จับชีพจรทีวีดิจิตอล ‘เวิร์คพอยท์-RS’โกยเงิน-เรตติ้ง

09 มี.ค. 2561 | 03:50 น.
การดำเนินงานของผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลยังคงถูกจับตามองว่าจะผ่านพ้นวิกฤติหรือไม่ ล่าสุดผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มทีวีดิจิตอล ในปี 2560 พบว่า ทีวีดิจิตอลมีผลประกอบการที่ดีขึ้น มีกำไรขาดทุนที่ลดลง หลังการปรับแผนการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น

++‘เวิร์คพอยท์’กำไรทะยาน
บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือช่องเวิร์คพอยท์ทีวี นอกจากเรตติ้งจะแรงแซงหน้าจนมารั้งอันดับ 3 ต่อจากช่อง 7 และช่อง 3 แล้วรายได้ปี 2560ก็แรงไม่แพ้กัน โดยมีรายได้รวม 3,852 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีรายได้ 2,667 ล้านบาท คิดเป็น 44% มีกำไรสุทธิ 904 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 355% โดยรายได้หลักยังมาจากช่องโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ทีวี ที่มีการปรับขึ้นราคาโฆษณาและอัตราการขายนอกจากนี้ยังมีรายได้จากสื่อออนไลน์การจัดอีเวนต์ต่างๆ การจัดคอนเสิร์ตและละครเวที

ขณะที่บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีรายได้หลักมาจาก“ช่อง3” พบว่ารายได้รวมกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งปีนี้ลดลงจากปีก่อนราว10%เป็นรายได้ที่มาจากการขายเวลาโฆษณาเกือบ 1หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงกว่า 11% ตามทิศทางของตลาดที่มีการใช้จ่ายเงินโฆษณาที่ลดลง เช่นเดียวกับรายได้จากการจัดคอนเสิร์ตและการแสดงมีเพียงรายได้จากการให้ใช้ลิขสิทธิ์และบริการอื่นที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำไรโดยรวมลดลงเหลือเพียง 61ล้านบาท

แตกต่างกับบริษัทอาร์เอส จำกัด(มหาชน)ผู้บริหารช่อง8ซึ่งในปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเฉพาะการหันไปรุกธุรกิจสุขภาพและความงามสร้างแบรนด์สินค้าต่างๆ ทั้งมาจีค, รีไวฟ์ และเอส.โอ.เอ็ม ทำให้กลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่ทำเงินและเติบโตกว่า 500% ส่งผลให้ในปี 2560 อาร์เอสมีรายได้รวม 3,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.8% กำไรสุทธิ 332 ล้านบาท ล้างขาดทุนได้จากปีก่อนที่ขาดทุน 102 ล้านบาท

อีกหนึ่งบริษัทที่ผลประกอบการมีกำไรคือบริษัทโมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือช่อง โมโน29 ด้วยตัวเลขรายได้ 2,575 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 21% มีกำไรสุทธิ 58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123% จากปีก่อนที่ขาดทุน 249 ล้านบาท

MP34-3346-A ++อสมท.หืดจับขาดทุนพุ่ง
ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่ยังต้องเผชิญกับการขาดทุนมีทั้ง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ที่มีรายได้รวม 2,736 ล้านบาท ลดลง 5% โดยรายได้หลักมาจากธุรกิจโทรทัศน์ 1,002 ล้านบาทและวิทยุ 747 ล้านบาท มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 2,543ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 236%เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายรวม 5,549ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% จากการบันทึกการด้อยค่าใบอนุญาตดิจิตอลอุปกรณ์โครงข่ายและสิ่งอำนวยความสะดวก2,087 ล้านบาท ทำให้ค่าใช้จ่ายดำเนินงานโทรทัศน์และวิทยุเพิ่มขึ้นเป็น 4,473 ล้านบาท หากไม่มีค่าใช้จ่ายด้อยค่าสินทรัพย์ อสมท จะมีผลขาดทุน 726 ล้านบาท ซึ่งถือว่าดีกว่าปีก่อน

++3 ช่องกำไรเพิ่มขาดทุนลด
บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เป็นอีกบริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา จากการขาดทุนอย่างหนักก่อนหน้า ซึ่งแม้ในปี 2560 จีเอ็มเอ็มจะมีรายได้รวม 8,861 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 19% แต่ผลการดำเนินงานยังขาดทุนสุทธิ 384 ล้านบาท เช่นเดียวกับบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือช่องอมรินทร์ทีวี ที่มีรายได้ 2,237 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 15% แต่เมื่อหักลบกับค่าใช้จ่าย มีผลขาดทุนสุทธิ 163 ล้านบาทและบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์คคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีรายได้ 374 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 34%ขาดทุนสุทธิ 570 ล้านบาท ลดลง 62% จากปี 2559 ที่ขาดทุนสุทธิ 1,507 ล้านบาท

บาร์ไลน์ฐาน ++จับตาปัจจัยกระทบโฆษณา
การลดลงของการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณาในปี 2560 เห็นได้ชัดเจนจากงบโฆษณารวมที่คงเหลือเพียง 1.01 แสนล้านบาท ลดลงจากปีก่อนหน้าที่มีการใช้จ่ายรวม 1.07 แสนล้านบาท คิดเป็น 6% ไม่ได้ส่งผลกระทบเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์อย่างนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์เท่านั้น แต่ยังกระทบต่อสื่อหลักอย่างโทรทัศน์และ วิทยุ แม้ผู้ประกอบการบางกลุ่มจะลดการใช้เงินโฆษณาในทีวีอนาล็อก และหันมาใช้เงินโฆษณาในทีวีดิจิตอลแทนส่งผลให้ทีวีดิจิตอลมีเม็ดเงินเพิ่มขึ้นแต่ก็เกิดกับกลุ่มที่มีเรตติ้งสูงเท่านั้น

อีกปัจจัยที่ส่งผลต่อผลประกอบการของทีวีดิจิตอลในปีที่ผ่านมารวมถึงในปีนี้คือ พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงหันไปชมรายการทีวีผ่านเครื่องมืออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือแท็บเลตหรืออื่นๆ ดังนั้นจะเห็นว่าตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาหลายบริษัทเตรียมพร้อมด้านการลงทุนและวางยุทธศาสตร์ในการรองรับด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มแพลต ฟอร์มให้เข้าถึงสายตาผู้ชม และเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้ ทั้งสื่อออนไลน์ ยูทูบ และไลน์ทีวียังไม่นับรวมเรื่องของกำลังซื้อ สภาพเศรษฐกิจ และการใช้จ่ายของภาครัฐที่ล้วนส่งผลต่อการใช้จ่ายเม็ดเงินโฆษณานั่นเอง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว