โมเดลปั้นบุคลากรอีอีซี ยกระดับการศึกษา ประถมยันปริญญาเอก

12 มี.ค. 2561 | 04:51 น.
แผนพัฒนาบุคลากร การศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยี ถือเป็น 1 ในแผนงานเร่งด่วนที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กนศ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการไปแล้ว โดยมีเป้าหมายที่จะผลิตกำลังคนที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย

โดย “สัตหีบโมเดล” ถือเป็น 1 โมเดล การยกระดับการศึกษาและพัฒนาบุคลากร ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีที่เน้นกลุ่มสถาบันการศึกษาสายอาชีพหรืออาชีวะ ภายใต้ความร่วมมือของสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.)สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการที่ลงทุนในอีอีซี และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อผลิตนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

++ปั้นอาชีวะรองรับตลาด
นอกจากสัตหีบโมเดลแล้ว ยังมีโมเดลยกระดับการศึกษาทั้งระบบในพื้นที่อีอีซีที่ยังต้องดำเนินการอีกมาก โดยนางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การยกระดับการศึกษาทั้งระบบในอีอีซี มีทั้งหมด 2 ระดับ ระดับแรกเป็น“ระยะสั้น” เน้นกลุ่มนักศึกษาที่อยู่ตลาดปัจจุบัน ทั้งอาชีวะและมหาวิทยาลัย โดยจะต้องปรับการผลิตบุคลากรเข้าสู่10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ด้วยการเรียนหลักสูตรระยะสั้นที่เป็นความร่วมมือของกระทรวงแรงงาน เพื่อผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของ S-Curveใหม่และเก่า

สำหรับ S Curve ใหม่จะดูความต้องการจากบริษัทที่มาขอรับการส่งเสริมการลงทุน ถ้าเป็นความต้องการด้านอาชีวะก็จะส่งให้กับศูนย์ประสานฯที่มีวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบเป็นศูนย์หลัก เพื่อประสานงานกับ 12 วิทยาลัย โดยหลักสูตรที่นำมาใช้ เป็นหลักสูตรใหม่ และหลักสูตรเดิมที่ต้องนำมาพัฒนาใหม่ควบคู่กันไป

[caption id="attachment_266320" align="aligncenter" width="503"] พจณี อรรถโรจน์ภิญโญ พจณี อรรถโรจน์ภิญโญ[/caption]

++ดึงม.บูรพาเป็นศูนย์กลาง
ส่วนระยะยาว จะเป็นการเตรียมตัวและผลิตบุคลากรในทุกระดับ อย่างในระดับมหาวิทยาลัย สกรศ.ได้ร่วมมือกับ 9 มหาวิทยาลัยในพื้นที่ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยจะเข้ามาสนับสนุน โดยจะแจ้งเข้ามาว่ามีความเชี่ยวชาญทางด้านไหน ในการช่วยพัฒนาบุคลากรในสาขาใดได้บ้างใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งในระยะแรกได้ขอให้มหาวิทยาลัยบูรพา เป็นศูนย์กลางในการสนับสนุนการผลิตบุคลากรให้อีอีซี ในระดับปริญญา ซึ่งตอนนี้มีการประชุมร่วมกับ 9 มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยบูรพาแล้ว และนอกจากนี้รัฐบาลได้อนุมัติแผนงานโครงการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่แล้วเช่นกัน จะมีโครงการทั้งหมด 15 โครงการ ใน 9 มหาวิทยาลัย

++ให้ทุนเรียน10อุตฯเป้าหมาย
โดยทางกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้การสนับสนุนด้วยการจัดให้มีทุนการศึกษา ตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก ใน 4 ปีแรก จะมอบให้ 450 ทุน เฉพาะสาขา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่วนอุตสาหกรรมที่ยังขาดความเชี่ยวชาญ กระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้มหาวิทยาลัยจากต่างประเทศ เข้ามาเปิดในประเทศไทยได้ เฉพาะในสาขาที่ยังไม่มีความชำนาญ

รองเลขาธิการกนศ.ชี้ให้เห็นอีกว่า นอกจากนี้ สกรศ.ยังทำงานร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มีโครงการ“พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เคลื่อนที่” จะมีรถพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เคลื่อนไปตามโรงเรียนประถมศึกษาในพื้นที่อีอีซี เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนระดับประถม รวมถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ได้เปิดโลกทัศน์ ได้เห็นความน่าตื่นเต้นของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆเป็นอย่างไร

อีกทั้งในระดับประถมและมัธยมต้นยังมีอีก1โครงการ คือ “โรงเรียนตัวอย่างอีอีซี”เปิดให้ทั้งโรงเรียนรัฐบาลและเอกชนเข้าร่วม โดยจะทำจังหวัดละ 1 โรงเรียน เพื่อทดลองว่าโรงเรียนที่จะสอนให้นักเรียนพูดภาษาอังกฤษได้ จะต้องมีองค์ประกอบอย่างไร แล้วจะขยายผลไปโรงเรียนอื่นๆต่อไป

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ ++เปิดค่ายวิทยาศาสตร์รองรับ
ส่วนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและปลาย จะมี“แคมป์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”เปิดให้นักเรียนและอาจารย์ มีโอกาสเข้าแคมป์ ซึ่งเขาจะได้ร่วมกิจกรรมมากมาย เช่น หัดทำโดรน พัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

“โครงการแคมป์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งเป้าปีนี้จะทำให้ได้ 20%ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดในพื้นที่ ตอนนี้ทำไปแล้ว 10% ปีที่ 2 อีก10%จากนั้นเราไปหารือกับกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงวิทยาศาสตร์แล้วซึ่ง2 กระทรวงก็รับที่จะไปทำโครงการนี้ต่อไป”

โดยสรุปภาพรวมของการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่อีอีซี จะมีการเตรียมผลิตบุคลากรตั้งแต่ระดับประถม มัธยม เปิดโอกาสให้เด็กๆได้เลือกจะเข้าสู่สายอาชีพ หรือ เรียนจบปริญญาตรี จากนั้นก็มีทุนการศึกษารองรับจนถึงปริญญาเอก ถือเป็นมิติใหม่ในการยกระดับการศึกษาของประเทศไทยที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพแรงงานในพื้นที่ให้ตรงตามความต้องการของตลาดได้

สัมภาษณ์ :
จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว