‘อีอีซี’ปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโตปีละ 5%

08 มี.ค. 2561 | 06:22 น.
เมื่อสัปดาห์ก่อนทางบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมกับโครงการปริญญาเอก (X-DBA) รุ่น 3 คณะบริหารธุรกิจมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง จัดงานสัมมนา“EECขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอนาคตใหม่ที่ยั่งยืน” เพื่อให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไป มีความรู้ ความเข้าใจในการขับเคลื่อนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี

++ปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่
โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนาอีอีซีเป็นโครงการที่สำคัญของรัฐบาล ในการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ที่ทุกภาคส่วนจะร่วมกันทำงาน โดยอีอีซีจะเกิดไม่ได้หากจะทำเฉพาะเรื่องอุตสาหกรรม หรือเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมถึงเรื่องท่าเรือ และการขนส่ง แต่จะต้องขับเคลื่อนโดยองค์รวม ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นโครงการที่มีความซับซ้อนแต่หากสามารถทำได้ผลประโยชน์จะเกิดขึ้นโดยรวม

ปัจจุบันไทยถือเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจในแง่ของการลงทุน รวมถึงเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอย่างมากในเอเชีย และอาเซียน ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของประเทศ ซึ่งเสมือนเป็นประตูสู่เอเชีย และอาเซียน เพียงแต่จะใช้ความได้เปรียบดังกล่าวนี้ให้เป็นประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร อีกทั้ง ยังมีความพร้อมเรื่องของเศรษฐกิจ รวมถึงมีแผนหรือยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ที่จะก้าวไปสู่ประเทศไทย 4.0 ในทิศทางเดียวกัน

นอกจากนี้โครงการอีอีซี จะเป็นการแก้ไขปัญหาสะสมของประเทศ ให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางซึ่งจะต้องเป็นเศรษฐกิจที่มีพลังแห่งนวัตกรรม สร้างมูลค่าในระดับสูง อีกทั้ง ยังช่วยลดเรื่องความเหลื่อมลํ้าทางสังคม พร้อมแก้ปัญหาการพัฒนาเชิงพื้นที่ อย่างครอบคลุมและเป็นระบบให้กระจายออกไป โดยเริ่มจากชุมชน ทั้งนี้ ล่าสุดพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

TP11-3345-B ++เชื่อมเดินทางแบบไร้รอยต่อ
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เมื่ออีอีซีพัฒนาจนประสบความสำเร็จ จะเป็นเสมือนส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ โดยกระทรวงคมนาคมจะรับผิดชอบเรื่องโครงสร้างพื้นฐานซึ่งประกอบด้วยการคมนาคม 4 รูปแบบ ได้แก่ 1.ระบบรถยนต์ โดยจะมีถนนมอเตอร์เวย์ 2.ระบบราง 3.ระบบเรือ และ4.ทางอากาศ ซึ่งทุกรูปแบบจะมีการแบ่งเป็นผู้ให้บริการ (Operator) และผู้ควบคุม (Regulator) เพื่อทำให้เกิดการเดินทางแบบไร้รอยต่อ ที่จะต้องเชื่อมโยงทั้งการเดินทางทางบกนํ้า อากาศและเตรียมความพร้อมให้พื้นที่อีอีซี รองรับการขยายตัวของความเจริญที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่จะทำให้ประเทศไทย ได้เปรียบในการเป็นจุดเชื่อมโยงของเอเชีย ยกระดับโลจิสติกส์ เพิ่มขีดความสามารถทางด้านระบบคมนาคมขนส่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

++เชื่อดันเศรษฐกิจไทยโต 5%
ขณะที่นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคพิเศษตะวันออก(กนศ.) สะท้อนว่า อีอีซี เป็นการนำพื้นที่ 3 จังหวัดมาวางแผนร่วมกันเพื่อทำการพัฒนาเชิงพื้นที่ รวมถึงการศึกษา สิ่งแวดล้อม และการดูแลชุมชนไปพร้อมกัน ให้ขึ้นมาอยู่ในระดับแนวหน้าของโลก โดยสุดท้ายแล้วอีอีซีจะเป็นฐานการสะสมการลงทุน และเทคโนโลยีสำหรับเยาวชนไทยในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าการลงทุนดังกล่าวจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของไทยเติบโตได้จาก3%เป็น 10% หลังจากที่ไม่ได้มีการลงทุนอย่างจริงจังมาเป็นระยะเวลานานจากปัญหาภายในประเทศโดยจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยได้ 5% ต่อปีได้

โดยปัจจุบันมีการดำเนินการเรื่องแผนการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว จากผลสำรวจพบว่าผู้ที่จบปริญญาตรีในพื้นที่อีอีซีและไม่มีงานทำ หรือทำงานไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมาจำนวนถึง 32% รวมถึงขาดช่างฝีมือและผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่จะเป็นช่างที่มีคุณภาพประมาณ 5 หมื่นคน โดยคำถามหนึ่งที่สำคัญคือเมื่อมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว อีอีซีจะยังเดินหน้าต่อไปหรือไม่ สิ่งที่ดำเนินการไว้ก็คือการจัดทำเป็น พ.ร.บ. ซึ่งคณะกรรมการนโยบายฯจะยังคงอยู่ไม่ว่าผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรีก็จะมีตำแหน่งเป็นประธาน แต่ทั้งนี้ ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าประชาชนในพื้นที่ต้องการหรือไม่ด้วย

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2 ++ใช้ดิจิตอลกับเกษตร
นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลกล่าวว่า ชุมชนของพื้นที่3จังหวัดมีการเกษตรกันจำนวนมากฉะนั้นจะต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนอกจากนี้จะต้องมีการสร้าง Startup แบบถูกจุดและต้องขยายผลต่อได้ จึงได้มีการสร้างสถาบันIOTขึ้น เพื่อเป็นพื้นที่ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ และเกิดการจับคู่ธุรกิจขึ้น

อย่างไรก็ตาม โจทย์ใหญ่ที่สำคัญไม่แพ้กันที่ต้องเร่งพัฒนาคือเรื่องของทรัพยากรบุคล เนื่องจากบุคลากรไทยที่เข้าใจหรือพัฒนาด้านดิจิตอลมีไม่มาก เพราะระบบการศึกษาไม่สอดรับกับธุรกิจดิจิตอลยุคใหม่ แม้ว่าจากรายงานผลสำรวจจะพบว่าเยาวชนไทยมีการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์ได้จำนวนมาก แต่ประเด็นก็คือไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้โดยมีสัดส่วนการใช้งานประเภทเกมมากที่สุด ดังนั้น จึงต้องหาแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างจริงจังและดำเนินการให้มีการพัฒนาบุคลากรทางด้านดังกล่าวนี้อย่างเพียงพอ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,345 วันที่ 4 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว