รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หัวหิน จุดพลุขุมทอง 4 สถานี

10 มี.ค. 2561 | 10:50 น.
รถไฟความเร็วสูงโครงการนี้อยู่ระหว่างการเร่งผลักดันจากการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) สัญจรที่จังหวัดเพชรบุรีให้เป็นอีกหนึ่งโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวจากกรุงเทพมหานครเชื่อมไปสู่พื้นที่ภาคใต้

รถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กิโลเมตร กรอบวงเงินลงทุนโครงการ แบ่งเป็นค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 4,848 ล้านบาท ค่างานโยธา 69,571 ล้านบาท ค่างานระบบรถไฟฟ้า 14,254 ล้านบาท และค่าขบวนรถ 11,450 ล้านบาท รวมเป็นงบทั้งสิ้นกว่า 1 แสนล้านบาท

โดยรถไฟฟ้าเส้นทางนี้จัดเป็นการดำเนินงานระยะที่ 1 ของโครงการรถไฟความเร็วสูงสายใต้ (กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์) เริ่มต้นโครงการจากสถานีบางซื่อไปตามแนวเส้นทางรถไฟสายใต้ มีทั้งเส้นทางยกระดับและระดับดิน ผ่านจังหวัดนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี และไปสิ้นสุดที่สถานีหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มี 4 สถานี คือสถานีนครปฐม สถานีราชบุรี สถานีเพชรบุรี และสถานีหัวหิน

ในส่วนการใช้พื้นที่ตามแนวเขตทางนั้นได้กำหนดว่าจะมีสถานีศูนย์ซ่อมบำรุง อาคารจอดแล้วจร และจะมีการเวนคืนจำนวน 897 แปลง คิดเป็นเนื้อที่สำหรับการเวนคืนประมาณ 900 ไร่ และมีอาคารสิ่งปลูกสร้างจำนวน 272 หลัง คาดว่าเมื่อเปิดให้บริการตามผลการศึกษาในปี 2566 จะมีปริมาณผู้โดยสารประมาณ 1 หมื่นคนต่อวัน

TP12-3346-1A ทั้งนี้รถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้ตามผลการศึกษาได้มีการวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนโครงการตามประกาศของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี) ที่ปรึกษาได้ดำเนินการเลือกการร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP กับเอกชนใน 3 ทางเลือกนำเสนอรัฐบาล ได้แก่ รูปแบบที่ 1 Net Cost คือ รัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 4,848 ล้านบาท ส่วนเอกชนลงทุนงานโยธา และงานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถ โดยมีเงินสนับสนุนภาครัฐ (Subsidy) 80,283 ล้านบาท รูปแบบที่ 2 Net Cost รัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 4,848 ล้านบาท และงานโยธา 69,571 ล้านบาท ส่วนเอกชนลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถ โดยมีเงินสนับสนุนภาครัฐ 19,579 ล้านบาท และรูปแบบที่ 3 Gross Cost คือ รัฐลงทุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและงานโยธา ส่วนเอกชนลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถ โดยรัฐเป็นผู้จัดเก็บรายได้และจ่ายเงินให้เอกชนในรูปแบบที่ตกลงกันไว้

บาร์ไลน์ฐาน ทางด้านผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ(EIRR) กรณีวิเคราะห์เฉพาะผลประโยชน์ทางตรงพบว่ามีผลตอบแทนระยะ 30 ปี 8.38% ส่วนกรณีวิเคราะห์รวมผลประโยชน์ทางอ้อม พบว่าระยะ 30 ปีมีจำนวนเท่ากับ 11.34% เช่นเดียวกับผลตอบแทนทางด้านการเงิน (FIRR) กรณีการรถไฟแห่งประเทศไทยลงทุนเองทั้งหมด ระยะเวลาดำเนินการ 30 ปีเท่ากับ 1.76% ส่วนหากรัฐสนับสนุนค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะให้ผลตอบแทนเท่ากับ 10.64%

ดังนั้นคงต้องลุ้นกันว่าท้ายที่สุดแล้วรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ในคราวประชุมครม.สัญจรวันที่ 6 มีนาคม 2561 นี้จะชี้ชัดในประเด็นใดบ้าง และสามารถหาผู้เป็นเจ้าภาพขับเคลื่อนโครงการได้หรือไม่อย่างไร ป่านนี้คงได้รับคำตอบกันชัดเจนแล้ว ส่วนเอกชนรายใดจะได้โครงการนี้ไปดำเนินการนั้นคงต้องมีลุ้นกันต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว