“IMF” แนะดึงทุนสำรองตั้งกองทุนหารายได้ "สมคิด" บอกเป็นเรื่องอ่อนไหว ต้องศึกษาให้รอบคอบ

09 มี.ค. 2561 | 15:12 น.
วันนี้ (9 มี.ค. 61) - เมื่อเวลา 11.00 น. Mr. Markus H. Rodlauer รองผู้อำนวยการกรมเอเชียและแปซิฟิก และคณะผู้แทนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เข้าเยี่ยมคารวะ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ห้องรับรอง 1 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล

นายสมคิด เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า IMF เดินทางมาคณะใหญ่เพื่อเก็บข้อมูลหลายประเทศในแถบภูมิภาคนี้ จึงเดินทางมาเยือนไทยด้วย เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง จนทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศสูงมากถึง 214.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สัดส่วนประมาณ 10% ของจีดีพี ส่วนอัตราเงินเฟ้อเดือนม.ค. 2561 อยู่ที่ 0.7% จึงแนะนำให้ไทยนำทุนสำรองที่มีอยู่จำนวนมาก ตั้งกองทุนออกมาหาผลตอบแทนหรือหาประโยชน์เพิ่มเติม เหมือนกับหลายประเทศ

"อันนี้ก็แปลก เรามีทุนสำรองระหว่างประเทศเยอะ ก็มายุ่งกับเรา เพราะเขาเพิ่งไปหานายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลังมา ซึ่งรมว.คลังก็ตอบสั้นๆ ว่า มีเยอะก็ดีกว่ามีน้อย ส่วนผมตอบว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ศึกษาแนวทางดังกล่าวเหมือนกัน เพื่อลดแรงกดดันทำให้เงินบาทแข็งค่าและหาผลตอบแทนเพิ่มเติม ขณะที่การนำทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาใช้ประโยชน์ เป็นเรื่องอ่อนไหวสำหรับสังคมไทย จึงต้องศึกษาเรื่องนี้ให้รอบคอบ" นายสมคิด กล่าว

นายสมติดกล่าวอีกว่า กองทุน IMF ยังสนใจสอบถามเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีแต่ทำไมอัตราเงินเฟ้ออยู่ต่ำ และผู้สูงอายุเยอะขึ้น จึงตอบว่า รัฐบาลได้มุ่งแก้ปัญหาและออกมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลายด้าน จึงดึงอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้นกว่าที่ผ่านมา และหากสูงเกินไปจะดึงลงกลับมาลำบาก อีกทั้งไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงเน้นเก็บออมเงินรองรับการเกษียณมากกว่าการใช้จ่าย นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังเดินหน้าศึกษาหลายมาตรการดูแลสังคมผู้สูงอายุครอบคลุมทุกด้าน คาดว่าจะออกมาได้ในเร็วๆนี้ กองทุน IMF จึงชื่นชมและเชื่อมั่นต่อไทยสูงมาก ต่อการนำเนินนโยบายเศรษฐกิจ เมื่อองค์กรระหว่างประเทศทั้งไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก มีมุมมองที่ดีต่อไทยจึงสร้างความเชื่อมั่นกับนักลงทุนต่างชาติ

นายสมคิด ยังได้ชี้แจงแนวนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ด้วยการมุ่งเน้นช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับภูมิภาคให้มีความเข้มแข็ง ทั้งการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว สินค้าชุมชน การพัฒนาอาชีพ เนื่องจากไทยไม่ใช่ประเทศอุตสาหกรรม แต่เป็นอุตสาหกรรมบริการจึงสามารถพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีคุณภาพด้านบริการได้ นอกจากนี้ยังได้มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล ส่งเสริมอุตสหากรรมเป้าหมายรองรับอุตสาหกรรม S-Cruve แนวใหม่ เดินหน้าผลักดันเขต EEC คู่ขนานไปทั้งสองด้าน เพราะได้มุ่งทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยจะต้องพัฒนาทั้งเศรษฐกิจฐานราก ภาคเกษตร รวมทั้งภาคอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาทุกด้านไปพร้อมกัน และความเชื่อมโยงกัน ไอเอ็มเอฟ จึงมองว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายมาถูกทาง และมองว่าจะนำเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง