'เชฟรอน' ขู่รัฐ! ถอนลงทุนไทย

05 มี.ค. 2561 | 05:16 น.
1207

‘เชฟรอน’ ขู่ทิ้งการลงทุนในไทย! บีบกระทรวงพลังงานปรับราคาซื้อ-ขายก๊าซแหล่งเอราวัณใหม่ ระบุ การเจรจาจ่ายค่ารื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมแสนล้านบาทไม่ได้ข้อยุติ อ้างชนะประมูลแหล่งเอราวัณ แต่ราคาก๊าซขายได้ต่ำ ไม่คุ้มกับค่ารื้อถอนที่ต้องจ่าย

กำลังเป็นที่จับตาของทุกภาคส่วน ในการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่หมดอายุในช่วงปี 2565-2566 ของแหล่งบงกชและเอราวัณ ที่ล่าช้า ไม่สามารถประกาศเชิญชวนผู้สนใจมาลงทุนได้ จากเดิมต้องออกทีโออาร์เดือน ก.พ. แต่ต้องเลื่อนออกไปเป็น เม.ย. 2561 แทน เนื่องจากยังไม่สามารถตกลงในเงื่อนไขกับเจ้าของสัมปทานเดิมได้

ความล่าช้าที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เจ้าของแหล่งเอราวัณ พยายามที่จะเจรจากดดันกระทรวงพลังงานให้เปลี่ยนแปลงสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ ตามที่ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำหนดชัดเจนว่า ต้องเป็นราคาที่ไม่สูงกว่าปัจจุบัน


apptp8-3169-a

นอกจากนี้ ยังต้องการเจรจาต่อรองในการจ่ายเงิน สำหรับการรื้อถอนแท่นผลิตและขุดเจาะปิโตรเลียมในอ่าวไทยให้น้อยที่สุด ที่มีการประเมินไว้ราว 1 แสนล้านบาท จากจำนวนแท่นที่มีอยู่ราว 400 แท่น ทั้งที่กฎหมายระบุให้ผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมมีหน้าที่ในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างให้แก่รัฐบาลโดยไม่คิดมูลค่า เมื่อสิ้นระยะเวลาการผลิตปิโตรเลียม ต้องกำหนดแผนงาน ประมาณค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนด้วย

ขู่ทิ้งการลงทุนในไทย
‘เชฟรอน’ ไม่เห็นด้วยกับข้อกฎหมายที่ระบุให้ต้องมารับผิด หากเกิดกรณีอุบัติเหตุหรือผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลังจากที่คืนแท่นให้กับภาครัฐแล้ว ทำให้ต้องมีภาระการดูแลไม่สิ้นสุด กระทบกับต้นทุนที่จะนำมาคำนวณราคาก๊าซ ในการเข้าแข่งขันประมูลครั้งนี้

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

นอกจากนี้ ‘เชฟรอน’ เห็นว่า หากต้องจ่ายค่ารื้อถอนตามที่ภาครัฐกำหนด แม้จะชนะการประมูล แต่ราคาก๊าซไม่ได้รับการปรับเพิ่มขึ้น การดำเนินงานก็อาจจะไม่คุ้มกับผลตอบแทน จึงพยายามที่จะใช้ความเป็นบรรษัทยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ กดดันกระทรวงพลังงาน ถึงขนาดมีกระแสข่าวออกมาว่า จะทิ้งการลงทุนในประเทศไทย หากภาครัฐไม่ยอมดำเนินงานตามที่เรียกร้อง หรือหากชนะการประมูลก็ตาม ก็จะขายแหล่งเอราวัณให้กับรายอื่นต่อไปแทน

ก่อนหน้านี้ ในการพบปะผู้นำระดับสูงของไทยหลายวาระ ทั้งในไทยและสหรัฐฯ บริษัทได้พยายามยกหัวข้อสัมปทานการลงทุนขึ้นมาหารือเป็นประเด็นสำคัญตลอดมา


รัฐยัน! ต้องทำตามกฎหมาย
นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ในแง่ของกฎหมาย ผู้รับสัมปทานไม่สามารถต่อรองกับทางภาครัฐได้ เพราะเป็นกฎหมายที่กำหนดโดยรัฐบาล ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในวันที่ 7 มี.ค. นี้ กระทรวงพลังงานจะเสนอเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) ประมูลแหล่งสัมปทานเอราวัณและบงกช กรอบแรกให้ที่ประชุมพิจารณาในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติของทั้ง 2 แหล่ง


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2



ดัน ปตท.สผ. รับช่วงแทน
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การเรียกร้องของ ‘เชฟรอน’ ทางภาครัฐคงไม่สามารถดำเนินการได้ โดยเฉพาะการปรับราคาซื้อขายก๊าซ เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น เป็นภาระกับประชาชน อีกทั้งข้อกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนตั้งแต่แรก ให้ผู้รับสัมปทานต้องรื้อสินทรัพย์ที่อยู่ในทะเลออกทั้งหมด

การที่จะอาศัยความเป็นยักษ์ใหญ่ผลิตปิโตรเลียมอยู่ราว 1,767 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือจัดหาก๊าซกว่า 50% ของประเทศ คงเป็นไปไม่ได้ และทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานก็ได้ส่งสัญญาณไปยังบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ให้ยื่นประมูลทั้งแหล่งบงกชและเอราวัณด้วย หาก ‘เชฟรอน’ ต้องการถอนตัวไปจากไทยจริง

นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต เปิดเผยว่า ‘เชฟรอน’ อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อเข้าร่วมในการประมูลแหล่งสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุ เพื่อคงความต่อเนื่องในการผลิตพลังงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตให้กับคนไทย ซึ่งตั้งแต่ปี 2505-2559 เป็นต้นมา ได้ลงทุนไปแล้ว 1.35 ล้านล้านบาท จากจำนวนแท่นที่มีอยู่ราว 316 แท่น


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,345 วันที่ 4-7 มี.ค. 2561 หน้า 15

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว