ดันตั้งธนาคารพุทธ สำนักพุทธดึงออมสินร่วมจัดระเบียบเงินวัดทั่วประเทศ

10 มี.ค. 2561 | 04:18 น.
“สำนักพุทธศาสนา” มอบออมสินตั้งธนาคารเพื่อพุทธศาสนา หวังจัดการเงินวัดทั่วประเทศให้เป็นระบบแยกบัญชีให้ชัดเจน-บริจาคเงินผ่านคิวอาร์โค้ด ปลอดภัยทั้งวัด คนทำบุญ ดึงแม่ค้า-พ่อค้าเข้าระบบชำระเงินออนไลน์ สร้างหลักฐานการเงิน เป้าหมาย 1 แสนรายปีนี้

หลังจากที่กรมสรรพากรได้นำระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-donation เข้ามาใช้กับศาสนสถานทั่วประเทศ ครอบคลุมทั้งวัด โบสถ์ และมัสยิด โดยทดลองนำร่องไปแล้วที่วัดใน จ.น่าน และได้เสียงตอบรับที่ดี เนื่องจากพระไม่ต้องกังวลเรื่องเก็บเงินหรือกลัวคนมาขโมย ขณะเดียวกันยังไม่ต้องมีภาระออกใบอนุโมทนาด้วย เพราะกรมสรรพากรสามารถเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ทำให้มีธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเริ่มที่จะพัฒนาระบบบริจาคเงินอิเล็กทรอนิกส์ผ่านคิวอาร์โค้ดตามมา อย่างธนาคารกรุงไทย

ล่าสุด นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้ประสานมายังธนาคารออมสินให้มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อพุทธศาสนาขึ้น เพื่อจัดการให้วัดมีการจัดเก็บเงินอย่างเป็นระบบ โดยอาจจะแยกเงินเป็นบัญชีวัด บัญชีพระสงฆ์ บัญชีมูลนิธิต่างๆ และบัญชีเงินบริจาค เพราะขณะนี้บัญชีเงินฝากของวัดรวมๆ กันมีเป็นหมื่นล้านบาท กระจายในทุกๆ ธนาคาร ซึ่งที่หารือเบื้องต้นคือ วัดต่างๆ ต้องมาเปิดบัญชีกับออมสิน โดยจะได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการฝากเงินของประชาชน เพราะเป็นการฝากเงินและนำดอกผลไปบำรุงพุทธศาสนา

MP24-3346-1 หรืออาจจะมีลักษณะให้คนไทยมาฝากเงิน แต่ไม่รับดอกเบี้ย โดยให้นำดอกเบี้ยที่ได้บริจาคทำบุญให้กับวัดแทนคล้ายๆกับเป็นกิจกรรมเพื่อสังคม เพราะฉะนั้นใครที่อยากทำบุญ ก็รับเฉพาะเงินต้น ส่วนดอกผลธนาคารจะดำเนินการจัดส่งให้กับวัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำเพื่อพุทธศาสนาต่อไป โดยจะมีการพัฒนาระบบคิวอาร์โค้ดของแต่ละวัดขึ้นมา ซึ่งขณะนี้ได้ใช้โมเดล 1 สาขาต่อ 1 วัด จึงถือว่าได้พัฒนาไปแล้วประมาณ 1,000 วัดทั่วประเทศและจะขยายผลให้ครอบคลุมวัดทั้งหมดที่มี เพราะทุกวัดก็จะเป็นประยชน์ในการจัดระเบียบการเงินได้

“เจตนาคือ อยากให้ทำธนาคารเพื่อพุทธศาสนา ไม่เหมือนการเอาวัดมาทำธนาคาร และไม่ได้มีบทบาทเหมือนธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยที่มีการปล่อยกู้ด้วย เป็นเพียงจัดการให้วัดมีการจัดเก็บเงินอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งเราจะพัฒนาระบบขึ้นมา เพื่อให้มีข้อมูลวัดทั้งหมดในประเทศไทยรวมอยู่ที่ออมสิน ถ้ามาออมสินต้องการบริจาคให้กับวัดไหน ก็สามารถเลือกได้เลย เหมือนๆ เราชำระบิลค่าสินค้า บริการต่างๆ สามารถดำเนินการได้ผ่านโมบาย แบงกิ้ง แค่สแกนคิวอาร์โค้ด ก็สามารถทำบุญบริจาคได้เลย จะ 1 บาท 10 บาท หรือ 100 บาท และหากต้องการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี ออมสินก็จะดำเนินการส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรทางออนไลน์ได้เลย ไม่ต้องยุ่งยาก”

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ นอกจากการจัดระบบการเงินให้กับวัดแล้ว ยังเป็นแนวทางที่จะพัฒนาระบบคิวอาร์โค้ดในประเทศไทยด้วย เพราะคนไทยชอบไปที่วัด ทำบุญบริจาค ดังนั้นจะเป็นการสอนให้คนไทยใช้คิวอาร์โค้ดแทนเงินสด และสิ่งที่ธนาคารจะดำเนินการต่อไปคือ ตลาดสดต่างๆ เพราะหากพัฒนาให้พ่อค้า แม่ค้าหันมาใช้คิวอาร์โค้ด จะเป็นประโยชน์ต่อพ่อค้าแม่ค้าเอง เพราะพ่อค้าแม่ค้าไม่เหมือนมนุษย์เงินเดือน ไม่มีสลิปเงินเดือน ไม่มีหลักฐานทางการเงิน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

“หากใช้การชำระสินค้าผ่านคิวอาร์โค้ด จะมีเรกคอร์ด หรือข้อมูลทางการเงินเก็บไว้ว่าเขามีรายได้ และในอนาคตจะชำระเงินเป็นรายวันได้ เช่น ถ้ากู้เงิน 1 แสนบาท ผ่อนชำระวันหนึ่งแค่ 66 บาท พ่อค้าแม่ค้าสามารถชำระได้ ระบบจะตัดเงินเอง สถาบันการเงินเองให้กู้ได้อย่างสบายใจ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการติดตั้งคิวอาร์โค้ดให้กับพ่อค้าแม่ค้าไปแล้วประมาณ 2-3 หมื่นราย จากเป้าหมาย 1 แสนรายทั่วประเทศในปีนี้ โดยเน้นกลุ่มที่มีรายได้น้อย มีหนี้นอกระบบ และผู้ถือบัตรสวัสดิการรัฐ”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว