ด่วนจี๋แค่ 3 นาที...กรอ.ยุคใหม่ อนุญาตนำกากอุตฯออกจากโรงงาน

10 มี.ค. 2561 | 08:30 น.
บทบาทของกรมโรงงานอุตสาหกรรม เดิมประชาชนมองว่า เป็นหน่วยงานตรวจสอบ กำกับโรงงาน ให้เป็นไปตามกฎหมาย 3 ฉบับคือ พ.ร.บ.โรงงาน, พ.ร.บ. วัสดุอันตรายและพ.ร.บ. เครื่องจักร มีหน้าที่ไล่ตรวจสอบกำกับดูแลให้โรงงานทำถูกต้องตามกฎหมาย แต่ปัจจุบันภารกิจของกรมโรงงานฯเปลี่ยนไป โดยเฉพาะภารกิจเร่งด่วนด้านต่างๆที่เริ่มชัดเจนแล้ว “มงคล พฤกษ์วัฒนา” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงรายละเอียดดังกล่าว

++เน้นส่งเสริมอุตสาหกรรม
อธิบดีกรมโรงงานฯยืนยันว่า ปัจจุบันบทบาทของกรมออกมาในรูปของการส่งเสริมอุตสาหกรรมมากขึ้น แนวทางการส่งเสริมที่มีอยู่คือ เนื้องานที่ทำจะต้องส่งเสริมในเรื่องเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการผลิต เทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม หรือด้านความปลอดภัย จะทำอย่างไรให้เราสามารถ นำความรู้เหล่านี้ไปพัฒนาใช้กับโรงงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ที่อยากผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรม 4.0

กรมโรงงานฯ จึงมาปฏิรูปองค์กรของตัวเองก่อนในเรื่องของ กลยุทธ์ในการทำงาน วิธีในการทำงาน ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก็ให้นโยบายว่า จะต้องใช้ระบบสารสนเทศมากขึ้น เช่น การทำอี-ไลเซนส์นำระบบดิจิตอลเข้ามาดูแลเรื่องการอนุมัติต่างๆ ให้เกิดความรวดเร็ว เช่น อนุมัติตั้งโรงงาน การขอต่ออายุโรงงาน ซึ่งกรมมีเรื่องเกี่ยวกับการอนุญาตมากกว่า 40 รายการ ที่ภายในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้จะมีการต่ออายุผ่านระบบไอที สามารถยื่นต่ออายุโรงงานได้ โดยไม่ต้องเข้ามาที่กรมโรงงานฯ

[caption id="attachment_265717" align="aligncenter" width="274"] มงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) มงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)[/caption]

เช่นเดียวกับใบประกอบกิจการโรงงานอื่นๆ กำลังทำและจะแล้วเสร็จตามลำดับ ส่วนการอนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกจากโรงงานให้รวดเร็วขึ้น ปัจจุบันได้ทำโครงการนำร่องให้สามารถทำใบอนุญาตนำออกให้เสร็จภายใน 3 นาที ขณะนี้นำร่องไปแล้ว 12 ราย จากเดิมใช้เวลานาน 3 วันถึง 3 เดือน จะนำมาปฏิบัติเป็นการทั่วไปได้ทั้งหมดในเร็วๆ นี้

“ปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องขออนุญาตด้านต่างๆในระบบ 80,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรงงานจำพวก 3 (โรงงานจำพวกที่ 3 คือ โรงงานขนาดใหญ่ ก่อปัญหามลพิษซึ่งทางราชการต้องควบคุมดูแล ซึ่งจะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการก่อนประกอบการ) ที่น่าจะมีกากอุตสาหกรรมออกจากโรงงานประมาณ 80% ซึ่งทั้งหมดนี้ในช่วงปี 2561จะสามารถทำใบอนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกจากโรงงานได้ภายใน 3 นาที ทั้งหมดก็จะทำให้งานขับเคลื่อนได้สำเร็จโดยในปี 2561 จะทำได้ 100%”

++อีอีซีหนุนโรงงานเกิดใหม่
สำหรับการขออนุญาตตั้งโรงงาน ปัจจุบันแต่ละปีจะมีจำนวน 4,000-5,000 ราย ที่มาขออนุญาตตั้งโรงงาน เติบโตต่อปีไม่เกิน 5% ก็มีทั้งโรงงานที่เลิกไปและโรงงานที่มาขอตั้งใหม่ ฉะนั้นในทุกปีก็คาดหวังอยากจะให้มีผู้ประกอบการภาคการผลิตมากขึ้น พอรัฐบาลเปิดพื้นที่ส่งเสริมภาคการผลิตลงในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ก็หวังว่าจะมีโรงงานผลิตเกิดใหม่มากขึ้น เมื่อระบบโครงสร้างพื้นฐานพร้อม ปี 2561 คาดว่าตัวเลขการเติบโตของคำขออนุญาตตั้งโรงงานน่าจะโตจาก 5% เพิ่มเป็น 10% ต่อปีทั้งนี้กรมโรงงานฯ จะพยายามมุ่งเน้นไปสู่พื้นที่ให้มากที่สุดโดยเฉพาะในพื้นที่ส่งเสริมของรัฐบาล

บาร์ไลน์ฐาน ++เป้าหมายกำจัดกากอุตฯ
ส่วนเป้าหมายในการ นำกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมกล่าวว่า เมื่อปี 2560 มีปริมาณ 2.2 ล้านตัน และกากไม่อันตราย มีจำนวน 30 ล้านตัน ดังนั้นแนวโน้มขยะอันตรายในปี 2561 อาจจะเท่าเดิมหรือลดลง ถ้าการส่งเสริมนำกากอุตสาหกรรมมาใช้ประโยชน์โดยวิธี รียูส รีไซเคิล รีบิลต์ (ลดการเกิดขยะ) ตามหลัก 3R ทำได้ผลก็จะทำให้กากอุตสาหกรรมลดลง เช่นการนำกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบไฟฟ้าชีวมวลมากขึ้น หรือไปสู่การหลอม การคัดแยก การสกัดเพื่อแยกให้ได้โลหะที่มีค่าออกมาใช้ประโยชน์ต่อไป เป็นต้น

สำหรับตัวเลขกากขยะอุตสาหกรรมโดยรวมจะมีจำนวน 32.2 ล้านตัน ในจำนวนนี้จะมีขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่คาดการณ์ว่ามีอยู่ประมาณ 3-4 แสนตันต่อปี เช่น มือถือ ทีวี เครื่องไช้ไฟฟ้าชนิดต่างๆ เป็นต้น ส่วนทีวีอนาล็อก 40 ล้านเครื่องที่วิตกกันว่าจะเป็นขยะที่อยู่ในประเทศในเร็วๆนี้นั้น

อย่าลืมว่าทีวี 1 เครื่อง มีนํ้าหนักไม่ถึง 20 กิโลกรัม ยังไม่ถึง 1 ตัน ฉะนั้นใน 1 ตันนี้อาจจะต้องรวมทีวี 20-30 เครื่อง
ทั้งนี้ปริมาณขยะอิเล็ก ทรอนิกส์ ปัจจุบันกรมควบคุมมลพิษมีกฎหมายควบคุมอยู่แล้ว มีพ.ร.บ.ส่งเสริมการกำจัดซากอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งพ.ร.บ.นี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสนช. กำหนดออกมาเพื่อมากำกับดูแลตรงนี้โดยเฉพาะ ส่วนในแง่ของกระทรวงอุตสาหกรรมก็ส่งเสริมผู้ประกอบการกำจัดซากขยะอิเล็กทรอนิกส์

ซึ่งปัจจุบันเรามีโรงงานประเภทนี้อยู่จำนวน 174 โรงงาน มีทั้งโรงงานที่นำซากเครื่องใช้ไฟฟ้ามาคัดแยกและสกัดโลหะที่มีค่า แล้วนำกลับไปใช้ใหม่ ส่วนที่เหลือก็นำไปเข้าสู่เตาเผาขยะ หรือนำไปฝังกลบ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมพยายามส่งเสริมโรงงานเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อช่วยลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการนำเข้ากากของเสียอันตราย การเคลื่อนย้ายขยะอันตราย และการข้ามแดนกำจัดนั้นจะอยู่ภายใต้อนุสัญญาบาเซิล หลายประเทศส่วนใหญ่ไม่อยากให้นำเข้ามาในรูปของทีวี ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศมาจากต่างประเทศเพื่อมาคัดแยกในไทย ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ส่งเสริมให้เกิดขึ้น เนื่องจากของเสียที่เข้ามานั้นจะใช้ได้ไม่ทั้งหมด แต่นำมาทิ้งในไทย โดยมีผู้ประกอบการที่ขอนำเข้าของเสียเหล่านี้เข้ามาในไทยแต่กรมโรงงานอุตสาหกรรมไม่ส่งเสริมการนำเข้าของเสียอันตรายเข้ามาในประเทศ เพื่อมาคัดแยกซากของเสียในไทย

สัมภาษณ์ : งามตา สืบเชื้อวงค์
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว