รัฐบาลสั่งออกคู่มือแจง‘อียู’ ตอบคำถาม 56 ข้อแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย

13 มี.ค. 2561 | 08:47 น.
ไทยเร่งทำการบ้านแจงอียูคืบหน้าแก้ไขค้ามนุษย์ภาคประมง หลังเช็กลิสต์ข้อเสนอฮิวแมนไรท์วอทช์โจมตีหนัก สั่งกว่า 10 หน่วยงานทำเป็นคู่มือไว้ตอบคำถาม 4-11 เม.ย.นี้ วงในเผยมีถึง 56 ข้อ ด้านบิ๊กตู่อ้อนชาวประมงเห็นใจ คุมเข้มแก้ไอยูยูป้องส่งออก 2 แสนล้าน

แหล่งข่าวจากสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการนำเสนอรายงาน สถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลกประจำปี 2018 (World Report 2018) ขององค์กรฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ชื่อ “โซ่ที่ซ่อนไว้: การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทย” ซึ่งเป็นรายงานที่ถูกนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภายุโรป (อียู) เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาว่าจะดำเนินมาตรการอย่างไรต่ออุตสาหกรรมประมงไทย เนื่องจากที่ผ่านมา ไทยได้รับ “ใบเหลือง” จากอียู ซึ่งเป็นคำเตือนว่า ไทยอาจถูกสั่งห้ามส่งออกอาหารทะเลไปอียู ในข้อหาเกี่ยวข้องกับปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ไอยูยู ฟิชชิ่ง) ซึ่งรายงานดังกล่าวเป็นการกล่าวหาโดยเหมารวม ขาดพยานหลักฐาน แต่เพื่อความไม่ประมาท รัฐบาลไทยได้มีการนำข้อเสนอจากรายงานดังกล่าวมาจัดเรียงและจำแนกตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กว่า 10 หน่วยงาน

TP8-3346-A ประกอบด้วย รัฐบาลไทย สำนักนายกรัฐมนตรี กรมการจัดหางาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องด้านเกษตรและประมงกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา เมียนมา กัมพูชา ลาว และอาเซียน รวมถึงผู้ซื้อ ผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย และผู้ค้าปลีกอาหารในประเทศต่างๆ ทั้งนี้เพื่อเตรียมพร้อมในการตอบคำถามคณะอียูที่จะมาติดตามความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาประมงไทยในวันที่ 4-11 เมษายนนี้ เบื้องต้นคำถามจะมีประมาณ 56 ข้อ

“ในจำนวนนี้ข้อเสนอของฮิวแมน ไรท์ วอทช์ถึงรัฐบาลไทย มี 11 ข้อ อาทิ สั่งการให้กระทรวงแรงงานรวบรวมและตีพิมพ์เผยแพร่ “บัญชีที่ต้องจับตามองพิเศษ” ประกอบด้วยรายชื่อของบริษัท และผู้บริหารที่พบว่ามีส่วนสนับสนุนความผิดอาญาฐานการค้ามนุษย์ และแรงงานบังคับให้เผยแพร่รายชื่อเหล่านี้ในเว็บไซต์ที่สำคัญของรัฐบาลและมีการปรับปรุงข้อมูลให้ทันสมัยอยู่เสมอ และยุติการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเดินทางของแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น

บาร์ไลน์ฐาน ส่วนผู้ซื้อ ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย และผู้ค้าปลีกอาหารในประเทศต่างๆ มีข้อเสนอที่ควรปฏิบัติ 5 ข้อ อาทิ กำหนดให้บริษัทผู้ผลิตในไทย ซึ่งจ้างแรงงานข้ามชาติ ต้องเป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการจัดหาคนงาน และไม่เรียกร้องให้คนงานชำระเงินคืน และประกาศสนับสนุนการดำเนินงานของเอ็นจีโอ สหภาพแรงงาน และกลุ่มคนงานต่างด้าว เพื่อเรียกร้องให้เคารพสิทธิของพวกตนและป้องกันไม่ให้หน่วยงานเหล่านี้ถูกตอบโต้โจมตี โดยเฉพาะใช้กระบวน การยุติธรรมเพื่อการคุกคามของนายจ้าง นายหน้า หรือกลุ่มอาชญากรรม

สำหรับรัฐบาลเมียนมา กัมพูชา และลาว จะต้องสอบสวนและดำเนินคดีอย่างเหมาะสมกับผู้มีส่วนรับผิดชอบและมีส่วนร่วมในเครือข่ายการค้ามนุษย์ในประเทศของตน รวมทั้งเครือข่ายที่ร่วมมือกับนายหน้าในประเทศไทย

“รัฐบาลได้สั่งทำรายงานการแก้ไขปัญหาของไทยทุกๆ ด้าน เพื่อให้หน่วยงานราชการไทยในต่างประเทศใช้เป็นคู่มือชี้แจงนานาประเทศและไว้ชี้แจงกับคณะอียูด้วย”

ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ จังหวัดสมุทร สาคร (5 มี.ค. 61) ว่า ขอให้ชาวประมงเห็นใจ และให้ความร่วมมือรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาด้านประมงและค้ามนุษย์ รัฐบาลไม่ได้คิดจะกลั่นแกล้ง ยังเป็นคนไทยอยู่ แต่การจัดระเบียบ การออกกฎหมายดูแล ก็เพื่อต้องการปกป้องสินค้าประมงของไทยที่มีการส่งออกปีละกว่า 2 แสนล้านบาท เพราะหากตลาดมีปัญหาจะซํ้ารอยสินค้าเกษตรที่ราคาตกตํ่า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว