ ปลาทะเลต่าง ๆ ปลาหมึกกล้วยแห้งหรือดองเกลือ และปลาในวงศ์แคทฟิชมีมูลค่านำเข้า 19,614 ล้านบาท กลุ่มพืชผักที่บริโภคได้ เช่น มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ กะหล่ำปลี ถั่วเขียวผิวดำ มันเทศ และหอมหัวเล็ก มูลค่า 14,656 ล้านบาท. กลุ่มของปรุงแต่งเบ็ดเตล็ดที่บริโภคได้ เช่น ของผสมที่มีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับกระบวนการผลิตอาหาร กาแฟผง กะทิสำเร็จรูป อาหารปรุงแต่งต่าง ๆ และอาหารเสริมต่าง ๆ มูลค่า 12,314 ล้านบาท

สำหรับกลุ่มของปรุงแต่งจากธัญพืช แป้ง สตาร์ช หรือ นม เช่น อาหารปรุงแต่งที่ทำจากผลิตภัณฑ์นมสำหรับใช้เลี้ยงทารก แวฟเฟิลและเวเฟอร์ อาหารปรุงแต่งสำหรับใช้เลี้ยงทารก และผลิตภัณฑ์ขนมต่าง ๆ มูลค่า 11,909 ล้านบาท และ กลุ่มผลไม้และลูกนัตที่บริโภคได้ เช่น มะพร้าว เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ แก้วมังกร เนื้อมะพร้าวแห้ง และมะขาม มูลค่า 9,694 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2553 หลังจากที่มีการเปิดตลาดการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area: AFTA) ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ที่อาเซียนได้รวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าสินค้าเกษตรอาเซียนมาอย่างต่อเนื่องโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ทิศทางการได้เปรียบดุลการค้า พบว่า มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากไทยมีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากอาเซียนเพิ่มมากขึ้นเพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นสินค้าเกษตรแปรรูป ในขณะที่สินค้าเกษตรส่งออกของไทย เช่น ผลไม้ ยางพารา และข้าว ที่ยังมีความผันผวนของตลาด และมีการแข่งขันด้านราคาจากอาเซียนด้วยกันเอง
ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำการผลิตให้ได้คุณภาพ ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างจุดแข็งและความเชื่อมั่นให้กับสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2560–2564) ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้า ซึ่งมีแผนงานสําคัญ

"ได้แก่ (1) พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร(GAP/GMP/Q) (2) บริหารจัดการสินค้าเกษตรตลอดโซอุปทาน (เช่น แผนข้าวครบวงจร) (3) สรงเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่(4) ส่งเสริม การใช้เครื่องจักรกลการเกษตร (5) สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร (6) ส่งเสริการทําเกษตรอินทรีย์และ (7) ธนาคารสินค้าเกษตร เป็นต้น "


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว