BCAP ลุยอีทีเอฟเต็มสูบ ออก 7 กองปีนี้เพิ่มทางเลือกลงทุน - ชิงตลาด LTF

09 มี.ค. 2561 | 04:16 น.
บลจ.บางกอกแคปปิตอลฯ เดินหน้าลุยอีทีเอฟเต็มสูบ เตรียมออก 7 กองในปีนี้ เพิ่มทางเลือกที่หลากหลายให้นักลงทุน ลั่นจะทำให้ตลาดอีทีเอฟเกิดให้ได้ เตรียมชิงตลาดแอลทีเอฟ-อาร์เอ็มเอฟปลายปีนี้

นายธนาวุฒิ พรโรจนางกูร หัวหน้าสายงานจัดการกองทุน บลจ.บางกอกแคปปิตอล จก. เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนที่จะออกกองทุนอีทีเอฟ(Exchange Traded Fund : ETF) 6-7 กองภายในปีนี้ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุน หลังจากที่ได้ออกมาแล้ว 2 กองคือ “กองทุนเปิด BCAP MSCI Thailand ETF FUND (BMSCITH)” และ “กองทุนเปิด BCAP SET100 ETF (BSET100)” ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จด้วยดี โดยในแง่ของเป้าหมาย กองทุนในการแทร็กดัชนีอ้างอิงแล้วถือว่าทำได้ดีมาก

“แม้กองทุนอีทีเอฟจะเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนให้สามารถซื้อขายหุ้นได้สะดวกขึ้น มีแค่บัญชีเดียวกับโบรกเกอร์เท่านั้น และยังใช้เงินลงทุนน้อยและมีค่าใช้จ่ายที่ตํ่า แต่ตลาดอีทีเอฟในบ้านเรายังไม่โตนัก ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะกองทุนอีทีเอฟไม่ได้สิทธิลดหย่อนทางภาษีเหมือนกับกองทุนหุ้นระยะยาว(แอลทีเอฟ) และกองทุนเพื่อเกษียณอายุ(อาร์เอ็มเอฟ) แต่บริษัทยังตั้งเป้าที่จะเป็นผู้นำบุกเบิกกองทุนอีทีเอฟในไทย”

อย่างไรก็ตาม บริษัทมีจุดยืนชัดเจนว่า จะเป็นบลจ.ที่มุ่งเน้นกองทุนดัชนีและอีทีเอฟเป็นธุรกิจหลักสำหรับอุตสาหกรรมกองทุนรวมของไทย เพราะขณะนี้มีบลจ.ที่ออกอีทีเอฟ 3 รายเท่านั้น และก็ไม่ค่อย active นัก เพราะถ้าจะไปดูสินทรัพย์ในกองทุนแล้วจะเห็นว่าเหลือไม่มาก อาจจะเพราะข้อดีของอีทีเอฟคือ เพิ่มความสะดวกสบายให้กับนักลงทุนในต้นทุนที่ตํ่า แต่ก็ยังไม่มีใครที่มองเห็นประโยชน์ที่มากกว่านั้น ถ้าเทียบกับต่างประเทศอย่างออสเตรเลีย จะให้สิทธิทางภาษีจากการลงทุนในกองทุนอีทีเอฟชัดเจนทำให้ตลาดโตมาก

บาร์ไลน์ฐาน “อีทีเอฟเองถือว่า เป็น 1 ในนวัตกรรมของอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นมาประมาณ 10 ปีเท่านั้น เพื่อให้นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในหุ้นเพียงบัญชีเดียว แต่สามารถลงทุนในหุ้นที่หลากหลายแต่ความเสี่ยงตํ่า และยังเป็นการลงทุนที่โปร่งใส มีการเปิดเผยสินทรัพย์ที่ลงทุนให้ทราบตลอดเวลา ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งที่ตลาดอีทีเอฟในไทยโตมากพอโอกาสที่จะทำกองอีทีเอฟต่างประเทศก็จะตามมาดังนั้นต้องทำให้ตลาดกองทุนอีทีเอฟในไทยเกิดขึ้นให้ได้”

นายธนาวุฒิกล่าวต่อว่า ภายในปีนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะออกกองทุนหุ้นระยะยาว(แอลทีเอฟ)เป็นตัวแรกอีกด้วย เพราะมองว่าถือเป็นหนึ่งทางเลือกให้กับนักลงทุนด้วย แม้ว่าที่ผ่านมา วัตถุประสงค์หลักของการลงทุนในแอลทีเอฟจะมุ่งเน้น เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นหลัก แต่เมื่อกำหนดต้องถือว่า 5 ปีต่อเนื่องกันนักลงทุนก็จะเห็นผลตอบแทนที่เกิดขึ้นว่า ได้มากกว่าการฝากเงินในสถาบันการเงิน ทำให้ทุกคนเริ่มเห็นประโยชน์ของการลงทุนและถือว่าตรงกับวัตถุประสงค์ของรัฐบาลด้วยเช่นกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว