ไม่ปัง!! พรรคใหม่หน้าเดิม หวังส.ส.บัญชีรายชื่อ

09 มี.ค. 2561 | 08:37 น.
วันแรกของการขอจดจองตั้งพรรคการเมืองใหม่ ปรากฏมีผู้ให้ความสนใจแห่จอง ชื่อพรรคมากถึง 42 พรรค ซึ่งเหลือเวลาจองถึงปลายเดือนมีนาคมนี้ หากจะลงเลือกตั้งครั้งหน้า คาดว่าจะมีกลุ่มการเมืองทยอยมาจดแจ้งอีกเรื่อยๆ ขณะที่ปัจจุบันมีพรรคการเมืองที่จดทะเบียนแล้ว 69 พรรค

++แค่กลุ่มนักเลือกตั้งหน้าเดิม
นายทวี สุรฤทธิกุล รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) วิเคราะห์ถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ไม่ถือว่าเป็นปรากฏ การณ์ใหม่ เพราะตั้งแต่ปี 2489 ครั้งแรกที่มีกฎหมายพรรคการเมือง มีตั้งใหม่กว่า 20 พรรค แต่เหลือแค่พรรคประชาธิปัตย์พรรคเดียว ต่อมาช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ การเลือกตั้งปี 2518 มี 20-30 พรรค และก่อนพรรคต่างๆ ถูกยุบก็มีราว 70 พรรค ซึ่งสะท้อนการเมืองไทยไม่ได้เป็น กลุ่มก้อนพรรคการเมืองที่แท้จริง แต่เป็นกลุ่มนักเลือกตั้ง เป็นกลุ่มผู้ที่จะลงเลือกตั้งเท่านั้น ไม่มีอุดมการณ์แปลกใหม่อะไร ทุกพรรคจะมีส.ส.เก่าเกือบทั้งหมด รวมทั้งพรรคที่รวบรวมคนใหม่ มีการกวาดต้อนเอาคนเก่ามาร่วมเพราะมีอดีตส.ส.ร่วมด้วยจะได้เปรียบมาก

“เราจะเห็นปรากฏการณ์อย่างนี้ก่อนเลือกตั้ง ไม่ใช่แรงกดดันอยากเลือกตั้ง เพียงแค่มีโอกาสก็เสนอตัวเข้ามา น่าเสียดายที่ไม่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนมากกว่านี้ การมีพรรคเล็กพรรคน้อยทำให้เป็นจุดอ่อนแอของการเมืองไทย เพราะพรรคเล็กพรรคน้อยจะถูกกวาดต้อน หรือเสนอตัวร่วมรัฐบาลเพื่อเลือกนายกฯ จะให้เกิดการละทิ้งอุดมการณ์แล้วเข้าร่วมกับใครก็ได้ ไม่มีอะไรให้ประชาชนเป็นที่พึ่งได้”

บาร์ไลน์ฐาน ++พรรคเล็กหวังส.ส.บัญชีรายชื่อ
ทั้งนี้พ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับใหม่ ไม่ได้เอื้อให้เกิดพรรค การเมืองใหม่มากขึ้น แต่ตรงข้ามทำให้การตั้งพรรคยากขึ้น ต้องลงเงิน 1 ล้านบาท ต้องหาสมาชิกกระจายให้ทั่วประเทศ แม้แต่ไพรมารีโหวตก็ทำให้ยุ่งยากมากขึ้น รวมทั้งการรีเซตสมาชิกพรรค ต้องให้เสร็จภายในเดือนนี้ ต้องรายงาน กกต. ภายในวันที่ 1 เมษายนนี้ เป็นมาตรการทำให้พรรคการเมืองบริหารยาก ไม่ได้ส่งเสริมพรรคการเมือง แต่ส่งเสริมผู้กุมอำนาจ คือ กกต. เป็นเครื่องมือผู้ที่เขียนกฎหมายฉบับนี้ แม้ กกต.ค้านและตนซึ่งร่วมประชุมด้วยก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะเป็นเสียงข้างนอก

ขณะที่ร่างพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และร่างพ.ร.บ.ที่มาส.ว. ก็ไม่ต่างกัน ในทางปฏิบัติพรรค การเมืองทำงานยากลำบาก การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นก็ทำยากลำบากมาก พรรคต่างๆ ก็จะส่งนอมินีของตนเอง เพราะพรรคขนาดใหญ่เมื่อได้เขตเต็มแล้วก็จะกระจายไปบัญชีรายชื่อไปสู่พรรคเล็ก ที่เห็นพรรคเล็กเกิดขึ้นเยอะ เพราะหวังจะได้ใบบุญจากบัญชีรายชื่อ ที่มีคะแนนเป็น กลุ่มเป็นก้อน

[caption id="attachment_265763" align="aligncenter" width="289"] ทวี สะท้อนว่า ทวี สุรฤทธิกุล[/caption]

 

++คาดกปปส.ได้10-15ที่นั่ง
นายทวี สะท้อนว่า ที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่และน่ายินดีคือ มีคนรุ่นใหม่เสนอมาลงเลือกตั้ง ส่วนจะมาเพื่อต่อต้าน คสช. หรือไม่ คิดว่าคงมีส่วนต้าน คสช. ที่เห็นชัดๆ คือ “กลุ่มนิติราษฎร์” ที่ประกาศจะต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ถ้ากลุ่มนี้มีอุดมการณ์เป็นประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ได้แอบแฝง ไม่ได้เป็นนอมินี หรือที่มีคนบอกว่า “รับจ้างด่า” ก็ถือ ว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี เพราะคำว่าสร้างประชาธิปไตย เป็นคำที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์อยากให้เกิดขึ้น ขอให้สู้จริงและทำลายล้างเผด็จการให้ได้ ควรมีคนรุ่นใหม่เข้ามาจุดประกายช่วยสังคม

ขณะเดียวกัน กลุ่มการเมืองมีทั้ง กลุ่มต้าน คสช. และกลุ่มหนุน คสช.ซึ่งมี 2 แนวคิด คือ หนุนสุดฤทธิ์ อีกกลุ่มดูท่าที กลุ่มนี้จะเยอะ โดยเฉพาะพรรคใหญ่ๆ อาทิ ประชาธิปัตย์ อาจจะหนุน คสช.ก็ได้ ส่วนพรรค กปปส.ก็เป็น ส่วนหนึ่งของพรรคประชาธิปัตย์ เรียกว่าแยกกันเดิน รวมกันสู้ คิดว่า กปปส.จะได้คะแนนเยอะ อาจจะไม่ได้จากเขตเลือกตั้งมาก แต่จะได้กระจายเสียง น่าจะได้ประมาณ 10-15 คน ซึ่งหัวหน้าพรรคไม่จำเป็นต้องเป็นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อาจจะเป็นนายธานี เทือกสุบรรณ หรือจะเลือกคนรุ่นหนุ่มก็อาจจะเป็น นายเอกณัฐ พร้อมพันธุ์ คนก็รู้อยู่แล้วว่านายสุเทพ ไม่ลงเลือกตั้งเพราะถ้าลงเลือกตั้งทั้งนายสุเทพ และ กปปส. ก็เสียทั้งหมด

“ก็ต้องดูว่าในวันเลือกตั้งจะนัวเนียมาก หาเสียงก็จะยิ่งยาก คิดว่าทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่ที่สุดจะมีประมาณ 70-80 พรรค เพราะตอนนี้ดูเหมือนมีเยอะ แต่ กกต.จะต้องคัดกรอง มีบางพรรคที่ยังไม่เรียบร้อย ต้องรอหลังเลือกตั้งก็ได้ ทำให้เหลือ 30-40 พรรค ทำให้พรรคที่ต่อสู้กันเข้มข้น กกต.ก็ต้องควบคุมอย่างหนัก การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่รู้ไผเป็นไผ”

[caption id="attachment_265761" align="aligncenter" width="263"] โคทม อารียา โคทม อารียา[/caption]

++แห่ตั้งพรรคใหม่เรื่องปกติ
นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล และอดีต กกต. ให้ความเห็นว่า พรรค การเมืองในการเลือกตั้งในปี 2562 ทั้งพรรคที่มีอยู่เดิมและพรรคตั้งใหม่ น่าจะมีราว 70-80 พรรค ถือว่าเป็นปกติของการเมืองไทย แต่มีส่วนที่น่าจับตา 2-3 ประเด็น คือ 1. จะมีการแปลงขบวนการทางสังคมเข้าสู่การเป็นพรรคการเมือง ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนเหมือนขบวนการทางสังคมหรือไม่ เช่น การเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เคยมีนายสมศักดิ์ โกศัยสุข ตั้งพรรคการ เมืองใหม่ เป็นผู้ที่รู้จักกันดีในฐานะเป็นผู้นำสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) แต่ไม่ได้รับความเห็นพ้องจากประชาชนนัก

ขณะที่ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ มีคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เกิดขึ้นและดูเหมือนว่าจะตั้งพรรคมวลมหาประชาชนฯ แต่คิดว่าคงไม่ได้แรงหนุนเป็นเอกชนมากนัก เพราะนายสุเทพ ประกาศไม่เล่นการเมือง

2. กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จนขณะนี้ยังนิ่ง ไม่มีข่าวว่าจะตั้งพรรค และ 3. มีการเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองที่จะสนับสนุน คสช. คาดว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.คงไม่สนใจที่จะอยู่ในรายชื่อของพรรคการเมือง เพราะถ้ามีรายชื่อก็เหมือนออกมาเพื่อตั้งพรรค แล้วยอมให้มีการเสนอชื่อให้เป็นว่าที่นายกฯของพรรคการเมืองหนึ่งพรรค การเมืองใด

“ผมคิดว่าท่าที พล.อ. ประยุทธ์ คงประมาณว่าใครจะสนับสนุนก็ทำไปแต่ไม่ต้องเสนอชื่อก็ได้ รอเสนอให้เป็นนายกฯคนนอกผมก็ไม่ปฏิเสธ คิดว่าน่าจะออกมาแนวนี้มากกว่า จึงต้องจับตาดูพรรคที่ประกาศตัวสนับ สนุน พล.อ.ประยุทธ์ จะมีมากน้อยแค่ไหน จะได้รับการหนุนจาก คสช. และจากข้าราชการ จริงหรือไม่”

[caption id="attachment_265759" align="aligncenter" width="324"] รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก[/caption]

++อัดอั้นกับกรอบการเมือง คสช.
รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก ที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้ความเห็นต่อปรากฏการณ์แห่จัดตั้งพรรคใหม่ว่า หากดูผิวเผินคงไม่บ่งบอกอะไรเพราะแต่ละครั้งที่เปิดให้จัดตั้งพรรคใหม่ก็จะเป็นเช่นนี้ แต่ถ้าหากมองถึงบรรยากาศและพลวัตทางการเมือง ปรากฏการณ์นี้มีความน่าสนใจหลายประการ

ประการแรก คือ ประชาชนอัดอั้นกับการอยู่ภายใต้กรอบทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยากจะมีความเปลี่ยนแปลงจึงแห่ออกมาขอจดจัดตั้งพรรคการเมืองจำนวนมาก

ประการที่ 2 คือ ระบบจัดตั้งพรรคที่เปิดโอกาสให้เข้ามาทำงานทางการเมืองได้ง่ายขึ้น ประการที่ 3 คือ ขั้วการเมืองต่างๆ การมีจำนวนพรรคใหม่ที่สุดท้ายแล้วอาจจะมีมากกว่า 100 พรรค อาจจะเป็นกลลวง เป็นการโยนหิน บางส่วนก็อาจจะช่วยในการหาสมาชิก ส.ส.แล้วนำรวมกัน อีกส่วนอาจคิดว่าทำตรงนี้ไปจับผลัดจับผลูได้เข้าไปทำงานทางการเมือง สุดท้าย คือ การขับเคลื่อนของกลุ่มต่างๆ ทางการเมืองที่บางส่วนก็เป็นกลุ่มเดิม บางส่วนเป็นนักวิชาการ เป็นข้าราชการก็อาจจะมีแฝงอยู่ รวมถึงในส่วนของภาคประชาชนที่มีมาเรื่อยๆ ก็ทำให้คนเหล่านี้อยากเข้ามาทำงานทางการเมือง อาทิ พรรคกรีน เป็นต้น

ถามว่าพ.ร.บ.พรรคการ เมืองฉบับใหม่มีส่วนสร้างแรงจูงใจให้มีการจัดตั้งพรรคหรือไม่ คงไม่ใช่ เพราะทั้งการจัดตั้งโครง สร้าง ข้อบังคับ การคัดสรร การลงสมัคร รวมถึงการวางนโยบายต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย สมาชิกต้องมีทุนประเดิมโดยรวม “ไม่ใช่ตีหัวเข้าบ้าน” สุดท้ายจากพรรคการเมืองทั้งหมดที่มาจดจัดตั้งเหลือ 5-10% ก็เก่งแล้ว

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1 การจัดตั้งพรรคใหม่จำนวนมากไม่มีส่วนสำคัญหรือสัมพันธ์กับคุณภาพของทางการเมือง แต่อยู่ที่บรรดาพรรคเหล่านี้ทำแล้วได้เรื่องได้ราวจริง ดังเช่น การนำเสนอนโยบายที่บ้านนี้เมืองนี้ต้อง การ ไม่ใช่เอาของต่างประเทศมา เหมือนกับรัฐธรรมนูญที่เอาของประเทศนั้นประเทศนี้มา ต้องเป็นเหล้าใหม่ใส่ขวดใหม่ แต่ถ้ายังทำตัวแบบเดิมก็คงไม่ต่างไปจากขวดใหม่กับเหล้าเก่า หรือขวดใหม่ใส่นํ้าที่ถ้าไม่ใช่แค่นํ้าไม่ดีแต่กลับเป็นนํ้าเสีย เราคงต้องรอดูเรื่องของนโยบายที่จะออกมา สมาชิกพรรค การหาเสียงและการคัดสรรสมาชิก ส.ส. เลยไปถึงการทำงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

การพัฒนาที่ผ่านมาไม่ได้ไปสร้างให้ประชาชนทำงานผ่านพรรคการเมืองโดยตรง ส่วนใหญ่จะใช้ประชาชนเป็นฐาน หาประโยชน์จากประชาชน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุด คือ ประชาชนต้องตื่นรู้ ไม่ฝากอนาคตไว้กับพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ต้องเป็นสมาชิกพรรคก็ได้ แต่ใช้สิทธิเลือกตั้งที่ดี พิจารณาให้ถี่ถ้วน หากเห็นว่าไม่เหมาะสมก็ไม่ต้องเลือกใครเข้าไปทำหน้าที่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว