‘บิ๊กตู่’หวังตลาดทุนหนุนศก. มุ่งช่วยSMEs/ผู้ว่าธปท.ยันไทยรับผลกระทบผันผวนน้อย

20 ม.ค. 2559 | 14:00 น.
นายกฯหวังแผนพัฒนาตลาดทุนระยะ 5 ปี หนุนพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ด้านปลัดคลัง ลั่นเดินหน้าดันภาคเอกชนเริ่มการออมภาคบังคับ หลังข้อมูล 10 ปีสังคมสูงวัยกระทบภาระการคลัง คาด 10 ปีต้องใช้เงินอุ้มทะลุ 6-7 แสนล้านบาท – ด้านผู้ว่าธปท. โปยความเชื่อมั่นเชื่อเศรษฐกิจไทยยังแกร่ง สามารถรับแรงกระแทกตลาดเงิน-ตลาดทุนโลก จากกันชนทั้งการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ทุนสำรองระหว่างปท.สูงถึง 3 เท่าของหนี้ตปท.ระยะสั้น มั่นใจจีดีพีไทยปีนี้แตะ 3.5%

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวบรรยายในหัวข้อ "ความสำคัญของตลาดทุนและกรอบแนวทางแผนพัฒนาตลาดทุน" ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 ว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องเดินหน้าปฎิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยง ทั้งระดับบนลงไปถึงระดับล่าง โดยเฉพาะภาคเอกชนเองมีสินทรัพย์ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เอกชนเข้ามามีส่วนในการช่วยเหลือ รวมถึงพัฒนา ยกระดับเศรษฐกิจให้เข้มแข็งมากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถให้ทัดเทียมหรือสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านให้ได้ เพราะปฎิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันยังมีช่องว่างให้คนเข้าไปหาประโยชน์จากความเหลื่อมล้ำ เห็นได้จากคนไทยกว่า 30 ล้านคนยังมีรายได้ต่ำ

" ขนาดผมขอความช่วยเหลือเอกชนเข้ามาช่วยเหลือ พัฒนากลุ่มที่มีรายได้น้อยในหลายโครงการ ก็ถูกมองว่าช่วยเหลือนักธุรกิจ ดังนั้นคงต้องช่วยกันคิดว่าจะทำยังไงให้ช่องว่างระหว่างคนรวย-คนจนหายไป ยิ่งตอนนี้เศรษฐกิจตกต่ำการจัดเก็บรายได้ก็ลดลง รายจ่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่จำนวนผู้ขึ้นทะเบียนเสียภาษี 10 ล้านราย แต่กลับมีเพียง 3.5 ล้านรายเท่านั้นที่เสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดา นี่คือโจทย์ที่จะทำอย่างไรให้การเสียภาษีเข้าสู่ระบบมากขึ้น รวมถึงจะช่วยเหลือให้เอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งทุนรวมถึงสร้างความเข้มแข็งได้อย่างไร"

นายชัยวัฒน์ วิบูลสวัสดิ์" ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทจดทะเบียนเบียนตลาดทุนทั้งสิ่น 640 แห่ง รายได้รวมสูงถึง 12 ล้านล้านบาท คิดสัดส่วนเป็น 91% ของจีดีพี มีการจ้างงาน 1.1 ล้านคน แต่ละปีมีการนำส่งภาษีสูงถึงปีละ 2 แสนล้านบาทคิดเป็น 37% ของภาษีเงินได้นิติบุคคลและตลาดทุนยังเป็นแหล่งออมตลอดจนแหล่งทุนระยะยาวสำหรับผู้ลงทุนทางการเงิน อย่างไรก็ตามปัจจุบันตลาดทุนไทยจำเป็นต้องมีแนวรวมถึงแผนพัฒนาที่ชัดเจนรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและต้องสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ซึงปัจจุบันมีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาตลาดทุนไทย ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามาทำงานร่วมกันในการพัฒนาแผนพัฒนาตลาดทุนซึ่งแผนดังกล่าวมีระยะเวลา 5 ปี

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงแผนพัฒนาตลาดทุนไทยว่าปัจจุบันตลาดทุนไทยมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก โดยแต่ละปีมีการออกหลักทรัพย์ใหม่เพื่อนำมาใช้ระดมทุนไม่ต่ำกว่า 704 บริษัทหลักทรัพย์หรือเป็นแหล่งรายได้ภาษีนิติบุคคล จากอดีตมีเพียง 25% ปัจจุบันสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 37% ของการนำส่งภาษีรายได้นิติบุคคลในแต่ละปี และเทียบปี 2548 กับปี 2558 ขนาดตลาดอยู่ที่ 67% ได้ปรับเพิ่มเป็น 99% จากตลาด mai ที่มี 36 บริษัทหลักทรัพย์ กลับเพิ่มสูงถึง 121 บริษัทหลักทรัพย์ ขณะที่มีกำไรจาก 5.3 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 7 แสนล้านบาท นอกจากนี้ 10 กว่าปีที่ผ่านมา พบว่า ปัจจุบันมูลค่าหลักทรัพย์ของไทย สูงเป็นอันดับ 24 โดยอยู่ในอันดับเดียวกับมาเลียเซีย

และเฉพาะตลาดในต่างประเทศ 15 ปีที่ผ่านมาธุรกิจเอสเอ็มอีมีการระดมทุนผ่านมวลชนในลักษณะของของคลาวด์ฟันดิ้ง โดยเฉพาะในกลุ่มยุโรปและสหรัฐอเมริกามีมูลค่ามากกว่า 7.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้นจะต้องพิจารณาว่าจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจเอสเอ็มอีในประเทศไทยได้อย่างไร ซึ่งปัจจุบัน SMEs ไทยยังมีปัญหาโดยเฉพาะกลุ่มที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุกิจ

เขากล่าวว่า ปัญหาที่ค่อนข้างกังวลว่าจะมีผลต่อฐานะทางการเงินการคลังของรัฐบาล คือ ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) แม้ปัจจุบันจะมีการตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ขึ้นมาแล้วแต่ด้วยภาระในการดูแลภายใน 10 ปีที่จะต้องใช้เม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 6-7 แสนล้านบาทต่อปี ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องทำให้เกิดการออมภาคบังคับ

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงภาวะปัจจุบันได้เกิดเหตุการณ์หลายอย่างในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก จนอาจทำให้เกิดความผันผวน ซึ่งต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.ภาคเศรษฐกิจจริงในส่วนของการฟื้นตัว และ2.การเปลี่ยนแปลงของภาวะตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งหากมองในแง่ของเศรษฐกิจทั้งโลกมองยังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นที่สหรัฐฯ หรือยุโรป ส่วนกรณีของเศรษฐกิจไทย ประมาณการของ ธปท. คาดปีนี้จะโต 3.5%

ส่วนด้านตลาดทุน-ตลาดเงินโลกมีความผันผวนตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา เช่น กรณีของประเทศจีนที่มีมาตรการหลายอย่างที่ทำให้เกิดความผันผวนในตลาดหุ้นต่อเนื่องมาถึงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และนำไปสู่ตลาดหุ้นอื่นทั่วโลก หรือเหตุการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ล่าสุดเหตุวินาศกรรม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาดเงินตลาดทุน

"โจทย์คือภาวะของตลาดเงิน-ตลาดทุนเหล่านี้จะกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงและตลาดเงินไทยมากน้อยแค่ไหน เป็นสิ่งที่จะต้องเฝ้าติดตาม แต่ที่ผ่านมาผลต่อไทยมีไม่มากนัก เพราะหากเทียบกับเศรษฐกิจไทยกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เรามีการพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศในสัดส่วนที่น้อยกว่าหลายประเทศ โดยดูจากสัดส่วนของนักลงทุนต่างประเทศมาถือพันธบัตรรัฐบาลไทย,ธปท. หรือรัฐวิสาหกิจไทย ปัจจุบันมีเพียง 7-8% ของพันธบัตรคงค้าง ซึ่งเป็นอัตราที่น้อยมาก"

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ของกันชนที่สำคัญอีกปัจจัยหนึ่งของไทยก็คือ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ในปีที่ผ่านมาไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง8% ของจีดีพี เทียบกับหลายประเทศของเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่ทำให้นักลงทุนอาจกังวลว่ามีหนี้ต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง โดยเฉพาะหนี้ต่างประเทศระยะสั้นแต่กรณีของไทยจะเห็นว่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีขนาดประมาณ 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น ขณะที่ด้านเอกชชนเองก็มีการพึ่งพิงหนี้ในประเทศเป็นหลัก ฉะนั้นจะเห็นชัดเจนว่าแม้จะเกิดสภาวะความผันผวนในภูมิภาค หรือตลาดเงิน-ตลาดทุนโลกในช่วงที่ผ่านมาแต่ผลกระทบต่อไทยก็ไม่ได้รุนแรงมากเหมือนหลายประเทศ เช่นเดียวกับค่าเงินบาท อัตราความผันผวนก็ยังน้อยกว่าหลายประเทศของเศรษฐกิจเกิดใหม่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,123 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2559