ยกคําร้อง ‘วิโรจน์’ เปิดทางAQประมูลที่

09 มี.ค. 2561 | 06:28 น.
ศาลยกคำร้อง “วิโรจน์” ยันบอร์ดประเมินราคาที่ดินตามระเบียบ หาคน “สู้ราคา” ไม่ต้องรอกรมธนารักษ์แก้ไข ด้านกรมบังคับคดีรอ “กรุงไทย” ส่งสัญญาณเดินหน้าขายทอดตลาดที่ดินกว่า 215 แปลง

ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาให้คดีถึงที่สุด โดยธนาคารกรุงไทย เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ยึดทรัพย์หลักประกันและประกาศขายทอดตลาดบมจ.เอคิวเอสเตท (AQ) หรือ บมจ.กฤษดามหานคร หรือ KMC ผ่านกรมบังคับคดี จำนวน 4 ครั้ง (ครั้งที่ 1 วันที่ 27 ธันวาคม 2560 ครั้งที่ 2 วันที่ 17 มกราคม 2561 ครั้งที่ 3 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ และครั้งที่ 4 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561)

ต่อมานายวิโรจน์ นวลแข ในฐานะผู้ร้อง ได้ยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาดที่ดินทั้ง 215 แปลง เนื่องด้วยการประกาศขายที่ดินไม่พร้อมกัน ทำให้เกิดการกำหนดราคาไม่เหมาะสม ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้นัด ไต่สวนคำร้องในวันที่5และ8 มีนาคม 2561 และให้งดการบังคับคดี

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา องค์คณะผู้พิพากษา ศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดไต่สวนคำร้องผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ทนายธนาคารกรุงไทย เจ้าพนักงานบังคับคดี และผู้รับมอบฉันทะทนายจำเลย โดยภายหลังศาลสอบถามเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว ปรากฏว่าการประเมินราคาที่ดินได้กระทำโดยคณะกรรมการถูกต้องตามระเบียบแล้วและในการประกาศขายทอดตลาดครั้งต่อไป เจ้าพนักงานบังคับคดีจะประกาศขายรวมที่ดินที่ยึดเพิ่มอีก 2 แปลงตามคำร้องขอของผู้ร้อง แต่ผู้ร้องยังคงติดใจเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับราคาประเมินที่ดินที่ได้ยื่นคำร้องขอให้กรมธนารักษ์ทบทวนแก้ไขราคาประเมินเท่านั้น

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ ทั้งนี้ ศาลมีความเห็นว่า การประเมินราคาทรัพย์สินตามคำร้องขอให้กรมธนารักษ์ทบทวนและแก้ไขราคาประเมินที่ดินนั้น เป็นเพียงการประมาณราคาในเบื้องแรก เพื่อประโยชน์ต่อการขายทอดตลาดเท่านั้น ซึ่งราคาประเมินอาจไม่ตรงกับราคาที่แท้จริง แต่ไม่ใช่หลักเกณฑ์ตายตัวที่ผูกมัดในการบังคับคดี แต่ขึ้นอยู่กับผู้เข้าสู้ราคาว่าจะให้ราคาสูงสุดเพียงใด หากผู้ร้องเห็นว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ตํ่าไปจะหาผู้เข้ามาสู้ราคาให้ราคาสูงสุดได้

ดังนั้น ราคาประเมิน ของกรมธนารักษ์จะเป็นประการใดจึงไม่ใช่สาระสำคัญ จึงให้ยกคำร้อง

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขั้นตอนต่อไป ขึ้นอยู่กับธนาคารกรุงไทยผู้เป็นโจทก์จะติดต่อกรมบังคับคดี เพื่อเริ่มกระบวนการอย่างไร เนื่องจากที่ผ่านมาเจ้าพนักงานบังคับคดีได้งดการขายทอดตลาดที่ดินหลักประกันดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามที่ธนาคารกรุงไทยขอให้ศาลมีคำสั่งงดการขายทอดตลาด

“ในส่วนของกรมบังคับคดีพร้อมที่จะเริ่มกระบวนการขายทอดตลาดต่อไป เพียงแต่ต้องรอทางธนาคารกรุงไทยเป็นผู้เข้ามาตั้งเรื่องหรือบอกกล่าวให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการอย่างไร”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว