กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 31.20-31.55 บ.ต่อดอลลาร์

05 มี.ค. 2561 | 07:22 น.
กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 31.20-31.55 จับตาสถานการณ์การค้าโลก

-5 มี.ค.61-กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.20-31.55 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.45 บาทต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 7.0 พันล้านบาท และ 800 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนในเดือนกุมภาพันธ์ เงินบาทอ่อนค่าราว 0.2% หลังจากแข็งค่าในเดือนมกราคม ส่วนเงินดอลลาร์อ่อนค่าเทียบกับเงินเยนและยูโร แม้ในช่วงแรกดอลลาร์จะได้แรงหนุนจากการแถลงนโยบายครั้งแรกของนายพาวเวลล์ในฐานะประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งส่งสัญญาณว่าอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ อย่างไรก็ตาม เงินเยนแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 2 ปีหลังข้อเสนอของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะกำหนดภาษีนำเข้าเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมได้เพิ่มความวิตกเกี่ยวกับสงครามการค้า ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนหลีกเลี่ยงสินทรัพย์เสี่ยง

บาร์ไลน์ฐาน กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่าตลาดจะจับตาความคืบหน้าประเด็นรัฐบาลสหรัฐฯ พิจารณาเก็บภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการเพื่อปกป้องผู้ผลิตสหรัฐฯ ซึ่งอาจถูกตอบโต้จากคู่ค้าสำคัญได้ ส่วนผลการเลือกตั้งในอิตาลีช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งผลต่อค่าเงินยูโรอย่างจำกัด นอกจากนี้ นักลงทุนจะจับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) หลังผู้ว่าการบีโอเจระบุว่าอาจถอนมาตรการทางการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษหากเงินเฟ้อบรรลุเป้าหมายภายในเดือนมีนาคม 2563 ส่วนท้ายสัปดาห์นี้ ตลาดจะติดตามข้อมูลการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯ เพื่อประเมินผลกระทบที่มีต่อเงินเฟ้อ รวมถึงแนวโน้มดอกเบี้ยของสหรัฐฯ

สำหรับปัจจัยในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนกุมภาพันธ์ของไทยออกมาต่ำกว่าคาด โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเพียง 0.42% เทียบกับเป้าหมายการดำเนินนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในกรอบ 1.0-4.0% และอาจทำให้ทางการเพิ่มความระมัดระวังต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยในระยะถัดไป อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมอาหารสดและพลังงานยังคงฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ ยังต้องจับตาผลกระทบจากสงครามการค้าระลอกใหม่ต่อเศรษฐกิจไทย โดยในเบื้องต้นผลกระทบทางตรงมีไม่มากนัก แต่จะมีผลทางอ้อมผ่านห่วงโซ่อุปทานระหว่างไทยกับคู่ค้าหลักของสหรัฐฯ เช่น จีน อีกทั้งความผันผวนที่สูงขึ้นในตลาดการเงินโลก โดยเรามองว่าแม้เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าเทียบกับเงินเยนและยูโร แต่หากการตอบโต้มาตรการกีดกันการค้าทวีความรุนแรงจนบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ดอลลาร์อาจจะแข็งค่าเทียบกับสกุลเงินที่เชื่อมโยงกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างดอลลาร์ออสเตรเลีย ดอลลาร์แคนาดา และกลุ่มสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ที่พึ่งพาการส่งออกรวมถึงเงินบาท ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว