'เชฟรอนฯ' ยัน! ไม่ทิ้งลงทุนในไทย

06 มี.ค. 2561 | 10:29 น.
1722

‘เชฟรอนฯ’ ยัน! ไม่ทิ้งการลงทุนไทย เผยอยู่ระหว่างเตรียมการเข้าร่วมประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุ เพื่อความต่อเนื่องในการผลิต

จากกรณีที่ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้นำเสนอข่าว “เชฟรอนฯ ขู่รัฐ ถอนลงทุนไทย”
โดยมีเนื้อหาที่ระบุถึงบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เจ้าของแหล่งก๊าซฯ เอราวัณ พยายามที่จะเจรจากดดันกระทรวงพลังงานให้เปลี่ยนแปลงสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ตามที่ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำหนดชัดเจนว่า ต้องเป็นราคาที่ไม่สูงกว่าปัจจุบัน

ประกอบกับมีการเจรจาต่อรองในการจ่ายเงินสำหรับการรื้อถอนแท่นผลิตและขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทยให้น้อยที่สุด จากที่มีการประเมินไว้ราว 1 แสนล้านบาท จากจำนวนแท่นที่มีอยู่ราว 400 แท่น ทั้งที่กฎหมายระบุให้ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมมีหน้าที่ในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างให้แก่รัฐบาลโดยไม่คิดมูลค่า เมื่อสิ้นระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียม พร้อมต้องกำหนดแผนงาน ประมาณค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนด้วย


apptp8-3169-a

พร้อมทั้ง ไม่เห็นด้วยกับข้อกฎหมายที่ระบุให้ต้องมารับผิด หากเกิดกรณีอุบัติเหตุหรือผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลังจากที่คืนแท่นให้กับภาครัฐแล้ว ทำให้ต้องมีภาระการดูแลไม่สิ้นสุด ทำให้ ‘เชฟรอนฯ’ ต้องต่อรองกับภาครัฐ เพื่อลดค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่จะนำมาคำนวณเป็นต้นทุน ราคาก๊าซฯ ในการเข้าแข่งขันประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุในปี 2565-2566


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2

โดย ‘เชฟรอนฯ’ เห็นว่า หากต้องจ่ายค่ารื้อถอนตามที่ภาครัฐกำหนด แม้จะชนะการประมูล แต่ราคาก๊าซฯ ไม่รับการปรับเพิ่มขึ้น การดำเนินงานก็อาจจะไม่คุ้มกับผลตอบแทน จึงพยายามที่จะใช้ความเป็นยักษ์ใหญ่กดดันกระทรวงพลังงาน ที่มีกระแสข่าวออกมาว่า จะทิ้งการลงทุนในประเทศไทย หากภาครัฐไม่ยอมดำเนินงานตามที่เรียกร้อง รวมถึงหากชนะการประมูลแล้ว ก็จะขายแหล่งเอราวัณให้กับรายอื่นต่อไปแทน ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การออกทีโออาร์ประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกชและเอราวัณมีความล่าช้าออกไปในเดือน เม.ย. แทนที่จะได้ข้อสรุปในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

ล่าสุด นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนฯ ออกมาชี้แจงว่า เชฟรอนฯ ยังไม่มีแผนจะถอนการลงทุนจากประเทศไทยแต่อย่างใด และมีความมุ่งมั่นที่จะลงทุนระยะยาวในไทยต่อไป โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเข้าร่วมประมูลแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุ เพื่อความต่อเนื่องในการผลิต

อีกทั้งความล่าช้าในการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุในปี 2565-2566 นั้น ในความเป็นจริงแล้ว เชฟรอนฯ เป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลแก่หน่วยงานรัฐและปฏิบัติตามกระบวนการที่กำหนดโดยรัฐ ซึ่งการเจรจาต่าง ๆ ก็ยังไม่มีข้อสรุปออกมา


tp2-3277-3

โดยทางเชฟรอนฯ ได้ยืนยันว่า ตลอดระยะเวลาของการดำเนินงานกว่า 55 ปี ในไทย ได้มุ่งมั่นเป็นพันธมิตร สนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้การจัดหาพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาสังคมผ่านโครงการต่าง ๆ มาโดยตลอด


....................
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'เชฟรอน' ขู่รัฐ! ถอนลงทุนไทย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว