ปัญญาภิวัฒน์ผุด PIM AIR ศูนย์ฝึกปฏิบัติการ inflight / Ground รับธุรกิจการบินบูม

18 ม.ค. 2559 | 07:00 น.
PIM มั่นใจธุรกิจการบินโตต่อเนื่อง เร่งผลิตบุคลากรรองรับล่าสุดทุ่ม 40 ล้านผุดศูนย์ฝึกปฏิบัติการธุรกิจการบิน (PIM AIR)เครื่องบินจำลองสำหรับฝึกงานบริการครบเครื่องทั้ง inflight, Groundและ Operation พร้อมเอ็มโอยูสายการบิน 15 แห่งรองรับบัณฑิต ก่อนขยายหลักสูตรนานาชาติและระดับปริญญาโทต่อทันที

[caption id="attachment_26674" align="aligncenter" width="400"] ภูมิ ศรีสุข ภูมิ ศรีสุข[/caption]

นายภูมิ ศรีสุข รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะวิทยาการจัดการสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากข้อมูลของบริษัท โบอิ้งฯ และแอร์บัสระบุว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี ซึ่งประกอบไปด้วย 10 ประเทศจะมียอดการสั่งซื้อเครื่องบินรวมกันราว 2.5 พันลำเป็นสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจการบินเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและมีอนาคตที่สดใส และมีความต้องการบุคลากรจำนวนมากและมีรายได้ดี สิ่งสำคัญคือการเร่งผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพและเพียงพอกับความต้องการ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาสถาบันได้ศึกษาและพัฒนาหลักสูตรธุรกิจการบิน

พร้อมเปิดทำการเรียนการสอนเป็นเวลา 2 ปี ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มีผู้สนใจสมัครเข้าเรียนเพิ่มขึ้น 2เท่าตัว โดยปีแรกมีผู้สมัครราว 1.7 พันคน และเพิ่มขึ้นเป็น 3 พันคน ในปีที่ 2ขณะที่การเปิดรับจริงจะมีเพียง 160 คนและ 300 คนตามลำดับ

“แนวโน้มธุรกิจการบินมีการเติบโตต่อเนื่องทั้งปัจจัยจากการมี Dual Airport และการเข้าสู่เออีซีซึ่งจุดเด่นของหลักสูตรธุรกิจการบินของสถาบันคือ การเรียนการสอนแบบWork-Based Education ที่เน้นการฝึกทักษะการปฏิบัติ ด้วยการฝึกงาน 4 ครั้งตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-4 ทำให้สายการบินมองเห็นถึงศักยภาพและคุณภาพของนักศึกษาที่มีความอดทน ขณะเดียวกันการได้ฝึกงานที่หลากหลายรวมถึงร้านเซเว่นอีเลฟเว่น จะทำให้ได้เรียนรู้งานด้านบริการพบปะลูกค้าหลายประเภท ทำให้สามารถปรับตัว ซึ่งเป็นหัวใจหลักของงานการบริการ”

ล่าสุดสถาบันใช้งบลงทุนราว 40 ล้านบาท ในการจัดตั้งศูนย์ฝึกปฏิบัติการธุรกิจการบิน (PIM AIR) ประกอบไปด้วยศูนย์รวมงานบริการ infight,Ground และ Operation เพื่อใช้ในการเรียนการสอนภาคปฏิบัติก่อนส่งนักศึกษาออกฝึกงานยังองค์กรต่างๆ ในอนาคตทั้งนี้สถาบันมีแผนเพิ่มพันธมิตรในการรองรับบุคลากร โดยตั้งเป้าที่จะทำสัญญาข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับองค์กรธุรกิจการบินทั้งในและต่างประเทศจำนวน 15 แห่ง โดยเริ่มจากปีก่อนที่ทำเอ็มโอยูไปแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ แพนไทยแอร์, นกแอร์ และบริษัท การบินไทยจำกัด (มหาชน) ซึ่งภายในปี 2559 นี้ จะทำเอ็มโอยูเพิ่มขึ้นอีก 5 แห่ง และสถาบันยังมีแผนเปิดหลักสูตรธุรกิจการบินนานาชาติในระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโทด้านการบริหารจัดการธุรกิจการบินอีกด้วย

“การทำเอ็มโอยูกับองค์กรการบินต่างๆ ทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทั้งนักศึกษา สถาบัน และสายการบิน ซึ่งนักศึกษาจะได้ฝึกงานและมีโอกาสได้ทำงานจริงกับบริษัทคู่สัญญา ส่วนสถาบันและสายการบินจะได้รับประโยชน์ในแง่ของการทำธุรกิจร่วมกัน และสายการบินยังได้รับสิทธิประโยชน์ในการเข้าร่วมโปรแกรมการอบรมต่างๆ ของกลุ่มบริษัท ซีพีออลฯ เช่น โปรแกรมอบรมด้านการตลาด และ customer serviceเป็นต้น” นายภูมิกล่าวและว่า

สำหรับนักศึกษาที่สมัครเรียนในหลักสูตรนี้และไม่มีทุนทรัพย์ ทางสถาบันมอบทุนการศึกษาให้นักศึกษาจำนวน 30 ทุน หรือคิดเป็น 10% ของจำนวนนักศึกษาที่เปิดรับ โดยนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาออกไปแล้ว สามารถออกไปทำงานได้ทั้งในสายงานที่เกี่ยวข้องกับสายการบินโดยตรง ประกอบไปด้วย กลุ่ม infight หรือลูกเรือ อาทิแอร์โฮสเตส สจวร์ต เป็นต้น กลุ่มพนักงานภาคพื้น อาทิ Ground, Customer service, Ground operation,Fight operation และ cargo เป็นต้น และอาชีพอื่นๆ เช่น ครัวการบิน ศุลกากรตรวจคนเข้าเมือง (ต.ม.) ฝ่ายขายฝ่ายต้อนรับในองค์กรต่างๆ เป็นต้น โดยสถาบันตั้งเป้าหมายที่จะผลิตบุคลากรให้ออกไปทำงานในส่วนภาคพื้น 90% และกลุ่ม in fight 10%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,123 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2559