เปิด 2 ขุมทอง 'สายสีน้ำตาล'!! ปลุกที่ 300 ไร่ 'เจ้าสัวเจริญ'

11 มี.ค. 2561 | 13:11 น.
2002

‘รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล’ บูมเชิงพาณิชย์-ตึกสูง ที่ดิน ‘เจ้าสัวเจริญ’ 300 ไร่ ... เกษตรฯ-นวมินทร์รับอานิสงส์เต็ม แถมอยู่เขตผังเมืองสีแดงผุดโปรเจ็กต์ยักษ์ได้ ... เอกชน-นักวิเคราะห์อสังหาฯ ประเมิน 2 จุดตัด มีศักยภาพสูงสุด คือ ลำสาลี-บางกะปิ และแยก ม.เกษตรฯ

คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก หรือ คจร. เห็นชอบให้ดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี ระยะทาง 22.1 กิโลเมตร เป็นสายที่ 11 บรรจุไว้ในแผนแม่บทการขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือ M-Map 1 ส่งผลให้เกิดการพลิกหน้าดินทำเลทองใหม่ตลอดแนว เอื้อต่อการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะแปลงที่ดินผืนใหญ่ที่ได้อานิสงส์มากที่สุด คือ ที่ดินของ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี ค่ายไทยเบฟฯ บริเวณถนนประเสริฐมนูกิจ




โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลอยู่ระหว่างศึกษา คาดจะเสร็จในอีก 3 เดือน หรือเดือน มิ.ย. นี้ ซึ่งรถไฟฟ้าเส้นนี้มีศักยภาพสูง เชื่อมรถไฟฟ้าด้วยกันมากถึง 7 สาย 5 จุดตัด นอกจากรองรับปริมาณจราจรที่แออัดในหลายจุดแล้ว ยังช่วยเพิ่มมูลค่าที่ดินให้เอกชนได้มาก ขณะที่ บางแปลงต้องยอมรับว่า จะถูกเวนคืน อย่างไรก็ดี ทำเลบริเวณที่เจริญที่สุดจะเป็นรัศมีรอบสถานี ซึ่งมีประมาณ 18 สถานี

 

[caption id="attachment_262374" align="aligncenter" width="503"] วสันต์ คงจันทร์ วสันต์ คงจันทร์[/caption]

นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนส์ จำกัด บริษัทประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ สะท้อนว่า สายสีน้ำตาลมีศักยภาพสูงกว่าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี เนื่องจากผ่านแหล่งงานและอยู่ในทำเลกรุงเทพฯ ชั้นกลาง โดยจุดตัดหรือสถานีร่วมที่มีศักยภาพมากที่สุด 2 จุด คือ บริเวณแยกมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งตัดกับรถไฟฟ้าสีเขียวเข้ม ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ถนนพหลโยธิน และจุดตัดลำสาลี-บางกะปิ ตัดกับสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง และสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี เนื่องจากเป็นชุมชนใหญ่ และผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครปัจจุบันเอื้อประโยชน์ให้พัฒนาตึกสูง


TP15-3347-5

ส่วนบริเวณอื่น ผังเมืองยังกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเหลือง หรือที่ดินประเภทอยู่อาศัยหนาแน่นน้อย พัฒนาได้เฉพาะแนวราบ อาคารขนาดไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร ตลอดแนวถนนเกษตรฯ-นวมินทร์ ยกเว้น แปลงที่ดินของ นายเจริญ สิริวัฒนภักดี บริเวณแยกลาดปลาเค้า เนื้อที่ 300 ไร่ ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครกำหนดเป็นพื้นที่สีแดง หรือ พาณิชยกรรม สามารถพัฒนาศูนย์การค้า โรงแรม ที่อยู่อาศัย รูปแบบมิกซ์ยูสได้ หากยิ่งมีรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลผ่าน ยิ่งเพิ่มศักยภาพให้กับที่ดินแปลงดังกล่าว อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ที่ดินของเจ้าสัวเจริญได้ตอกเสาเข็มไว้เตรียมสร้างศูนย์การแสดงสินค้า โรงแรม แต่ได้ชะลอไป

นายวสันต์ วิเคราะห์ว่า อนาคตผังเมือง กทม. ใหม่ จะปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณสถานีสายสีน้ำตาลจากแนวราบเป็นอาคารสูง ทำให้ที่ดินหัวมุมรามอินทรา ถนนเกษตรฯ-นวมินทร์ ราคาขยับขึ้นจากปัจจุบันราคา 2 แสนบาทต่อตารางวา แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องพัฒนาเป็นบ้านหรู โฮมออฟฟิศ ทาวน์โฮม ราคาแพงแทน อาทิ ซอยศรีวรา ซอยนาคนิวาส เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา แยกเสนา ฯลฯ ราคาต่อหน่วย 5-60 ล้านบาท ยิ่งเมื่อมีรถไฟฟ้าสายสีเทา วิ่งจากซอยวัชรพลตัดสายสีน้ำตาล บริเวณเลียบด่วนรามอินทราก่อนไปทองหล่อ ยิ่งช่วยเสริมการเดินทางและการพัฒนาได้เป็นอย่างดี


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

สำหรับราคาที่ดินบริเวณโซนแยกมหาวิทยาลัยเกษตรฯ-เสนา พหลโยธิน ราคา 4-5 แสนบาทต่อตารางวา, เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา 2-3 แสนบาทต่อตารางวา ทำเลสุขาภิบาล 1 แยกลำสาลี ตลาดบางกะปิ ราคา 2-3 แสนบาทต่อตารางวา

นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มีการพัฒนาโครงการแนวราบบริเวณถนนเกษตรฯ-นวมินทร์บ้างแต่ไม่มาก ขณะเดียวกัน ยังวางแผนพัฒนาโครงการบ้านจัดสรร รามอินทราเชื่อมสายสีชมพู มองว่า อนาคตรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลและสีชมพู จะดันราคาที่ดินแพงขึ้น นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจพฤกษา เรียลเอสเตท-พรีเมียม บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ต้องรอให้รถไฟฟ้าสายดังกล่าวเกิดขึ้นก่อน ถึงจะตัดสินใจซื้อที่ดิน พัฒนาคอนโดมิเนียม แต่ปัจจุบันเน้นสายที่เปิดให้บริการ

……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,347 วันที่ 11-14 มี.ค. 2561 หน้า 01-15
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สนข.ปักหมุดรูปแบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลแคราย-ลำสาลี(บึงกุ่ม)
สนข.เลือกรูปแบบที่4สร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว