ยุทธศาสตร์ก.ล.ต.3 ปี พลิกโฉมตลาดทุน รื้อบทลงโทษผู้บริหารบริษัทจำกัด

20 ม.ค. 2559 | 12:00 น.
วันที่ 14 มกราคม 2559 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)จัดสัมมาแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2559-2561) เป็นแผนการดำเนินงานครอบคลุม 4 เรื่องหลัก ได้แก่ การระดมทุน ตลาดและตัวกลาง สินค้า/ตราสารทางการเงิน และการพัฒนาศักยภาพของก.ล.ต.

เลขาธิการก.ล.ต."รพี สุจริตกุล" กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว เป็นผลลัพธ์จากการวิเคราะห์และปรับโฟกัสลงไปที่ต้นเหตุของเรื่องและกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้สามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด โดยเชื่อมโยงผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละเรื่องเข้าด้วยกันเพื่อทำให้ระบบนิเวศตลาดทุนมีความสมดุล

ในด้านการระดมทุน จะมีงานสำคัญ อาทิ ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนสร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน โดยการออกแนวปฏิบัติให้บริษัทจดทะเบียนหลอมรวมการกำกับดูแลกิจการที่ดี และความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปในการประกอบธุรกิจ โดยสื่อสารกับคณะกรรมการ ผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนเพื่อให้เห็นประโยชน์และเกิดการปฏิบัติจริง รวมถึงการใช้กลไกด้านผู้ลงทุนสถาบันเป็นแรงผลักดันอีกทางหนึ่ง การยกระดับการกำกับดูแลที่ปรึกษาทางการเงินให้เทียบเท่าธุรกิจหลักทรัพย์ทั่วไป การเน้นบทบาทผู้บริหารที่รับผิดชอบทางด้านการเงิน/บัญชี นอกจากนี้จะพัฒนารูปแบบการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทให้น่าสนใจ กระชับ เข้าใจง่าย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ลงทุน ปรับปรุงกฎเกณฑ์การทำรายการที่สำคัญและรายการที่เกี่ยวโยงกันให้ทัดเทียมตลาดในภูมิภาค และสนับสนุนการใช้สิทธิของผู้ถือหุ้นและทำให้การเปิดเผยข้อมูลเข้าใจและเข้าถึงง่าย

สำหรับด้านตลาดและตัวกลาง ก.ล.ต. จะยกระดับกฎเกณฑ์การกำกับดูแลให้ได้มาตรฐานสากลและร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เสริมสร้างความสัมพันธ์ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งส่งเสริมตราสารประเภทที่เป็น win-win ทั้งตลาดทุนไทยและเพื่อนบ้าน อาทิ การออกกองทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดทุนของประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งจะปรับปรุงโครงสร้างใบอนุญาตและหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันที่สร้างสรรค์ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจตัวกลางดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่หลากหลาย รองรับผู้มีส่วนร่วมรายใหม่และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยตอบสนองความต้องการของผู้ลงทุนในวงกว้าง

นอกจากนี้ จะเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายโดยปรับปรุงระยะเวลาการจัดการเรื่องที่ต้องตรวจสอบดำเนินคดีและเรื่องร้องเรียนจากประชาชน (case management) และร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตลท. ให้เกิดการดำเนินการกับผู้กระทำผิดอย่างจริงจัง รวมทั้งผลักดันและดำเนินการให้มาตรการทางแพ่ง (civil sanction) เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการบังคับใช้กฎหมายในตลาดทุน

เรื่องการพัฒนาสินค้า/ตราสารทางการเงิน จะปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินและธุรกรรมใหม่ๆ ในตลาดทุน เพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลคุณภาพกระบวนการผลิต การเปิดเผยข้อมูล และการขายตราสารการลงทุนเพื่อไม่ให้เกิดการเอาเปรียบจากความไม่รู้ของผู้ลงทุน และส่งเสริมการเข้าถึงตลาดทุน ผ่านการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือขยายช่องทางเข้าถึงทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมทั้งธุรกิจเกิดใหม่ และการเข้าถึงการลงทุนของประชาชน รวมทั้งผลักดันให้เกิดการออมผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มุ่งเป้าหมายระยะยาวเพื่อรองรับวัยเกษียณ

เรื่องสุดท้ายที่นับเป็นอีกกลไกสำคัญหนึ่ง คือการพัฒนาศักยภาพของ ก.ล.ต. ทั้งการปรับรูปแบบกระบวนดำเนินงานในด้านต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พัฒนาความรู้และทักษะบุคลากรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และการยกระดับเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ที่เปิดใจ รู้จริง ร่วมมือ ซื่อตรง ให้ผู้มีส่วนร่วมในตลาดทุนรับรู้และสัมผัสได้ว่า ก.ล.ต. พร้อมเดินหน้าไปกับทุกภาคส่วนเพื่อช่วยกันขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้ให้บรรลุผลตามเป้าหมายได้

เลขาธิการก.ล.ต. กล่าวตอนหนึ่งในระหว่างชี้แจงถึงยุทธศาสตร์ 3 ปีว่า จะมีการพิจารณาถึงการยกระดับการกำกับดูแลที่ปรึกษาทางการเงินให้เทียบเท่าธุรกิจหลักทรัพย์ทั่วไป เนื่องจาก ก.ล.ต. เห็นว่า ธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อนำหุ้นบริษัทต่างๆ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงการรับประกันการจัดจำหน่าย หรือการเป็นตัวกลางในการช่วยระดมทุนในตลาดตราสารหนี้นั้น โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะเป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์

นอกจากนี้ก.ล.ต.เตรียมทบทวนบทลงโทษกรณีผู้บริหารจดทะเบียน (บจ.) มีการกระทำผิดให้เข้มข้นมากขึ้น หลังจากคณะกรรมการก.ล.ต.เห็นชอบให้มีการปรับปรุงบทลงโทษผู้บริหารบจ.ในกรณีที่ยินยอมถูกเปรียบเทียบปรับ จากปัจจุบันหากเป็นการกระทำผิดครั้งแรกนั้นผู้บริหารบจ.จะถูกเปรียบเทียบปรับ แต่จะไม่ถูกห้ามหรือถอดถอนจากการเป็นผู้บริหารในบจ.นั้นๆ

โดยการทบทวนบทลงโทษใหม่นี้อาจจะปรับปรุงให้มีลักษณะใกล้เคียงหรือเช่นเดียวกับบทลงโทษการกระทำผิดของผู้บริหารสถาบันการเงิน ที่หากผู้บริหารสถาบันการเงินยินยอมถูกเปรียบเทียบปรับ จะถูกถอดถอนจากการเป็นผู้บริหารสถาบันการเงิน ซึ่งบทลงโทษที่มีการทบทวนของผู้บริหารบจ.ใหม่นั้นก.ล.ต.คาดว่าสามารถมีผลบังคับใช้ได้ภายในปีนี้ ขณะที่เกณฑ์เดิมนั้นใช้มานานถึง 10 ปีแล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,123 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2559