สอบเลี่ยงภาษี! '5 บิ๊ก' ค้า 'ไอซีโอ'

11 มี.ค. 2561 | 11:29 น.
1822

ปปง. ร่อนหนังสือถึงกรมสรรพากร ตรวจสอบภาษีบริษัทซื้อขายเงินดิจิตอลในไทย 4-5 ราย หลังพบเงินหมุนเวียนในระบบกว่า 2-3 พันล้านบาท

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ส่งหนังสือมายังกรมสรรพากรให้ตรวจสอบบริษัทโปรวายเดอร์ฯ ที่ประกอบกิจการซื้อ-ขาย ‘บิตคอยน์’ หรือ เงินดิจิตอล ในประเทศไทย 5 ราย มีการเสียภาษีเงินได้หรือไม่ หลัง ปปง. ตรวจสอบการไหลเวียนในบัญชีผ่านบริษัทโปรวายเดอร์ฯ ที่ให้บริการซื้อ-ขายบิตคอยน์กว่า 2-3 พันล้านบาท ซึ่งทางกรมสรรพากรกำลังพิจารณาว่า จะจัดเก็บภาษีกับบริษัทโปรวายเดอร์ฯ และลูกค้าอย่างไร

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

เบื้องต้น กรมสรรพากรมีความเห็นว่า เงินดิจิตอลเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง ไม่ใช่สกุลเงินที่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย จึงต้องจัดเก็บภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย 15% และภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% แต่การซื้อ-ขายเงินดิจิตอลยังไม่มีระบบให้ตรวจสอบได้ว่า ราคาทุนและกำไรในการซื้อ-ขายเป็นอย่างไร ทำให้ยากต่อการประเมินภาษี จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะกำหนดให้เงินดิจิตอลมีระบบการซื้อ-ขายให้ชัดเจน เพื่อง่ายต่อการตรวจสอบ” แหล่งข่าวกล่าว

 

[caption id="attachment_267099" align="aligncenter" width="451"] พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา[/caption]

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวตอนหนึ่งในรายการศาสตร์พระราชา เมื่อวันศุกร์ที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมา ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ประเด็นการระดมทุนด้วยเงินดิจิตอล หรือ ICO ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย ขอให้ผู้ที่สนใจจะไปลงทุนต้องระมัดระวังให้มาก ต้องศึกษาให้ดีถึงความเสี่ยงที่ตามมาด้วย เพราะรัฐบาลกำลังดำเนินการในด้านกฎหมาย เพื่อที่จะสามารถกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจด้านนี้ให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่เป็นช่องว่างในการก่ออาชญากรรมและการทุจริตต่าง ๆ

“ผมขอให้ติดตามในเรื่องนี้ให้ชัดเจนก่อน อย่าเพิ่งผลีผลาม เห็นแก่ประโยชน์ที่จะได้รับ โดยยังไม่ได้ศึกษาให้ดี เรายังไม่มีกฎหมายออกมากำกับดูแลอย่างชัดเจน เพราะกำลังทำอยู่นะครับ ผมก็ไม่อยากให้เกิดความเสียหายตั้งแต่บัดนี้กับนักลงทุนและประชาชน ไม่อยากให้เป็นหนี้เป็นสิน หรือต้องสูญเสียทรัพย์สินไป โดยไม่ได้ไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนนะครับ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว


บาร์ไลน์ฐาน

ขณะที่ ความคืบหน้าในการออกพระราชกำหนดเพื่อกำกับดูแลมาตรการกำกับดูแลการระดมทุนด้วยการเสนอขายเหรียญ ICO : Initial Coin Offering หรือ เงินดิจิตอล เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ปปง. ประชุมเพื่อหามาตรการในการควบคุมเงินสกุลดิจิตอล


P01-3347-9a

นายวิษณุ ยืนยัน รัฐบาลจะต้องควบคุมเงินดิจิตอลอย่างเร่งด่วน เพราะไม่เช่นนั้นจะเกิดอันตราย นำไปสู่การฟอกเงิน อาชญากรรมข้ามชาติ จึงต้องออกกฎหมายมาควบคุมตั้งแต่ต้นทาง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการยกร่างกฎหมาย

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า จากการประชุมร่วม 4 หน่วยงาน กระทรวงการคลัง ธปท. สำนักงานและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อหาข้อสรุปแนวทางควบคุมคริปโตเคอร์เรนซีและการระดมทุนด้วยเงินดิจิตอล หรือ ICO เพื่อเตรียมออกหลักเกณฑ์ใหม่ในการดูแล เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ที่ผ่านมา เห็นว่า มีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า คริปโตเคอร์เรนซีคืออะไร และมีหลักเกณฑ์การดูแลร่วมกันและแต่ละส่วนอย่างไร ซึ่งนายสมคิดสั่งการให้เสร็จภายใน 1 เดือน


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

ผู้ว่า ธปท. ยอมรับว่า การทำธุรกรรมเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซีปัจจุบันมีมากขึ้น แต่ไม่ถึงกับมีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน เพราะการทำธุรกรรมดังกล่าวยังอยู่ในวงจำกัดเป็นรายบุคคล ดังนั้น ทุกหน่วยงานจึงจำเป็นจะต้องใช้กฎหมายที่ตัวเองมีอยู่ควบคุมดูแลการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซีให้เหมาะสม โดยยืนยันว่า คริปโตเคอร์เรนซีเป็นสินทรัพย์ประเภทหนึ่ง ไม่ใช่เงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

“กฎหมายกลางที่จะออกมาควบคุมคริปโตเคอร์เรนซี จะต้องคุ้มครองผู้ลงทุนไม่ให้ถูกแฮกข้อมูล ดูแลกระบวนการซื้อ-ขายเพื่อป้องกันการปั่นราคา ไม่ให้ใช้เป็นช่องทางการฟอกเงิน และไม่ให้ใช้เป็นช่องทางหลีกเลี่ยงภาษี และกำกับดูแลเพื่อไม่ให้มีการลงทุนลักษณะแชร์ลูกโซ่” นายวิรไท กล่าว


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,347 วันที่ 11-14 มี.ค. 2561 หน้า 01-02

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว