ออกกฎกระทรวง! คุมระดมทุน ICO

04 มี.ค. 2561 | 11:00 น.
1756

ก.ล.ต.-คลัง-ปปง. ทำคลอดกฎกระทรวงกำกับการระดมทุน ‘เงินสกุลดิจิตอล’ เต็มรูปแบบ ต้องขึ้นทะเบียน ออกใบอนุญาตทั้งผู้ซื้อ-ผู้ขาย และผู้บริหารตลาดรอง ในไตรมาสแรกนี้

กระทรวงการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ศึกษาแนวทางเพื่อกำหนดมาตรการกำกับดูแลการระดมทุนด้วยการเสนอขายเหรียญ ICO : Initial Coin Offering หรือ สกุลเงินดิจิตอล โดยมอบหมายให้ ก.ล.ต. เป็นเจ้าภาพหลักในการกำกับดูแลการระดมทุน การออกใบอนุญาตให้ผู้ระดมทุนและผู้ขายโทเคน หลังเอกชนขอระดมทุนจำนวนมากหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างระดมความเห็น เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการกำกับตลาดทุน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อวางมาตรการกำกับดูแล


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2

ท่ามกลางสุญญากาศที่ไม่มีกฎหมายรองรับการทำธุรกรรมดังกล่าว ยังเห็นอีกหลายบริษัทจ่อคิวระดมทุนด้วย ICO อาทิ บริษัท โปรฟิน กรุ๊ป จำกัด (ซึ่งร่วมทุนระหว่างบริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (PPS) กับบริษัท ฟินเทค (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เวโลพาร์ค จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี Blockchain) ฯลฯ โดยยังไม่รวมการเสนอขาย Crypto Currency ต่อบุคคลรายย่อยนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ

แหล่งข่าวในวงการเทคโนโลยีทางการเงิน บอกว่า การระดมทุนด้วย ICO เป็นการใช้เทคโนโลยีเสนอขายเหรียญ ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับการออกตราสารหนี้ การระดมทุนแบบ IPO ตามกฎของ ก.ล.ต. ที่มีอยู่แล้ว เพียงแต่ ICO เป็นการใช้เทคโนโลยีในการจองซื้อ ซึ่งสามารถเลือกจองซื้อเหรียญผ่านระบบการชำระเงินได้หลากหลาย ส่วนสิทธิของ ICO นั้น ขึ้นอยู่กับโมเดลของธุรกิจบริษัทที่เสนอขาย ICO

“ตอนนี้ คนปนกันระหว่างหลักการและเทคโนโลยี ซึ่งแนวโน้มเทคโนโลยีที่จะปรับเปลี่ยนไปข้างหน้าเรื่อย ๆ ซึ่งการออก ICO จึงเป็นเพียงการเปลี่ยนเทคโนโลยีจองซื้อเท่านั้น ส่วนจะเรียกเป็นสิทธิประเภทไหน ก็ต้องดูโมเดลธุรกิจของผู้เสนอขายเหรียญ และทำระบบการชำระเงินให้ถูกต้อง แต่เวลานี้หน่วยงานกำกับดูแลกลับไปไม่ถึง ซึ่งขณะนี้มีการโอนเงินระหว่างอี-วอลเลตอยู่แล้ว โดยที่หน่วยงานกำกับไม่สามารถเห็นการเข้าออกของเงินได้”

 

[caption id="attachment_246127" align="aligncenter" width="335"] อรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการ บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ จำกัด (ดีวี) ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) อรพงศ์ เทียนเงิน
ประธานกรรมการ บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ จำกัด (ดีวี)
ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB)[/caption]

ด้าน นายอรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการดิจิตอล เวนเจอร์ส บริษัทในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า การเติบโตของสกุลเงินดิจิตอลได้ขยายวงค่อนข้างเร็วและแรงเกินกลไกในการควบคุม แม้ทางการเองก็เล็งเห็นความเสี่ยงที่อาจจะใช้ช่องทางการระดมเงินในทางผิดกฎหมาย จึงพยายามจะหาแนวทาง เพื่อตีโจทย์และวางนโยบายกำกับดูแล แต่ส่วนตัวมองว่า ขณะนี้มีหลายประเทศมีความก้าวหน้าในการระดมทุนรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะญี่ปุ่น น่าจะเป็นประเทศต้นแบบในการศึกษาว่า ทำไมจึงให้การยอมรับและได้กำหนดแนวทางควบคุมกันอย่างไร

“ตอนนี้ ทั้ง ICO และ Cryptocurrency เป็นเรื่องใหม่สำหรับเมืองไทย ดังนั้น ในแง่ของผู้ลงทุน อย่าหลงกระแส เพราะกำลังเล่นกับของใหม่ จึงต้องมีสติ มีความเข้าใจ เพราะมีตัวอย่างของการหลงกระแสและคลั่งใคล้ เคยทำธุรกรรมโดยไม่ระมัดระวัง จนเกิดความเสียหายกันมาแล้ว”

นายปรมินทร์ อินโสม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีเด็กซ์ (TDAX.com) เปิดเผยว่า การระดมทุนของ ‘เจฟินคอยน์’ 600 ล้านบาท มีผู้ซื้อที่เป็นคนไทยร่วม 80% จาก 2,800 ราย อย่างไรก็ตาม ได้รับแจ้งจากสถาบันการเงินทุกแห่งให้บริษัทปิดบัญชีในธุรกรรมซื้อขายไอซีโอกับลูกค้า แต่ขอยืนยันว่า ไม่กระทบกับสิทธิของลูกค้าและผู้ซื้อโทเคนแต่อย่างใด

นายปรมินทร์ ยังระบุว่า การออกกฎหมายควบคุมการระดมทุนไอซีโอเป็นเรื่องดี แต่อย่าเข้มงวดเกินไป ไม่เช่นนั้นจะหนีไปต่างประเทศหมด


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,345 วันที่ 4-7 มี.ค. 2561 หน้า 01-15

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว