พุกาม แสงอุ่นแห่งสุริยันต์ ดินแดนพันเจดีย์

12 มี.ค. 2561 | 13:10 น.
นํ้าที่ตั้งเดือดอยู่บนเตาถ่านเริ่มร้อนจัด ส่งเสียงร้องเบาๆ ลอดออกมาตามรูพร้อมๆ กับไอนํ้าสีขาวขุ่นพวยพุ่งอย่างไร้ทิศทาง เสียงนํ้าร้อนๆ เทลงในแก้วสีขาวแบบธรรมดาขับให้สีส้มอันคุ้นตาดูคลับคล้ายคลับคลากับสีของชาเย็นดูน่าทานยิ่งกว่าไหนๆ เก้าอี้ตัวเล็กๆ พร้อมกับโต๊ะตัวเล็กที่วางแป้งนานอบร้อนจากหม้อสดๆ กะหรี่ปั๊บและปลาท่องโก๋ตัวยักษ์ แม้รสชาติชาพม่าจากย่างกุ้งและที่นี่ “ตลาดยองอู (Nyang U Market)” จะเหมือนจนแทบจะเป็นรสเดียวกัน แต่บรรยากาศที่แสนจะธรรมชาติและธรรมดาของที่นี่ ทำให้เราสามารถนั่งมองวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชาวพม่าในดินแดนซึ่งเป็นที่ตั้งของอาณาจักรแห่งแรกในประวัติศาสตร์พม่า

MP28-3347-6A ความรู้สึกเมื่อได้สัมผัส พาให้คิดถึงคำในหนังสือเล่มโปรดที่พกติดกระเป๋าเดินทางไปทุกครั้งที่มาเยือนดินแดนเพื่อนบ้านซึ่งมีประวัติศาสตร์ร่วมกันมาหลายร้อยปีเสมอ คุณธีรภาพ โลหิตกุล ได้ให้คำนิยามสั้นๆ กับเมืองพุกามในหนังสือท่องแดนเจดีย์ไพรในพุกามประเทศ ว่า “สู่ดินแดน เจดีย์สี่พันองค์ เพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด แต่ดูเหินห่างและชิงชัง” การถ่ายทอดประวัติศาสตร์ที่ไม่ตรงกันของคู่สงครามอาณาจักรข้างเคียงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในระบบคิดของเราเมื่อคิดถึงพม่าจะมีเรื่องของ “เพลิงสงคราม” เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ เมื่อความงามในความทรงจำบรรจบพบกับภาพถ่ายโดยฝีมือของคุณหมอแก้ว-พ.ญ.ธาริณี ก่อวิริยกมล คุณหมอ คนสวยแห่งโรงพยาบาลผิวหนังอโศก ภาพของเพื่อนบ้านที่ดูเหมือนจะห่างเหินได้กลับมาแนบชิดสนิทในความทรงจำอีกครั้ง

MP28-3347-5A ย้อนนึกกลับไปเมื่อวันวานล้อรถบัสขนาดกลางวิ่งไปตามถนนที่ขรุขระราวกับผิวของดวงจันทร์ พาเราเคลิบเคลิ้มไปกับบรรยากาศของสองข้างทางที่เต็มไปด้วยฝุ่นสีแดงและเหล่าฝูงวัวที่เดินข้ามถนนอยู่เป็นระยะ ที่พักรถเต็มไปด้วยเด็กๆ ที่ให้ความสนใจกับนักเดินทางที่หมุนเวียนเข้ามาใหม่ๆ ทุกชั่วโมงเมื่อหลายสิบปีก่อน ถูกแทนที่ด้วยทางลาดยางเรียบกริบและการเดินทางที่สะดวกแบบสามารถสั่งจองได้จากที่พัก

MP28-3347-4A จากตลาดยองอูซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองใหม่ของพุกาม (Bagan) เราสามารถเลือกเดินทางได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับความสะดวกและเวลาที่เอื้ออำนวย ตั้งแต่การขึ้นเกวียนเทียมม้าพร้อมสารถีที่พูดได้ทั้งไทยและอังกฤษพาเราท่องดินแดนพันเจดีย์ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงพระอาทิตย์ตก หรือจะเลือกการปั่นจักรยานลัดเลาะไปตามทางเส้นเล็ก ล้อที่บดเม็ดทรายคดเคี้ยวไปตามทุ่งหญ้าเพิ่มกำลังขา แถมยังทำให้นํ้าอ้อยตามจุดพักต่างๆ อร่อยจนขาดไม่ได้ รวมถึงการได้แวะเล่นกับเด็กน้อยพร้อมกับรับการปะทานาคาครีมกันแดดชั้นดีที่แลกมาด้วยไมตรีจิตและรอยยิ้ม และอีกหนึ่งวิธีสำหรับการชมเจดีย์สูงใหญ่ที่สร้างจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของพระมหากษัตริย์และประชาชนก็คือการขึ้นบอลลูนรับลมล่องไปตามทะเลเจดีย์ พร้อมกับกลิ่นหอมอ่อนๆ ของฟางหญ้าที่สุมให้กับเหล่าวัวควายยามพลบคํ่า

[caption id="attachment_266567" align="aligncenter" width="503"] ภาพอันชินตาของนักท่องเที่ยวบริเวณลานวัดอนันดา วัดใหญ่ใจกลางเมืองพุกาม ภาพอันชินตาของนักท่องเที่ยวบริเวณลานวัดอนันดา วัดใหญ่ใจกลางเมืองพุกาม[/caption]

แม้ที่นี่จะมีเจดีย์หลายพันองค์แต่วัด เจดีย์ และวิหารที่ได้รับความนิยมของเหล่านักท่องเที่ยวมักเป็นเจดีย์สูงใหญ่ ซึ่งพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ทรงถวายเป็นพุทธบูชา หนึ่งในวัดที่เราสามารถใช้เวลานั่งพิจารณาพระพุทธรูปยืนทั้ง 4 องค์ ประจำทิศทั้งสี่ได้อยู่นานสองนานเห็นทีจะเป็นวัดอนันดา (Ananda temple) ด้วยสถาปัตยกรรมทั้งภายนอกและภายใน รวมถึงการออกแบบภูมิทัศน์ที่เรียกได้ว่าเป็นเพชรนํ้าเอกของพุทธศิลป์สกุลช่างพุกาม แม้ความเก่าแก่จะแวะมาเยี่ยมเยียนผ่านรอยของตะไคร่นํ้าและรอยร้าวของแนวอิฐ แต่ความเย็นโดยธรรมชาติที่อยู่ภายใน เหล่าเณรน้อยในอิริยาบถต่างๆ เหมาะแก่การจับภาพเป็นที่สุด อีกวิหารหนึ่งที่อยู่ในความทรงจำเห็นทีต้องยกให้วิหารธรรมยันจี (Dham Ma Yang Yi) ความสูงใหญ่ที่แยกอยู่อย่างโดดเดี่ยวกับประวัติการก่อสร้างที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิต ความเงียบที่ปรากฏทั้งภายในและภายนอกซึ่งเต็มไปด้วยแนวหญ้าและเสียงของค้างคาวที่อาศัยวิหารแห่งนี้เป็นที่หลับนอน ย้อนให้นึกถึงความเคร่งครัดของการก่อสร้างที่พระเจ้านราธูกำหนดไว้อย่างเด็ดขาดว่า อิฐแต่ละก้อนที่ต่อกันต้องวางแนบสนิทชนิดที่แม้แต่เข็มก็ไม่สามารถลอดผ่านไปได้ หากช่างคนไหนทำผิดพลาดต้องโดนตัดนิ้วลามไปจนถึงการตัดมือและตัดแขนก็มี แต่สุดท้ายวิหารที่โอบล้อมด้วยความหวาดกลัวนี้ก็สร้างไม่เสร็จเพราะพระเจ้านราธูถูกพระเจ้าปรากรมพาหุที่ 1 แห่งลังกา ประหารชีวิตเสียก่อน

[caption id="attachment_266569" align="aligncenter" width="503"] คุณหมอแก้วขณะถ่ายภาพทะเลเจดีย์ คุณหมอแก้วขณะถ่ายภาพทะเลเจดีย์[/caption]

แม้พรมแดนจะใกล้ชิด แต่การรับรู้กลับทำให้รู้สึกห่างไกล การเดินทางสร้างการจดจำใหม่ๆ และเปลี่ยนเรื่องเล่าในตำราได้เสมอ ภาพสวยๆ ของคุณหมอแก้วยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ทรรศนาจรจะพาท่านผู้อ่านตามกลิ่นชา ไปที่ไหนต่ออย่าลืมติดตามได้ในสัปดาห์หน้านะคะ

• ภาพ : พ.ญ. ธาริณี ก่อวิริยกมล
• เรื่อง : บุรฉัตร ศรีวิลัย
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,347 วันที่ 11 - 14 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว