กนอ.ส่งสัญญาณอีอีซีแรงบวกด้านการลงทุน

08 มี.ค. 2561 | 23:30 น.
กนอ. โชว์สถานภาพการลงทุนรวมของปีงบประมาณ 61 นิคมอุตสาหกรรม 56 แห่ง มีผู้ประกอบการมากกว่า 4,566 ราย เกิดการจ้างงานมากกว่า 606,552 คน คิดเป็นมูลค่าการลงทุนสะสมกว่า 3.143 ล้านล้านบาท เผยยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม รองรับอีอีซี

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) เปิดเผยว่า ผลประกอบการจากการดำเนินงานของการนิคมอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 (ต.ค. – ธ.ค. 2560) พบว่ามียอดพื้นที่ขาย / เช่า จำนวน 737 ไร่ มีเงินลงทุนรวมกว่า 19,744 ล้านบาท และเกิดการจ้างงานกว่า 2,368 คน มีการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความสนใจสูงสุด ได้แก่ 1) กิจการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม ประกอบด้วยการค้า และโลจิสติกส์ การสร้างโรงงานเพื่อขาย หรือให้เช่า 2) กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ 3) อุตสาหกรรมเหล็กและโลหะ 4) อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก 5) อุตสาหกรรมเครื่องจักร

[caption id="attachment_266399" align="aligncenter" width="503"] วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม วีรพงศ์ ไชยเพิ่ม[/caption]

ปัจจุบัน กนอ. มีนิคมอุตสาหกรรม 56 แห่ง ใน 16 จังหวัด โดยมีพื้นที่สำหรับขาย / เช่า (รวมพื้นที่ระบบสาธารณูปโภค) ประมาณ 166,063 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ระบบสาธารณูปโภค ประมาณ57,650 ไร่ และพื้นที่สำหรับขาย / เช่า จำนวน 108,413 ไร่ ณ วันที่ 31 มกราคม 2561 มีพื้นที่ขายและเช่าแล้วจำนวน 87,385 ไร่ ดังนั้นจะคงเหลือพื้นที่สำหรับขาย / เช่า อีก 21,028 ไร่ สำหรับมูลค่าการลงทุนสะสมทั้งสิ้น 3.143 ล้านล้านบาท มีผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมมากกว่า 4,566 ราย เป็นผลให้เกิดการจ้างงาน 606,552 คน

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา มีการขาย/ เช่า พื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมรวมทั้งสิ้น 3,300 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 8.3 หมื่นล้านบาท และในปีงบประมาณ 2561 คาดว่าจะสามารถ ขาย / เช่า พื้นที่ได้ประมาณ 3,500 ไร่ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 9 หมื่นล้านบาท เป็นผลจากนโยบายรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีความชัดเจนขึ้น หลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สนช. ได้ผ่านความเห็นชอบ พ.ร.บ. อีอีซี ซึ่งเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

นอกจากนี้การพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะ 5 ปีนับจากปี 2561นี้ กนอ.ได้มุ่งเน้นที่จะสนับสนุนการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ โดยมีแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตใน 5 กลุ่มที่สำคัญคือ กลุ่มอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิตอล และกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร นอกจากนี้ ยังได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุนในปีนี้ ได้แก่ การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : EEC

บาร์ไลน์ฐาน ขณะนี้มีการประกาศเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมรวม 21 แห่ง ประกอบด้วย จังหวัดระยอง จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ เหมราชระยอง 36, อีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง), เหมราชตะวันออก (มาบตาพุด), เหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด และอมตะซิตี้ มีพื้นที่ประกาศเขตส่งเสริมรวม 40,268 ไร่ และเป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับการลงทุน 8,043 ไร่ และคาดว่าจะมีเงินลงทุนได้ 290,113 ล้านบาท จังหวัดชลบุรี จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ อมตะนคร1-2, ปิ่นทอง 1-5, ยามาโตะอินดัสทรีส์, เหมราชชลบุรี 1-2, เหมราชอีสเทิร์นซีบอร์ดแห่งที่ 2-3 มีพื้นที่ประกาศเขตส่งเสริมรวม 42,300 ไร่ เป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับการลงทุน 17,663 ไร่ และคาดว่าจะมีเงินลงทุนได้ 762,092 ล้านบาท จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ ทีเอฟดี 2 มีพื้นที่ประกาศเขตส่งเสริมรวม 841 ไร่ เป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับการลงทุน 660 ไร่ และคาดว่าจะมีเงินลงทุนได้ 51,900 ล้านบาท และในอนาคต กนอ. จะมีการพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพิ่มเติมอีกประมาณ 15,000 ไร่ และส่วนพื้นที่ที่เหลือให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมนอก กนอ. ที่อยู่ในการส่งเสริมของ BOI หรือ อยู่ในเขต/สวนอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ โครงการที่จะเห็นอย่างเป็นรูปธรรมและมีความสำคัญในการดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายของรัฐบาลได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งเป็น 1 ใน 5 โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญที่สุดในพื้นที่ EEC ที่ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ในภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และเขตจังหวัดอื่นที่มีพื้นที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวข้อง ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาท่าเทียบเรือเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลวและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการนำเข้าพลังงาน มีพื้นที่รวมทั้งโครงการ 1,000 ไร่ ประกอบด้วย บ่อกักเก็บตะกอน, คลังสินค้า และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติ, ท่าเทียบเรือสินค้าเหลว และท่าเทียบเรือก๊าซ เมื่อแล้วเสร็จจะรองรับสินค้ากลุ่มน้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติเหลว และสินค้าเหลว คาดว่าจะสามารถขนถ่ายผ่านท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ได้รวมประมาณ 19 ล้านตันต่อปี

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ โดยกนอ.กำหนดจะจัดสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 เพื่อนำเสนอรูปแบบ แนวทาง และรายละเอียดในการร่วมลงทุนของโครงการในวันศุกร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ.2561 โดยผลสรุปที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นจะเป็นส่วนหนึ่งในรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการเพื่อนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กนศ.) พิจารณาอนุมัติ ซึ่งคาดว่าจะทราบผลการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนภายในปลายปี 2561

โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก : นิคมอุตสาหกรรม Smart Park ที่มีความสำคัญต่อการส่งเสริมด้านนวัตกรรม เทคโนโลยีอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับระบบดิจิทัลของประเทศไทยและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน

การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน เพื่อให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่เน้นบริเวณชายแดน โดยใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยง และสนับสนุน SMEs ไทยให้มีการลงทุนต่อเนื่องในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งประกอบด้วย โครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการพัฒนาและมีความคืบหน้าไปแล้วมากกว่า 80 % โดยจะสามารถเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบได้ภายในเดือนเมษายนนี้

โครงการการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว มีการก่อสร้างลานประชารัฐ สำหรับผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการ SMEs เพื่อการจำหน่ายสินค้า OTOP เสร็จเรียบร้อยแล้ว และมีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค ระบบป้องกันน้ำท่วม ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการภายในเดือน ธันวาคมนี้

โครงการการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ จ.ตาก ขณะนี้ กนอ. อยู่ระหว่างการทบทวนรายงาน EIA และ การออกแบรายละเอียดการก่อสร้าง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน สิงหาคม นี้

โครงการการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (นิคมฯ สะเดา) จ.สงขลา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาพัฒน์เพื่อให้ความเห็นประกอบการนำเสนอ ครม. ให้ความเห็นชอบในการจัดตั้งนิคมฯ ดังกล่าว

โครงการจัดตั้งศูนย์ SMEs Industrial Transformation Center: SMEs-ITC ซึ่งเป็นศูนย์บริการผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ในการเข้าถึงข้อมูล องค์ความรู้ รวมทั้งการให้คำปรึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการ SMEs ให้มีศักยภาพในการประกอบกิจการที่ดียิ่งขึ้น โดยกำหนดจัดตั้งรวม 10 ศูนย์ ในพื้นที่ 10 นิคม มีศูนย์ฯนำร่องที่นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ที่เปิดอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ในปีที่ผ่านมา แล้วจะเปิดให้บริการภายในเดือนเมษายน อีกจำนวน 4 นิคมได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ นิคมอุตสาหกรรมาคใต้ และนิคมอุตสาหกรรมบางชัน และเปิดในเดือนสิงหาคมอีก 5 นิคม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร นิคมอุตสาหกรรมบางปู นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว