เปิดศึกกีดกัน 'สหรัฐ-อียู' ลุย ไทยถูกลูกหลง!

05 มี.ค. 2561 | 08:27 น.
กีดกันการค้าโลก ปี 61 เดือด! แค่ 3 เดือนแรก คู่ค้าทั้ง ‘สหรัฐฯ-อียู-เวียดนาม’ ประกาศบังคับใช้มาตรการใหม่กระทบส่งออกสินค้าไทยแล้วถึง 10 รายการ ข้อมูลปีที่แล้วชี้ชัด! สหรัฐฯ ยุค ‘ทรัมป์’ ออกมาตรการกีดกันมากสุด 90 รายการ ขณะล่าสุด 14 คู่ค้า เปิดไต่สวนใช้ ‘เอดี / ซีวีดี / เซฟการ์ด’ 24 สินค้าไทย


TP2-3345-6

นอกจากเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทยมากสุดในขณะนี้แล้ว การออกมาตรการทางการค้าใหม่ ๆ เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในของประเทศคู่ค้าที่ทยอยออกมาเพิ่มขึ้น ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ที่ผู้ส่งออกไทยต้องปรับตัวปฏิบัติตามกฎระเบียบ หากทำไม่ได้ย่อมหมายถึงการส่งออกที่อาจลดลง

รายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ นครลอสแองเจลีส สหรัฐอเมริกา เผยข้อมูลว่า ในปี 2560 ทั่วโลกมีการจัดทำมาตรการเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายใน รวมประมาณ 467 รายการ ในจำนวนนี้ 90 รายการ จัดทำโดยฝ่ายบริหารของรัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ที่ได้จัดทำมาตรการใหม่เกี่ยวกับเรื่องของภาษีนำเข้า จำนวน 30 รายการ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) 20 รายการ เฉพาะมาตรการเรื่องภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนสูงถึง 17 รายการ คาดแนวโน้มการดำเนินการของสหรัฐฯ จะยังมีต่อเนื่องในปีนี้

สำหรับประเทศที่มีการจัดทำมาตรการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในมากที่สุด 10 อันดับแรก ในปี 2560 ได้แก่ สหรัฐฯ อินเดีย รัสเซีย เยอรมนี อาร์เจนตินา สวิตเซอร์แลนด์ บราซิล อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร (ตามลำดับ)

 

[caption id="attachment_31589" align="aligncenter" width="393"] วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา[/caption]

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คู่ค้าได้ออกมาตรการกีดกันทางการค้า (NTBs) และมาตรการอุปสรรคเทคนิคการค้า (TBT) ในกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม มีผลบังคับใช้แล้วช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ รวม 10 มาตรการ แบ่งเป็นสหภาพยุโรป (อียู) 5 รายการ สหรัฐฯ 4 รายการ และเวียดนาม 1 รายการ

ตัวอย่างมาตรการของอียู เช่น ในสินค้าสารเจือปนอาหาร ตามระเบียบ (EU) No 1107/2009 โดยผลิตภัณฑ์อารักขาพืชที่มีส่วนผสมของสาร Oxasulfuron จะถูกยกเลิกวางจำหน่ายในตลาด มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 ม.ค. 2561 ส่วนสหรัฐฯ ได้ประกาศใช้กฎหมาย Seafood Import Monitoring Program กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าประมงมายังสหรัฐฯ ต้องรายงานข้อมูล และจัดเก็บบันทึกข้อมูลการนำเข้าสินค้าประมงสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่อการประมงที่ผิดกฎหมาย เช่น ปลาแอตแลนติกคอด ปลาอีโต้มอญ ปลาเก๋า ปูคิงแครบ ปลากะพงแดง ปลาทูน่า เป็นต้น โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ม.ค. 2561 รวมถึงยังได้ประกาศใช้มาตรการปกป้องจากการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) โดยขึ้นภาษีนำเข้าในสินค้าเครื่องซักผ้าและโซลาร์เซลล์แล้วตั้งแต่ ม.ค. 2561

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

ส่วนเวียดนาม ในสินค้ารถยนต์และชิ้นส่วนประกอบ ได้ออกมาตรการควบคุมการนำเข้ารถยนต์ (Decree 116) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ก.พ. 2561 ซึ่งกระทบกับการส่งออกรถยนต์ของไทยไปเวียดนามแล้วในเวลานี้

“มาตรการทางการค้าของปีนี้คงจะเข้มขึ้น โดยในส่วนของสหรัฐฯ นอกจากมาตรการด้านกฎระเบียบและมาตรฐานที่เคยทำมาโดยตลอดจะเข้มขึ้น ในด้านของปริมาณการนำเข้า ซึ่งเห็นได้จากมาตรการเซฟการ์ดที่ได้เริ่มใช้ในหลายสินค้ามากขึ้น มาตรการอเมริกาเฟิร์สที่เน้นให้ประโยชน์ผู้ผลิตในประเทศ โดยกำหนดภาษีนำเข้าสูงขึ้น รวมถึงใช้มาตรการที่เข้มกว่านั้น คือ เอดี ซึ่งผู้ผลิตในประเทศต้องฟ้องร้องมาก่อน ส่วนในอียูยังเน้นมาตรการการค้าในเรื่องมาตรฐานการผลิต มาตรฐานสินค้า สิ่งปลอมปนต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องไอยูยู ฟิชชิ่ง หรือควบคุมการจับสัตว์น้ำ ส่วนออสเตรเลียก็ยึดแนวทางเดียวกับอียู แต่ความเข้มข้นยังไม่สูงเท่า ซึ่งผู้ส่งออกไทยต้องติดตามอย่างใกล้ชิด”


แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2

ล่าสุด ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ประกาศเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2561 จะขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้าอัตรา 25% และอะลูมิเนียม 10% โดยจะลงนามในคำสั่งและมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายตั้งแต่สัปดาห์หน้านี้เป็นต้นไป เรื่องนี้ได้สร้างแรงสะเทือนทั่ววงการส่งออกเหล็กกล้าและอะลูมิเนียมทั่วโลก หลายประเทศคู่ค้าส่งสัญญาณว่า ถ้าสหรัฐฯ ใช้มาตรการลักษณะกีดกันทางการค้าเช่นนี้ ก็พร้อมจะใช้มาตรการตอบโต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบโต้จากจีน

ขณะที่ จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า ณ เวลานี้มีสินค้าไทยที่อยู่ระหว่างถูกประเทศคู่ค้าเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการเอดี 13 รายการ มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (ซีวีดี) 1 รายการ และมาตรการเซฟการ์ด 10 รายการ รวม 3 มาตรการ 24 รายการ จาก 14 ประเทศ โดยคู่ค้าที่เปิดไต่สวนไทยมากสุด ได้แก่ สหรัฐฯ 4 รายการ, อินเดียและตูนิเซีย ประเทศละ 3 รายการ, จีน ออสเตรเลีย ปากีสถาน ประเทศละ 2 รายการ ส่วนไทยอยู่ระหว่างเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการเอดีกับ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอียิปต์ ในสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนและรีดเย็น และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่ทำจากเมลามีน


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,345 วันที่ 4-7 มี.ค. 2561 หน้า 02

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว