ดีลเลอร์ใหญ่บุกรถเช่า ขายรถใหม่กำไรน้อย-โตโยต้า ฮอนด้า ชิงเค้ก 4 หมื่นล้าน

10 มี.ค. 2561 | 00:34 น.
อานิสงส์ธุรกิจท่องเที่ยว-เศรษฐกิจโต ส่งตลาดรถเช่าระยะสั้นคึกคัก บรรดาดีลเลอร์รถยนต์รายใหญ่โดดแย่งส่วนแบ่งการตลาดหวังต่อยอดธุรกิจการขายรถใหม่ “ฮอนด้า พระราม 3 ” กางแผน 5 ปี ส่ง “ชิค คาร์เร้นท์” พร้อมเพิ่มรถในพอร์ตถึง 2,200 คัน ด้าน “โตโยต้า แอท ยูไนเต็ด” ชูบริการแอพพลิเคชันผ่านแบรนด์ “เอแซ็ป” เด้งรับคาร์แชริ่ง ให้ลูกค้าจ่ายตามการใช้งานจริง

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าตลาดรถเช่าในปี 2561 จะมีมูลค่า 4.5-4.59 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มี 4.25 หมื่นล้านบาท โดยรถเช่าระยะยาวครองส่วนแบ่งกว่า69% และรถเช่าระยะสั้น 31%ขณะที่แนวโน้มการเติบโตในปีนี้มาจากเศรษฐกิจที่ดีขึ้น การเดินหน้าโครงการต่างๆของภาครัฐ ทำให้นักลงทุนมั่นใจ มีการใช้เงินจับจ่ายใช้สอย และอีกปัจจัยสำคัญคือ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามายังไทยมากขึ้น

ด้วยทิศทางธุรกิจที่ส่งสัญญาณในเชิงบวก ทำให้ผู้ประกอบการเตรียมแผนรับมือ ทั้งรายใหญ่ที่ครองส่วนแบ่งตลาดรถเช่าระยะยาว และรายใหม่ที่พยายามตีกินตลาดรถเช่าในระยะสั้น ล่าสุดยังเห็นความเคลื่อนไหวจากดีลเลอร์รถยนต์รายใหญ่ของ “โตโยต้า” และ “ฮอนด้า” ที่ลงทุนธุรกิจนี้อย่างจริงจัง หลังสถานการณ์การขายรถใหม่แข่งขันกันดุเดือด หรือเหลือกำไรต่อคันน้อย จึงต้องหวังพึ่งรายได้จากบริการหลังการขาย และธุรกิจรถเช่า

MP32-3346-AA “การแข่งขันในตลาดรถเช่า โดยเฉพาะระยะยาวที่มีสัดส่วนเกือบ 70% เป็นตลาดที่แข่งขันสูง เพราะมีผู้เล่นรายใหญ่อยู่แล้ว และรายใหม่ก็มีเข้ามาต่อเนื่อง ส่วนตลาดรถเช่าระยะสั้น มีสัดส่วนประมาณ 30% นั้นได้รับอานิสงส์จากนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีโครงการอีอีซี และภาพรวมเศรษฐกิจก็ดี ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้เกิดความต้องการใช้รถเช่าระยะสั้น แต่ปัจจุบันจำนวนรถเช่าที่มีสำนักงานอยู่ในสนามบิน มีเพียง 8-9 บริษัทเท่านั้น ซึ่งถือว่ายังไม่เพียงพอกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา” นายเกียรติ ตั้งตรงศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พระราม 3 กรุ๊ป ฮอนด้า จำกัด กล่าวและว่า

นอกเหนือความต้องการที่มีมากขึ้นแล้ว ปัจจัยที่ทำให้พระราม 3 กรุ๊ป เข้ามารุกในธุรกิจรถเช่าภายใต้ชื่อ “ชิค คาร์เร้นท์” (Chic Car Rent) เพื่อเติมเต็มหน่วยธุรกิจของบริษัทให้ครบวงจร ตั้งแต่การขายรถใหม่-รถมือสอง-รถเช่า-ธุรกิจประกันภัย ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจเดียวกัน

ปัจจุบันชิคคาร์เร้นท์ มีรถเช่าอยู่ในพอร์ต 900 คัน และในปี 2561 มีแผนที่จะเพิ่มรถเป็น 1,300 คัน พร้อมทั้งขยายสาขาเพิ่มอีก 4 แห่งได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา, สนามบินหาดใหญ่, สนามบินสมุยและสนามบินกระบี่ คาดว่าเม็ดเงินลงทุนทั้งหมดในปีนี้จะอยู่ที่ 500 ล้านบาท

“ปีนี้จะซื้อรถเข้ามาเพิ่มในพอร์ต โดยรถที่ซื้อยังเน้นฮอนด้า และเป็นรถเครื่องยนต์ขนาด 1,200 -1,500 ซีซี เพราะได้รับความนิยมจากลูกค้าทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวจากจีน เนื่องจากราคาไม่แพง เริ่มต้นประมาณ 800 บาท ส่วนลูกค้าจากยุโรป จะเน้นรถคอมแพ็กต์คาร์ เครื่องยนต์ใหญ่ขึ้นมาหน่อย อาทิ ฮอนด้า ซีวิค หรือฮอนด้า แอคคอร์ด”

บาร์ไลน์ฐาน นายเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายของบริษัทภายใน 5 ปีนี้ (2561- 2565) คือการเพิ่มจำนวนรถในพอร์ต 2,200 คัน และเพิ่มจำนวนสาขาประมาณปีละ 4 แห่ง นอกจากนั้นแล้วจะพัฒนาเว็บ ไซต์, แอพพลิเคชัน, การบริการ และมีทำตลาดผ่านดิจิตอล มาร์เก็ตติ้ง มีการโปรโมตเพื่อให้ลูกค้าได้เห็นแบรนด์ และเห็นโปรโมชัน โดยชิคคาร์เร้นท์ คาดว่าจะมีรายได้ในปี 2561 ประมาณ 300-400 ล้านบาท เติบโต 40% เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่ทำได้ 220 ล้านบาท

ด้านดีลเลอร์รายใหญ่อีกหนึ่งเจ้าอย่าง “โตโยต้า แอท ยูไนเต็ด” ที่เดิมมีธุรกิจรถเช่าระยะยาวมาตั้งแต่ปี 2549 ต่อมาในปี 2558 ก็กระโดดเข้าร่วมวงธุรกิจรถเช่าระยะสั้น ภายใต้ชื่อ เอแซ็ป ASAP

สำหรับเอแซ็ป แม้จะเป็นน้องใหม่ในธุรกิจรถเช่าระยะสั้น แต่กลยุทธ์การตลาดได้นำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นจุดขาย โดยปีที่ผ่านมาเปิดตัว “เอแซ็ป โก” ที่มีแนวคิดแบบคาร์แชริ่ง คิดค่าบริการตามการใช้งานจริง โดยลูกค้าเพียงดาวน์โหลดแอพ และกำหนดเวลาที่จะใช้รถ ซึ่งเอแซ็ปโกจะมีจุดจอดรถที่ให้บริการในตึกออฟฟิศย่านกลางเมือง ปัจจุบันมีจุดจอดรถ 30 - 40 แห่ง และในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 100 แห่ง

“เราพบว่าลูกค้าที่ใช้เอแซ็ป โก เป็นลูกค้าที่ชอบความอิสระ และต้องการความสะดวกสบาย ส่วนการใช้งานส่วนใหญ่ก็มีข้ามวันบ้าง ซึ่งเราจะมีเรตราคาพิเศษ กลางวัน/กลางคืน และในอนาคตเราจะพัฒนาเอแซ็ปโกในเวอร์ชัน 2 - 3 ออกมาอีกเรื่อยๆ” นายทรงวิทย์ ฐิติปุญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซินเนอร์เจติค ออโต้ เพอร์ฟอร์มานซ์ จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจรถยนต์ให้เช่า ภายใต้แบรนด์ เอแซ็ป กล่าวและว่า

ส่วนกลยุทธ์การตลาดในปีนี้ จะจับมือกับผู้พัฒนาแอพพลิ เคชันเพื่อนำเสนอการเช่าในรูปแบบใหม่ๆ ขณะที่รูปแบบการเจาะกลุ่มลูกค้าตามช่องทางปกตินั้น ในปีนี้จะจับมือกับพาร์ตเนอร์ที่เป็นทัวร์ โอเปอเรเตอร์จากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น จีน และฝั่งยุโรป

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2 “สัดส่วนลูกค้าที่จองรถเช่าเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากมีการจับมือกับพันธมิตร และคาดว่าอีก 3-6 เดือนอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว โดยปัจจุบันสัดส่วนของผู้เช่ารถ 80% เป็นคนไทย และต่างประเทศ 20% แต่ภายในสิ้นปีนี้เราคาดว่าสัดส่วนของผู้เช่าจะปรับเปลี่ยนเป็น 50% : 50%”

ปัจจุบันเอแซ็ป มีจำนวนรถเช่าประมาณ 400-500 คัน จนถึงสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 1,000 คัน ส่วนจำนวนสาขาที่ให้บริการมีจำนวน 7 แห่ง ในอนาคตภายใน 5 ปีมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสาขา 30 - 40 แห่ง และเดือนเมษายนจะมีการเปิด ASAP Auto Park รูปแบบคอมมิวนิตี มีร้านค้า ร้านอาหาร โชว์รูมรถเช่าระยะสั้น โชว์รูมรถมือ 2 และ ศูนย์บริการหลังการขายแบบครบวงจร และในอนาคตจะขยายและขายแฟรนไชส์ ASAP Auto Park

ดีลเลอร์รายใหญ่อีกหนึ่งเจ้า “เอ็มจีซี-เอเชีย” ที่ขายทั้ง บีเอ็มดับเบิลยู, มินิ, นิสสัน, ฮอนด้า ก็มีธุรกิจรถเช่า ภายใต้ชื่อมาสเตอร์ คาร์ เร้นเทิล (ระยะยาว ), Sixt Rent a Car (ระยะสั้น) มีรถในพอร์ตประมาณ 4,000 - 4,500 คัน โดยกลยุทธ์ในปีนี้จะขยายสู่อาเซียน หลังจากปีที่ผ่านมาเข้าไปเปิดสาขาที่ลาว และมาเลเซีย ในปีนี้ตั้งเป้าจะเปิดเพิ่มอีก 2 แห่ง

นอกจากดีลเลอร์ 3 รายใหญ่ที่กล่าวมาแล้ว ยังมี “สตาร์ แฟลก” ที่ขายเมอร์เซเดส-เบนซ์ ก็มีธุรกิจหลักคือรถเช่า ภายใต้แบรนด์ “ไทยเร้นท์ อะคาร์” ซึ่งปีนี้เตรียมฉลอง 40 ปี ด้วยการจัดกิจกรรมและอัดโปรโมชันเพียบ

ด้วยธุรกิจรถเช่าที่มูลค่าระดับ 4.59 หมื่นล้านบาทต่อปี จึงไม่แปลกที่ตลาดนี้จะหอมหวนชวนแข่งขัน ทว่าผู้ประกอบการรายใหญ่หรือรายใหม่ ยังต้องพัฒนาเครื่องมือที่จะนำมาใช้ในการขาย การบริการ และระบบหลังบ้าน อย่างต่อเนื่องหรือพร้อมลงทุนในแพลตฟอร์มดิจิตอล หากหวังปักหลักบนเส้นทางนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว