ตะลุมบอนตลาดแอร์! ยักษ์เครื่องใช้ไฟฟ้าโดดชิงแชร์/รับแล้งยาวแต่ต้นปี

18 ม.ค. 2559 | 06:00 น.
แอร์ปีวอกองศาเดือด ค่ายยักษ์อัดแผนปลุกตลาด "มิตซูบิชิ" ย้ำผู้นำ ทุ่ม 400 ล้านเปิดไลน์ผลิตแอร์พาณิชย์ หวังกดราคาท้าชนคู่แข่ง ด้าน "โตชิบา" ชูนวัตกรรมเน้นดีไซน์-ฟังก์ชั่น เจาะฐานลูกค้าผ่านออนไลน์/ออฟไลน์ ขณะที่ "พานาโซนิค" ยกเครื่องไลน์อัพ พลิกโมเดลใหม่ พร้อมอัดฉีดร้อยล้าน โฆษณาเต็มสูบ ฟาก "ไฮเออร์" ควัก 300 ล้านผลิตแอร์พาณิชย์เพิ่ม 30%

[caption id="attachment_26670" align="aligncenter" width="600"] แผนรุกตลาดเครื่องปรับอากาศ ปี 59 แผนรุกตลาดเครื่องปรับอากาศ ปี 59 ยาซุชิ โมริยามะ[/caption]

นายยาซุชิ โมริยามะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า "มิตซูบิชิ" เปิดเผยว่า ปีนี้บริษัทจะให้ความสำคัญกับการทำตลาดสินค้าในกลุ่มเครื่องปรับอากาศมากขึ้น เนื่องมาจากเป็นกลุ่มสินค้าที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคคนไทย จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดตลอดทั้งปี ประกอบกับปัจจุบันอัตราการถือครองเครื่องปรับอากาศยังอยู่ในระดับต่ำ คิดเป็นสัดส่วนราว 20 % จึงเชื่อว่าจะมีช่องว่างทางการเติบโตในตลาดได้อีกมาก นอกจากนี้มาตรการภาครัฐที่กำลังพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านนโยบายและโครงการเมกะโปรเจ็คต่าง ๆ จะส่งผลให้เกิดกำลังซื้อและมีการจับจ่ายมากขึ้น แม้จะยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ จากทั้งในและต่างประเทศเข้ามากระทบอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าจะส่งผลดีมากกว่า

"กลุ่มสินค้าที่บริษัทจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษในปีนี้คือเครื่องปรับอากาศ เนื่องจากเป็นสินค้าที่สร้างรายได้หลักให้กับบริษัทคิดเป็น 61% ตามด้วยพัดลม 12 % แพ็กเกจเครื่องปรับอากาศ 10% ปั๊มน้ำ 8% พัดลม 5% และเครื่องระบายอากาศ 1%"

ด้านนายอนันต์ บรรเจิดธรรม กรรมการและผู้จัดการทั่วไปส่วนการตลาดและการขาย บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค กันยงวัฒนา จำกัด กล่าวว่า นอกจากเครื่องปรับอากาศภายในบ้านที่บริษัทจะให้ความสำคัญในการทำตลาดแล้ว กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศเชิงพานิชย์ คืออีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่บริษัทให้ความสำคัญในการรุกตลาดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความต้องการในประเทศที่สูง จากการขยายตัวของโครงการต่าง ๆ ภายในประเทศ

"ปีที่แล้วเราได้ลงทุน 400 ล้านบาทขยายโรงงงาน โดยเปิดไลน์การผลิตเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา จากเดิมที่บริษัทนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งการผลิตเองภายในประเทศ จะทำให้บริษัทมีศักยภาพในการแข่งขันทางการตลาดได้มากขึ้น และสินค้าจะมีราคาที่ถูกลง จากเดิมที่เครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ของบริษัท มีราคาแพงกว่าคู่แข่งราว 40-50% เมื่อวางสินค้าจากไลน์การผลิตใหม่ ซึ่งทำให้สัดส่วนยอดขายเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ของบริษัทเพิ่มเป็น 20% แล้วในปัจจุบัน จากในอดีตที่มีสัดส่วนเพียง 5%"

นอกจากนี้จากแนวโน้มของตลาดเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ที่เติบโต บริษัทมีแผนเปิด "Mitsubishi Electric City Multi Customer Support Office" หรือสำนักงานสนับสนุนลูกค้าโครงการระบบปรับอากาศ"ซิตี้มัลติ" ในจังหวัดระยองและอุดรธานีเพิ่มเติมในปีนี้ เพื่อรองรับการขยายตัวกลุ่มลูกค้าโครงการ ภายใต้งบประมาณการลงทุนราว 20 ล้านบาทต่อสาขา จากเดิมที่บริษัทได้เปิดให้บริการไปแล้วทั้งสิ้น 4 สาขาในช่วงปีที่ผ่านมา ได้แก่ ภูเก็ตและเชียงใหม่ พร้อมกันนี้ยังมีการพัฒนาด้านบุคลากรขึ้นมา เพื่อรองรับการเติบโตในกลุ่มเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์อีกด้วย

ส่วนงานบริการหลังการขายบริษัทได้เตรียมขยายศูนย์บริการหลังการขายในปีนี้เพิ่มเป็น 143 แห่ง จากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวนทั้งสิ้น 124 แห่ง เพื่อเป็นการขยายตลาดและรองรับความต้องการในท้องตลาดให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย และกิจกรรมทางการตลาดรูปแบบต่าง ๆ

สำหรับผลประกอบการของปีงบประมาณ 2558 ตั้งเป้าว่าจะมียอดขายราว 1.45 หมื่นล้านบาท (เม.ย.58 - มี.ค.59) มั่นใจว่าสามารถดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้อย่างแน่นอน ส่วนปีงบประมาณ 2559 (เม.ย.59 - มี.ค.60) ตั้งเป้ายอดขายที่ 1.55 หมื่นล้านบาท เติบโตในอัตรา 7 % โดยปัจจุบันบริษัทถือเป็นผู้นำในตลาดเครื่องปรับอากาศเมืองไทย ด้วยส่วนแบ่งทางการตลาด 33% ทิ้งห่างคู่แข่งเบอร์ 2 และ 3ในตลาด กว่า 10% และตั้งเป้าหมายในปีงบประมาณ 2559 ในส่วนของเครื่องปรับอากาศเพิ่มเป็น 34% และเครื่องปรับอากาศเชิงพานิชย์ที่ 23-24%

ขณะที่นายบุนยรัตน์ ไตรสิริสมบัติ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า กลยุทธ์การทำตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในปีนี้ ยังคงให้ความสำคัญกับการออกผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมโดยศึกษาพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภค เพื่อพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้ตรงกับความต้องการในการใช้งานของลูกค้า คำนึงถึงประโชน์การใช้สอย ความสะดวก และปลอดภัยเป็นหลัก โดยในช่วงไตรมาสแรกนี้ บริษัทจะเน้นทำตลาดในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าทำความเย็น ภายใต้ธีม "คูล แอนด์ แคร์" ทั้งเครื่องปรับอากาศและตู้เย็น ซึ่งจะเปิดตัวรุ่นใหม่ 2 รุ่น ในกลุ่มเครื่องปรับอากาศ ระบบอินเวอร์เตอร์ ได้แก่ "ไดเซไก" และ "บีเอฟ" ที่ประหยัดพลังงานได้ถึง 30% และมาพร้อมเทคโนโลยี "เมจิ คูล" ที่สามารถป้องกันแผงแลกเปลี่ยนความร้อนจากฝุ่นละออง ทำให้ลมที่ออกมาจากตัวเครื่องสะอาดและบริสุทธิ์

สำหรับภาพรวมตลาดเครื่องปรับอากาศปี 2558 มียอดขายรวม 1.2 ล้านเครื่อง เติบโตประมาณ 10% และเชื่อว่าในปีนี้จะมีการเติบโตมากว่าปีก่อน มาจากการขับเคลื่อนของภาคอสังหาริมทรัยพ์ของไทย ที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า สำหรับการแข่งขันของตลาดทั้งตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ ยังคงแข่งกันที่เทคโนโลยีลี โดยเฉพาะระบบอินเวอร์เตอร์ ซึ่งที่ผ่านมาสัดส่วนการขายสินค้าอินเวอร์เตอร์ของไทยในปี 2558 อยู่ที่ 10% นับว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศสิงคโปร์ ที่มีสัดส่วน 100% และเชื่อว่าจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 25% ในปีนี้

โดยแผนงานเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของกลุ่มเป้าหมาย สำหรับกลุ่มสินค้าเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นนั้น จะเน้นการทำตลาดแบบครบวงจร ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการจัดแคมเปญส่งเสริมการขายทั้งกับคู่ค้าและลูกค้า พร้อมมทั้งจัดโรดโชว์ตามจุดต่าง ๆ นอกจากนี้บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับช่องทางจำหน่ายใหม่ ๆ อย่างช่องทางออนไลน์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ค รวมถึงร้านค้าออนไลน์ต่าง ๆ ขณะที่สัดส่วนรายได้จากช่องทางนี้ยังถือว่าน้อยมาก หรือไม่ถึง 5% โดยใช้งบประมาณทางการตลาดทั้งสิ้นราว 5-10% ของยอดขายรวม

นอกจากนี้ จะหาพันธมิตรต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อหาตลาดใหม่อย่างกลุ่มบีทูบี หรือลูกค้าโครงการ อาทิ กลุ่มบ้านและคอนโดมิเนียม กลุ่มผู้ประกอบการก่อสร้าง โรงแรม อพาร์ทเม้นท์ หอพัก และอาคารสำนักงาน โดยเพิ่มทีมงานขายในส่วนของงานบีทูบีมากขึ้น ปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากกลุ่มนี้ยังน้อยอยู่ แต่เมื่อเทียบกับการเติบโตถือว่าสูงขึ้นต่อเนื่อง

ด้านนายได นิชิ ผู้จัดการทั่วไป ส่วนการตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องปรับอากาศ บริษัท พานาโซนิค เอ.พี.เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กลยุทธ์การทำตลาดของบริษัทในปีนี้ เน้นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน 3 ด้าน คือ การผลิตสินค้าโมเดลใหม่ ทั้ง Line Up ทำการปรับปรุงค่าประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเครื่องปรับอากาศให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งมั่นใจว่าการปรับโมเดลครั้งนี้ จะตอบโจทย์ความค้องการของผู้บริโภค ตั้งแต่ระดับบนถึงระดับล่าง ,การทุ่มงบโฆษณารวม 100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 25% โดยเน้นสื่อหลักได้แก่ โทรทัศน์ , สิ่งพิมพ์และบิลบอร์ด เพื่อสร้างความเข้าใจแกผู้บริโภคมากขึ้น และแผนสุดท้ายคือการเปิดตัว Truck Caravan รูปแบบใหม่ จัดรถสัญจรไปทั่วประเทศ เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่าง ด้านการประหยัดพลังงานของเครื่องปรับอากาศทั่วไป กับเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่จากพานาโซนิค พร้อมเอกลักษณ์การส่งลมเย็นที่ไม่เหมือนใคร และร่วมมือกับร้านค้าตัวแทนจำหน่าย ในการจัดโรดโชว์รวม 30 แห่งตลอดช่วงการขายนี้

ล่าสุดพานาโซนิคฯ ได้เปิดตัวเครื่องปรับอากาศรุ่นใหม่ Sky Series ภายใต้คอนเซ็ปต์ The cool breeze of elite ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่ระบบส่งความเย็นแบบSky Wink ซึ่งจะส่งลมเย็นจากด้านบนของเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นการเปิดตัวที่ประเทศไทยที่แรกในโลก โดยในปีนี้บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมียอดขายเพิ่มขึ้น 20% และตั้งเป้าที่จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นมาอยู่ในอันดับ 2 จากเดิมที่อยู่ในอันดับ 4 ภายในปี 2561 ด้วย

ด้านนายหยาง เสี้ยวหลิน ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ไฮเออร์ ประเทศไทย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ไฮเออร์ จากประเทศจีน กล่าวว่า แนวโน้มตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในปีนี้จะมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เนื่องมาจากผลพวงภาพรวมกำลังซื้อที่ชะลอตัว รวมไปถึงสภาวะเศรษฐกิจที่ค่อนข้างผันผวน โดยในส่วนของบริษัทเองเพื่อเป็นการกระตุ้นตลาดการจับจ่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในตลาด รวมไปถึงการดำเนินให้เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัท 3-5 ปีนับจากนี้ คือการก้าวสู่แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าท็อป 5 ของเมืองไทยในกลุ่มเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า จากปัจจุบันที่ส่วนแบ่งทางการตลาดเฉลี่ย 3-4% ซึ่งจะเป็นสินค้าในกลุ่มเรือธงของบริษัทในการรุกตลาดต่อไป

ด้วยเป้าหมายที่ต้องการขยายกลุ่มสินค้าเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์ บริษัทจึงทุ่มงบลงทุนราว 300 ล้านบาท ในการลงทุนในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และเพิ่มกำลังการผลิตเครื่องปรับอากาศเชิงพาณิชย์อีก 30% ซึ่งจะสามารถรองรับการขยายตลาดได้ ทั้งในส่วนของประเทศไทยและในแถบภูมิภาคอาเซี่ยน จากเดิมที่บริษัทสามารถผลิตเครื่องปรับอากาศได้ 2 แสนชุดต่อปี แบ่งเป็นกำลังการผลิตเครื่องปรับอากาศเชิงพานิชย์ 5 หมื่นชุดต่อปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,123 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2559