ค่าต๋งทวงหนี้ลด 400%! มีผลบังคับใช้ 1 ก.ค. - สมาคมเช่าซื้อเตือนชะลอทำสัญญา

08 มี.ค. 2561 | 05:10 น.
สมาคมเช่าซื้อหนุน ธปท. คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน “Market Conduct” เตือนสมาชิกรอสัญญามาตรฐานใหม่ ก่อนมีผลบังคับ 1 ก.ค. ด้านบริษัททวงหนี้เกือบ 500 แห่ง โอดได้รับผลกระทบจากการปรับลดค่าธรรมเนียม 300-400% ลุ้นบอร์ดกำกับทบทวนอัตราค่าฟีตามความเสี่ยง-ประเภทสินเชื่อ ก่อนประกาศใช้กลางปีนี้

หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำหนดมาตรฐานใหม่ในการเสนอบริการด้านการเงินทุกผลิตภัณฑ์ (Market Conduct)ทั้งสินเชื่อ เงินฝาก ผลิตภัณฑ์ประกัน รวมถึงตราสารทุน ตราสารหนี้ต่างๆ ซึ่งธุรกิจเช่าซื้อ/ลีสซิ่งเป็น 1 ใน 8 ผลิตภัณฑ์ของผู้ให้บริการทางการเงินที่อยู่ระหว่างปรับปรุงรูปแบบมาตรฐานในการนำเสนอสินเชื่อเช่าซื้อ โดยมีความคืบหน้าแล้วบางประเด็น เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สินเชื่อ,รายละเอียดใบสมัคร/คำขอสินเชื่อ/ใบเสร็จรับเงินที่กำกับภาษีในรูปแบบเดียวกัน


MP24-3345-A

ขณะที่ยังรอประเด็นดัชนีค่าธรรมเนียมในการให้สินเชื่อเช่าซื้อและจัดทำสัญญามาตรฐานฉบับใหม่ให้ถูกต้องตามประกาศของคณะกรรมการว่า ด้วยสัญญามาตรฐาน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งผ่านการปรับปรุงแก้ไขใน 8 ประเด็นและจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 หลังจากลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

และวันที่ 5 มีนาคม สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยได้นัดประชุมหารือกับสมาชิกเกี่ยวกับการจัดทำสัญญามาตรฐานฉบับใหม่ เพื่อให้ทันตามกำหนดเวลาที่บังคับใช้ ดังนั้นในระหว่างทางสมาคมธุรกิจเช่าซื้อฯจึงขอความร่วมกับสมาชิกชะลอการใช้สัญญาเดิมออกไปก่อน เพื่อไม่ให้มีปัญหา ในทางปฏิบัติ ซึ่งคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายของสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยกับ สคบ. กำลังเร่งจัดทำสัญญามาตรฐานฉบับใหม่ วิธีคำนวณค่างวดผ่อนชำระ และหนังสือคํ้าประกันเพื่อให้ทันกฎ หมายบังคับใช้

ยกตัวอย่าง สัญญามาตรฐานใหม่ จะต้องกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับยี่ห้อรถยนต์ หมายเลขเครื่อง หมายเลขตัวถัง สภาพของรถว่าเป็นรถใหม่หรือรถที่ผ่านการใช้แล้ว หรือไมล์บอกระยะทาง และภาระผูกพัน (ถ้ามี) รวมถึงยังต้องกำหนดราคาที่เป็นเงินสดจำนวนเงินจองจำนวนเงินดาวน์ ราคาเงินสดส่วนที่เหลือ อัตราดอกเบี้ยคงที่ต่อปี จำนวนงวดที่ผ่อนชำระ จำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระในแต่ละงวดตั้งแต่งวดแรกจนถึงงวดสุดท้าย และวิธีคำนวณค่าเช่าซื้อโดยแยกเงินต้นและดอกเบี้ย เพื่อส่งมอบให้กับผู้เช่าซื้อ

บริษัทผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้หรือ OA รายหนึ่งบอกกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า กลุ่มโอเอรอความชัดเจนของประกาศอัตราหรือค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ (ค่าฟี) ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ซึ่งทางคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ที่กำลังจัดทำอยู่ คาดว่าจะประกาศลงราชกิจจานุเบกษาก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคมปีนี้ เบื้องต้นยังมีประเด็นการปรับลดค่าฟีใหม่เหลือเพียง 100 บาทต่องวด จากปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 400-500 บาทต่องวด


บาร์ไลน์ฐาน

โดยเฉพาะอัตราค่าฟีใหม่ที่จะนำมาใช้นั้น ปกติอัตราที่ 100 บาทต่องวดจะใช้เฉพาะกับลูกหนี้ของธุรกิจบัตรเครดิต เพราะวงเงินสินเชื่อตํ่าไม่เกิน 3 หมื่นบาท แต่เกณฑ์ใหม่ได้ปรับมาใช้ในทุกธุรกิจ ซึ่งบางธุรกิจมูลหนี้สูงกว่านั้น จึงมองอัตราค่าฟีใหม่ไม่สมเหตุสมผลกับวงเงินและความเสี่ยง และบัตรเครดิตยังมีการให้ดอกเบี้ยส่วนต่างด้วย

“ถ้าประกาศใช้อัตรานี้จริงจะกระทบรายได้ของกลุ่มโอเอที่มีอยู่ในระบบประมาณ 400-500 บริษัท จากการถูกปรับลดค่าฟีลงเยอะมาก 300-400% ซึ่งการลดค่าฟีแม้จะช่วยลูกหนี้ แต่คนติดตามทวงถามและบริษัทผู้ว่าจ้างถูกกระทบเช่นกัน”

ยกตัวอย่างโอเอบางรายมีบริษัทผู้ว่าจ้างประมาณ 20 บริษัท จึงมีลูกหนี้หลากหลายทั้งบัตรเครดิต สินเชื่อ เช่าซื้อ มอเตอร์ไซค์ โดยโอเอรายนี้มีทีมงานเกือบ 3,000 คนกระจายทั่วประเทศ เบื้องต้นได้คุยกับบริษัทผู้ว่าจ้างซึ่งเขาจะช่วยAbsorbบ้างแต่ไม่สามารถชดเชยรายได้ที่หายไปดังนั้นจากรายได้ของบริษัทโอเอ ที่หายไป จึงเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญเมื่อค่าปรับหรือค่าฟีในการติดตามทวงถามน้อยลง ยิ่งจะเป็นช่องให้ลูกหนี้สร้างพฤติกรรมการผิดนัดชำระหรือไม่

สอดคล้องกับแหล่งข่าวอีกรายให้รายละเอียดว่า ปัจจุบันการให้บริการทวงถามหนี้นั้น จะคิดอัตราตามประเภทของสินเชื่อด้วย อย่างสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ส่วนใหญ่จะกำหนดอัตราแตกต่างกัน เพราะมีผลิตภัณฑ์หลากหลาย และมีหลายระดับ จึงควรพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพธุรกิจและความเสี่ยง


จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,345 วันที่ 4 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว