‘เซ็นทรัล’พลิกกลยุทธ์ อัดงบลงทุน 5 ปี 2 แสนล. จับมือพันธมิตรสยายปีกไทย-เทศ

10 มี.ค. 2561 | 14:32 น.
เปิดยุทธศาสตร์ “เซ็นทรัล กรุ๊ป” 5 ปีทุ่มงบกว่า 2 แสนล้านปักหมุดขยายธุรกิจเต็มสตีมทั้งในและต่างประเทศ วาดเป้ายอดขายทะลุ 8 แสนล้านบาท ชูกลยุทธ์ Alliance-M&A ต่อยอดธุรกิจ พร้อมทรานส์เฟอร์สู่ “Tech Company”

การเดินหน้าลงทุนของกลุ่มเซ็นทรัลด้วยเม็ดเงิน 3-4 หมื่นล้านบาทต่อปีสร้างความเชื่อมั่น และเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี วันนี้เซ็นทรัลประกาศแผนธุรกิจในการก้าวสู่ “นิวเซ็นทรัล, นิวอีโคโนมี” (NEW CENTRAL, NEW E-CONOMY) ทั้งในด้านเทคโนโลยี และผู้นำดิจิ-ไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์ม (Market Leader in Digi-Lifestyle Platform) อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อฝ่าสึนามิดิจิตอลที่กำลังถาโถมเข้ามา พร้อมใช้เป็นโอกาสในการสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ

นายทศ จิราธิวัฒน์ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เปิดเผยว่า เพื่อรองรับการแข่งขันในโลกธุรกิจที่มีการเปลี่ยน แปลงอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยี ส่งผลให้เกิดการแข่งขันจากผู้เล่นหน้าใหม่ วันนี้กลุ่มเซ็นทรัลต้องลุกขึ้นมาปรับแผนธุรกิจ ทรานส์ฟอร์มตัวเองให้กลายเป็นเทค คัมปะนี (Tech Company) โดย 5 ปีนับจากนี้ (ปี 2561-2565) บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท ในการดำเนินธุรกิจ ขยายการลงทุนในกลุ่มต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้ในอีก 5 ปีข้างหน้าไม่ตํ่ากว่า 8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวจากปีนี้

MP36-3346-A โดยการก้าวสู่การเป็นนิว เซ็นทรัล และการพัฒนาดิจิ-ไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์มเริ่มต้นขึ้นแล้วคาดว่าจะมีความชัดเจนสมบูรณ์ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยผลักดันให้บริษัทเป็นองค์กรที่มีเทคโนโลยีลํ้าสมัย และเป็นบริษัทออนไลน์ชั้นนำ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแบบไลฟ์สไตล์ ออนดีมานด์ โดยกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจได้แก่ การผนึกกับพันธมิตร (Alliance) ระดับโลกในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นเจดีดอทคอม ในการร่วมทุนรุกตลาดออนไลน์ พร้อมเปิดตัวมาร์เก็ตเพลสแห่งใหม่ในชื่อ JD.co.th ในเดือนพฤษภาคมนี้, การร่วมกับอิเกีย เปิดตัวสาขา 2 ที่เซ็นทรัล พลาซา เวสต์เกต, ร่วมกับดุสิตธานี กรุ๊ป พัฒนาบิ๊กโปรเจ็กต์บนถนนสีลม-พระราม 4 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนไม่ตํ่ากว่า 2.5 หมื่นล้านบาท และพันธมิตรรายล่าสุดฮ่องกงแลนด์ ที่จะร่วมกันสร้างโครงการมิกซ์ยูส ใจกลางกรุงเทพฯ บนถนนเพลินจิต หรือสถานทูตอังกฤษเดิม ด้วยเม็ดเงินลงทุนไม่ตํ่ากว่า 2.5 หมื่นล้านบาทเช่นกัน (ไม่รวมค่าที่ดิน)

“นับจากนี้กลุ่มเซ็นทรัลจะให้นํ้าหนักไปยัง 2 บิ๊กโปรเจ็กต์คือ ดุสิตธานีและสถานทูตอังกฤษ ซึ่งเป็นโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพฯ เป็นซูเปอร์โปรเจ็กต์ ด้วยขนาดพื้นที่ที่ใกล้เคียงกัน ตั้งอยู่ไม่ไกลกัน ทำให้ต้องทำการบ้านอย่างหนัก ว่าจะสร้างจุดขายอะไรที่แตกต่างกัน เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ตํ่ากว่า 2.5 หมื่นล้านบาทต่อโครงการ” นายทศกล่าวและว่า

วันนี้เซ็นทรัลเริ่มพูดคุยกับฮ่องกงแลนด์แล้ว แต่การจะพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ต้องใช้เวลาในการศึกษา ออกแบบต้องใช้เวลาไม่ตํ่ากว่า 2 ปี ส่วนจะเริ่มสร้างเมื่อไรยังตอบไม่ได้ขณะที่การเดินหน้าโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ของภาครัฐนั้น

นายทศ ยํ้าว่า เป็นโครง การที่ดีที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต การสนับสนุนในด้านอุตสาหกรรมส่งผลต่อเนื่องมายังภาคบริการ ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น การใช้จ่ายในภาคค้าปลีก รวมถึงการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้มองเห็นโอกาสในการเติบโตและผลักดันให้ EEC เป็นกรุงเทพฯแห่งที่ 2 ได้ ดังนั้นโจทย์ของกลุ่มเซ็นทรัลคือ จะทำอย่างไรเพื่อต่อยอดธุรกิจในนี้ได้

บาร์ไลน์ฐาน สำหรับในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมียอดขายรวม 3.97 แสนล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 14% โดยบริษัทเตรียมใช้เงินลงทุน 4.75 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.8% จากปีก่อน สำหรับการดำเนินธุรกิจและขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศต่อเนื่อง โดยธุรกิจที่จะเปิดให้บริการในปีนี้ อาทิ ท็อปส์ พลาซา พะเยา, เซ็นทรัลเวิลด์โฉมใหม่, โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ อมตะชลบุรี, เซ็นทรัล ภูเก็ต, เซ็นทารา เวสต์เบย์ เรสซิเดนซ์และสวีท โดฮา ประเทศกาตาร์, ห้างสรรพสินค้าเซน สาขาป่าตอง ภูเก็ต, ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ไอซิตี้ ประเทศมาเลเซีย รวมถึงการเปิดร้านค้าต่างๆ ในประเทศเวียดนาม เป็นต้น

นายทศ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดีบริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการควบรวมและการซื้อกิจการ (Mergers and Acquisitions : M&A) โดยในปีนี้จะเห็นกลุ่มเซ็นทรัล เข้าควบรวมหรือซื้อกิจการขนาดใหญ่อีกอย่างน้อย 2 โครงการ ซึ่งจะมีมูลค่าต่อโครงการในหลักหมื่นล้านบาทขึ้นไป ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาซึ่งมีทั้งโครงการในและต่างประเทศ โดยบริษัทให้ความสนใจในการขยายธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจอี-โลจิสติกส์ (E-Logistics) และอี-ไฟแนนซ์ (E-Finance) โดยกลุ่มเซ็นทรัลมุ่งหน้าสู่การเป็นบริษัทฟินเทค (Fintech) เต็มตัว ให้บริการด้านการเงินอย่างครบวงจร (One stop - integrated financial system) ครอบคลุมทั้งบริการอี-เพย์เมนต์ (E-Payment) และอี-ไฟแนนเชียล (E-Financial) สำหรับทั้งลูกค้า และซัพพลายเออร์ และเพื่อให้การพัฒนาดิจิ-ไลฟ์สไตล์แพลตฟอร์ม เป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว