ทุนจีนฮุบอุตฯยานยนต์โลก สู่เป้าหมายประเทศผู้นำนวัตกรรม

07 มี.ค. 2561 | 06:26 น.
ภายในปีค.ศ. 2030 จีนตั้งเป้ายุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไว้ว่า จะพัฒนาอุตสาหกรรมของตัวเองให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศผู้นำนวัตกรรมโลก นั่นหมายถึงการมุ่งเน้นผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ขยับสถานะตัวเองจากประเทศผู้ตาม ไปสู่การเป็นประเทศผู้นำด้านนวัตกรรม และเพิ่มสัดส่วนงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) จาก 2.5% ของจีดีพีในปี 2020 เป็น 2.8% ในปี 2030 และหนึ่งในอุตสาหกรรมที่รัฐบาลจีนมุ่งมั่นส่งเสริมให้แข็งแกร่งและยิ่งใหญ่ในระดับโลกก็คือ “อุตสาหกรรมยานยนต์” ที่นับตั้งแต่ปี 2008 จนถึงปีที่ผ่านมา (2017) ได้มีการขยับขยายนำเงินออกไปลงทุนในต่างแดนเป็นมูลค่ารวมกว่า 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 1.08 ล้านล้านบาทแล้ว

เฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2017 เพียงปีเดียว บริษัทจีน ทั้งที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์โดยตรงและเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับยานยนต์ ได้ออกไปลงทุนในต่างประเทศคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 5,500 ล้านดอลลาร์ โดยมีการทำข้อตกลงทางธุรกิจที่สำคัญๆถึง 8 ดีลด้วยกัน (ดังภาพประกอบ) มีผู้เปรียบเปรยว่า จีนใช้กลยุทธ์ขยายพลังอำนาจของอุตสาหกรรมยานยนต์ภายในประเทศของตัวเองแบบการเล่นหมากล้อม (โกะ) นั่นคือการล้อมพื้นที่ให้ได้ดินแดนของตนมากกว่าคู่ต่อสู้ ตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บริษัทจีนไม่เพียงรุกเข้าไปซื้อกิจการบริษัทผู้ผลิตอะไหล่และชิ้นส่วน แต่ยังเข้าซื้อทั้งกิจการหรือถือหุ้นบางส่วนในบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายเล็ก-รายใหญ่ทั่วโลก ทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ตัวอย่างล่าสุดคือ การเข้าซื้อหุ้นบริษัท เดมเลอร์ฯ ค่ายรถหรูของเยอรมนี ผู้ผลิตรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ที่ทำให้นายหลี่ ซูฝู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ้อเจียง จีลี่ โฮลดิ้งส์ฯ จากประเทศจีน กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุด (9.69%) ของเดมเลอร์ ดีลนี้มูลค่าราว 9,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 288,000 ล้านบาท

[caption id="attachment_264472" align="aligncenter" width="503"] หลี่ ซูฝู ซีอีโอ บริษัท เจ้อเจียง จีลี่ฯ ในงานเปิดตัวรถยนต์วอลโว่รุ่นใหม่ หลี่ ซูฝู ซีอีโอ บริษัท เจ้อเจียง จีลี่ฯ ในงานเปิดตัวรถยนต์วอลโว่รุ่นใหม่[/caption]

นี่ไม่ใช่ครั้งแรก และจะไม่ใช่ครั้งสุดท้ายของการรุกฮุบกิจการผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติโดยทุนจีนอย่างแน่นอน เพราะเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า จีนไม่เพียงมุ่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง แต่ยังใช้กลยุทธ์ทุ่มซื้อกิจการระดับโลกมาเพื่อครอบครองเทคโนโลยีและส่วนแบ่งตลาดอีกด้วย ก่อนหน้านี้ในปี 2010 จีลี่ ซึ่งเป็นบริษัทรถยนต์เอกชนรายใหญ่สุดของจีน ได้ซื้อกิจการรถยนต์ “วอลโว่” ของสวีเดนมาครอบครอง (โดยซื้อต่อมาจากฟอร์ด มอเตอร์) และเร็วๆนี้ ยังซื้อหุ้น 8.2% ในบริษัท เอบี วอลโว่ฯ ซึ่งผลิตรถบรรทุกอีกด้วย ในปีที่ผ่านมา (2017) จีลี่ฯเซ็นสัญญาซื้อกิจการรถยนต์ “โปรตอน” ของมาเลเซีย (สัดส่วนหุ้น 49.9%) และ “โลตัส” ของอังกฤษ (51%) จากบริษัท ดีอาร์บี-ไฮคอมของมาเลเซีย คิดเป็นมูลค่ารวมกัน 235 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าในอนาคต อาจมีการผลิตรถหรู “โลตัส” ที่โรงงานในมาเลเซียหรือที่จีน เพื่อควบคุมต้นทุนผลิตได้ดีขึ้น

TP10-3345-2 ไม่เพียงเฉพาะรถยนต์แบรนด์ดังทั้งจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่เป็นเป้าหมายต้นๆในการ “ช็อปปิ้ง ลิสต์” ของทุนจีน แต่ในระยะหลังๆ นี้ เราจะเห็นได้ว่า จีนยังรุกคืบอย่างรวดเร็วและบุกหนักในอุตสาหกรรม “ยานยนต์แห่งอนาคต” เนื่องจากเป็นหนึ่งใน “อุตสาหกรรมเป้าหมาย” ตามแผนยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

ปีที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ที่ตอกยํ้าแผนการเลื่อนชั้นของจีนเพื่อเป็นที่หนึ่งในตลาดยานยนต์แห่งอนาคต หรือ “รถยนต์ไฟฟ้า” นั้นคือการซื้อหุ้น 5% ของบริษัท เทสลา ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของสหรัฐฯ ด้วยเม็ดเงินถึง 1,800 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 57,600 ล้านบาท โดยบริษัท เทนเซนต์ โฮลดิ้งฯ ของจีน ดีลเหล่านี้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า จีนเอาจริงและทำได้สำเร็จในหลายตัวอย่างที่ผ่านมา เช่นกรณีของวอลโว่ เมื่ออยู่ภายใต้การบริหารงานของจีลี่ ก็สามารถพลิกฟื้นผลประกอบการกลายเป็นเรื่องราวความสำเร็จที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่ง ปีนี้บริษัทกำลังทุ่มทุนอีก 500 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 16,000 ล้านบาทสร้างโรงงานผลิตรถยนต์วอลโว่แห่งใหม่ในเมืองริดจ์วอลล์ มลรัฐเซาธ์แคโรไลนา ซึ่งจะมีการจ้างงาน คนงานอเมริกันถึง 2,000 คน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,345 วันที่ 4 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว