ขุมทรัพย์ 'เอไอเอส' ปั้นแพลตฟอร์มใหม่ บริการทุกสรรพสิ่ง!

04 มี.ค. 2561 | 13:55 น.
2038

หลังจากค่ายมือถือเบอร์หนึ่ง ‘เอไอเอส’ หรือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ประกาศวิสัยทัศน์พร้อมเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอล ยกระดับสู่ไทยแลนด์ 4.0 และประกาศเปิดตัว 3 แพลตฟอร์ม ประกอบด้วย 1.IoT AIS IoT Alliance Program (AIAP), 2.VDO Platform ‘Play 365’ และ 3.VR Content Platform

อย่างไรก็ดี เมื่อเร็ว ๆ นี้ รายการ “ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ” ออกอากาศช่องสปริงนิวส์ 19 โดยมีผู้ดำเนินรายการ คือ นายบากบั่น บุญเลิศ และ น.ส.อุบลรัตน์ เถาว์น้อย ได้เชิญนายสืบศักดิ์ สืบภักดี นักวิจัยด้านโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มาวิเคราะห์ถึงทิศทางธุรกิจของ ‘เอไอเอส’ หลังประกาศวิสัยทัศน์อย่างเป็นทางการ


TP01-3345-7

บากบั่น : การปรับตัวยักษ์ใหญ่ ‘เอไอเอส’ ที่มีผู้ใช้บริการทั่วประเทศกว่า 40.1 ล้านเลขหมาย เพื่อให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มาเป็นการให้บริการอินเตอร์เน็ตทุกสรรพสิ่งมีผลอย่างไร

สืบศักดิ์ : ปัจจุบัน เทคโนโลยีกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นดิจิตอลมากขึ้น มีการใช้งานในรูปแบบ ‘วิดีโอ สตรีมมิ่ง’ มากขึ้น ซึ่งในอนาคตอาจจะไม่ได้จบแค่เว็บที่เป็นการสตรีมมิ่ง แต่อาจจะเป็นในรูปแบบ ‘วีอาร์’ ผ่านเครือข่ายโทรคมนาคม ดังนั้น ผู้ให้บริการสร้างแพลตฟอร์มใหม่ ๆ สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้ใช้บริการ เพื่อเป็นแหล่งรายได้ในอนาคต

บากบั่น : เป็นตัวเลขที่น่าตกใจ เมื่อคนไทยทำงาน 8 ชั่วโมง แต่อยู่กับมือถือนานถึง 4.8 ชั่วโมง

สืบศักดิ์ : ในอนาคตจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ เพราะคนไทยจะไม่ได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตหรือใช้สมาร์ทโฟนเฉพาะแค่การดูยูทูบ หรือใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่การทำงานทุกอย่างจะอยู่บนช่องทางนี้หมด ในอนาคตการติดต่อประสานงานจะเป็นในรูปแบบดิจิตอลมากขึ้น ทุกอย่างสามารถดำเนินอยู่บนแอพพลิเคชั่น เพราะฉะนั้น 4.8 ชั่วโมง ในวันนี้ที่เราว่ามากแล้วนั้น ในอนาคตอาจจะมากไปกว่านี้อีก ทุกอย่างจะอยู่บนโทรศัพท์มือถือของเรา

บากบั่น : ‘เอไอเอส’ ประกาศชัดเจนสร้าง 3 แพลตฟอร์มใหม่

สืบศักดิ์ : แพลตฟอร์ม AIAP นั้น ‘เอไอเอส’ ตั้งใจทำแพลตฟอร์มขึ้นมาให้ดี เพื่อเป็นแพลตฟอร์มแห่งชาติ โดยให้โอกาสพาร์ตเนอร์เข้ามาร่วมพัฒนาคอนเทนต์ ทั้งภาครัฐ เอกชน นิสิต นักศึกษา เพื่อเข้ามาร่วมกัน เพื่อสร้างธุรกิจในอนาคตไปด้วยกัน สำหรับตัว Play 365 เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นของไทยเอง ให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ของไทย ไม่ถึงจะไปตีแพลตฟอร์มระดับโลก แต่คนไทยสามารถเข้าถึงได้ไม่เฉพาะแค่ลูกค้าเอไอเอส แต่ทุกคนเข้าถึงได้ ก็น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ค่อคนไทยในการตั้งต้นพัฒนาคอนเทนต์ที่ดีได้

สำหรับแพลตฟอร์มที่ 3 คือ VR (Virtual Reality) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มาพร้อม ๆ กับ AR (Augmented Reality) คือ การนำภาพเสมือนจริงไปแปะบนของจริง ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ แต่จะเป็นพื้นฐานของการให้บริการ 5G ในอนาคต ซึ่งจะคล้าย ๆ กับแพลตฟอร์ม Play 365 ที่ให้นักพัฒนาที่มีแนวคิดหรือไอเดียดี ๆ เข้ามาร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มของคนไทย


TP01-3345-6

อุบลรัตน์ : แพลตฟอร์มทั้ง 3 ตัวนี้ คนไทยจะได้รับอะไร

สืบศักดิ์ : คนไทยเป็นประเทศแรก ๆ ในโลก ที่กล้าออกมาประกาศว่า จะมีแพลตฟอร์มของตัวเองจริง ๆ พวกเราสัมผัสกับแพลตฟอร์มในรูปแบบนี้ที่เราคุ้นเคย แต่เป็นแพลตฟอร์มต่างชาติ แต่ในแง่ของนักพัฒนาเมื่อเราต้องการจะเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มระดับโลก อาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะผู้ประกอบการไทย เด็กไทย จริง ๆ แล้วมีความสามารถ

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ดังนั้น เมื่อมีแพลตฟอร์มของไทยขึ้นมาเอง จะทำให้คนไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีของไทย เพื่อคนไทยอย่างรวดเร็วอันนี้เป็นคนดี และสำหรับเรื่องของรถยนต์หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการเชื่อมต่อผ่านอินเตอร์เน็ตหลายคน อาจมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว เราอาจจะมีระบบแพทย์ทางไกลที่สามารถส่งข้อมูลต่าง ๆ ไปยังโรงพยาบาลเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเรื่องของสุขภาพชีวิต พวกเราจะได้ใช้สิ่งเหล่านี้ในชีวิตประจำวันได้จริง


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,345 วันที่ 4-7 มี.ค. 2561 หน้า 15

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว