เห่อเปิบ 'ปลาดิบ' สะพัด 2 หมื่นล้าน!

10 มี.ค. 2561 | 12:26 น.
1837

หวั่น ‘ปลาฟุกิชิมะ’ พ่นพิษ! กระทบธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น 2 หมื่นล้านสะเทือน ด้าน ‘ผู้ประกอบการ-หมอชูชัย’ เรียกร้องเปิดเผยชื่อ 12 ร้านอาหาร ที่เสิร์ฟเป็นเมนูเด็ด ขณะที่สถิติรอบ 10 ปี ไทยนำเข้าสินค้าประมงกว่า 9.85 แสนล้าน ‘ญี่ปุ่น’ รั้งอันดับ 5

แม้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมประมงจะออกมาแถลงข่าวยืนยันการนำเข้าปลาในกลุ่ม Hirame หรือ Flatfish (กลุ่มปลาตาเดียว) จาก จ.ฟุกุชิมะ ที่เคยเกิดปัญหากัมมันตภาพรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ หลังเหตุการณ์สึนามิและแผ่นดินไหวเมื่อปี 2554 โดยมีการนำเข้าล็อตแรกเมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมา จำนวน 130 กิโลกรัม ว่า มีความปลอดภัยไร้สารกัมมันตภาพรังสีปนเปื้อน แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคได้ ขณะที่ มูลนิธิผู้บริโภคได้เรียกร้องให้เปิดเผยใบรับรองความปลอดภัยจากญี่ปุ่น และชื่อ 12 ร้านอาหารไทย ที่รับปลาไปจำหน่าย พร้อมขอให้ชะลอการนำเข้าจนกว่าจะมีการตรวจซ้ำ


IMG_0030

หวั่นกระทบตลาด 2 หมื่นล้าน
สำหรับธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นในเมืองไทยในปี 2560 ที่ผ่านมา พบว่า มีมูลค่าตลาดรวมราว 2 หมื่นล้านบาท อาหารญี่ปุ่นยังเป็นอาหารต่างชาติที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเมืองไทย ตามด้วยอาหารจีน เกาหลี และยุโรป โดยเมนูหลักที่ได้รับความนิยมอย่างสูง คือ เมนูเกี่ยวกับเนื้อและปลา เพราะอาหารญี่ปุ่นได้รับการยอมรับว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ทำให้เป็นที่นิยมของคนทุกเพศ ทุกวัย ที่สามารถรับประทานได้ โดยเฉพาะเมนูปลา ซึ่งพบว่า มีเมนูปลาให้เลือกมากมาย โดยปลาที่ได้รับความนิยมมากสุด ได้แก่ ปลาแซลมอน ปลามากูโร่ ปลาซัมมะ ปลาอาจิ ปลาซาบะ ปลาไหลญี่ปุ่น ปลาโอ ฯลฯ (เรียงลำดับตามความนิยม)




P1-3347-A



“ทีมข่าวฐานเศรษฐกิจ” ได้ลงพื้นที่สำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พบว่า
จำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการยังคงเป็นปกติ ไม่ได้ลดลงอย่างผิดปกติ และจากการสอบถามพูดคุยกับพนักงานในร้าน ส่วนใหญ่ยังไม่รับทราบข่าวสารเรื่องของปลาดังกล่าว ขณะที่ บางร้านมีลูกค้าเข้ามาสอบถามว่า มีปลาตาเดียวหรือปลานำเข้าจากญี่ปุ่นมาจำหน่ายในร้านหรือไม่ และสอบถามว่าเป็นปลาอะไร เมื่อชี้แจงว่า ไม่มีปลาดังกล่าว ลูกค้าก็เข้ามาทานเป็นปกติ

ส่วนกรณีที่พบว่า อาจมีการนำเข้าปลาจากเมืองฟุกุชิมะที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีมาจำหน่ายในเมืองไทยนั้น อยากให้มีการเปิดรายชื่อร้านอาหารทั้ง 12 ร้าน ที่นำเข้ามาจำหน่าย และปิดป้ายประกาศให้ชัดเจนให้ลูกค้ารับรู้ และหากยังนิยมชื่นชอบในรสชาติจะสั่งเมนูมาทาน ก็เป็นความสมัครใจของเขา เพราะหากไม่เปิดเผยชื่อ อาจจะส่งผลกระทบต่อร้านอาหารญี่ปุ่นอื่น ๆ ได้

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

ย้ำ! ทานดิบอันตรายมาก
แหล่งข่าวจากวงการอาหาร กล่าวว่า ในข้อเท็จจริงสารกัมมันภาพรังสีปนเปื้อนสามารถอยู่ได้เป็นร้อยปี และหากนำมารับประทานแบบดิบ ๆ จะเสี่ยงอันตรายมาก เพราะเท่าที่ทราบ อย. และกรมประมง ไม่มีเครื่องมือตรวจสอบสารกัมมันตภาพรังสี และเรื่องนี้ควรเปิดเผยรายชื่อร้านอาหารที่นำปลาจากเมืองฟุกุชิมะไปจำหน่ายได้แล้ว เพราะไม่เช่นนั้นจะกระทบต่อร้านอาหารญี่ปุ่น หรือร้านอาหารทะเลในไทยที่จะมียอดขายลดลงอย่างแน่นอน จากผู้บริโภคเกรงไม่ปลอดภัย

เช่นเดียวกับ หมอชูชัย ศุภวงศ์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์ข้อความแสดงความข้องใจว่า เหตุใดที่ไต้หวัน เกาหลีใต้ ยังไม่อนุญาตให้นำเข้าปลา อาหารทะเล จากฟุกุชิมะ ญี่ปุ่น??

 

[caption id="attachment_267150" align="aligncenter" width="275"] หมอชูชัย ศุภวงศ์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท หมอชูชัย ศุภวงศ์ อดีตประธานชมรมแพทย์ชนบท[/caption]

แฉเส้นทางนำเข้า
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า ในการนำเข้าปลาล็อตดังกล่าวโดยการโปรโมตของ Allied Corporation ซึ่งเป็นบริษัทเทรดเดอร์ มีที่ตั้งสำนักงานอยู่ที่เมืองโยโกฮามาของญี่ปุ่น (ดังที่มีการนำเสนอโดยเว็บไซต์ japantoday.com นั้น) พบว่า มีความเชื่อมโยงของ Allied Corporation กับบริษัท บางกอกฟู้ด ซิสเต็ม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้า-ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารและจำหน่ายวัตถุดิบสดจากญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยผู้บริหารของบริษัทเคยระบุว่า การมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง Allied Corporation สาขาประเทศญี่ปุ่น ช่วยให้บริษัทสามารถลดต้นทุนและยกระดับการบริหารจัดการได้รวดเร็วขึ้น อีกทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงได้


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยังบริษัท บางกอกฟู้ด ซิสเต็มฯ เพื่อสอบถามผู้บริหารว่า ทางบริษัทได้มีการนำเข้าปลาล็อตดังกล่าวจริงหรือไม่ นำเข้าทางใด และได้กระจายสินค้าไปยังที่ใดบ้าง แต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า ผู้จัดการที่สามารถให้ข้อมูลได้เดินทางไปปฏิบัติภารกิจที่ญี่ปุ่น 1 เดือน

นำเข้าประมง 9.8 แสนล้าน
จากการตรวจสอบข้อมูลการนำเข้า-ส่งออกสินค้าประมง (ปลา ปลาหมึก กุ้ง อาหารทะเลแปรรูป หอยแครง ปลาป่น และอื่น ๆ) จากข้อมูลของกลุ่มวิเคราะห์การค้าสินค้าประมงระหว่างประเทศ กองนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาประมง กรมประมง พบว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2550-2560) ไทยมีการนำเข้าสินค้าประมงจากต่างประเทศ ปริมาณทั้งสิ้น 18.1 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 9.8 แสนล้านบาท (ปี 2560 ล่าสุด มีการนำเข้า 1.9 ล้านตัน มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท โดย 5 อันดับแรก มีการนำเข้าจากไต้หวัน ปริมาณ 1.8 ล้านตัน มูลค่า 9.8 หมื่นล้านบาท จีน 1.6 ล้านตัน มูลค่า 9.7 หมื่นล้านบาท สหรัฐอเมริกา 1.3 ล้านตัน มูลค่า 8.2 หมื่นล้านบาท อินโดนีเซีย 2.0 ล้านตัน มูลค่า 6.7 หมื่นล้านบาท และญี่ปุ่น 1.1 ล้านต้น มูลค่า 6.4 หมื่นล้านบาท)


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,347 วันที่ 11-14 มี.ค. 2561 หน้า 15
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
5 สินค้าเจ๋งครองเบอร์1แดนปลาดิบ
กรมวิชาการเกษตรยันทุเรียนส่งออกแดนปลาดิบไม่ใช่ทุเรียนอ่อน

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว