จำกัดส่งออกยางพ่นพิษ พ่อค้าแย่งซื้อขายโควตา-ฟ้องศาลคุ้มครองชั่วคราว

07 มี.ค. 2561 | 06:08 น.
มาตรการจำกัดปริมาณส่งออกยางพ่นพิษ บริษัท-สหกรณ์วิ่งกันขาขวิดซื้อขายโควตาส่งมอบลูกค้า บางรายโร่ฟ้องศาลปกครอง บิ๊กวงษ์บัณฑิตเผยคู่ค้าเชื่อไทยเอาแน่ร่วม 3 ประเทศหยุดกรีดยาง 3 ล้านไร่ มั่นใจดันราคาพุ่ง

มาตรการความร่วมมือ 3 ประเทศในนามสภาไตรภาคียางพาราหรือ ITRC ประกอบด้วย ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในการลดปริมาณส่งออกยางพารา 3.5 แสนตัน (ม.ค.-มี.ค.61)เพื่อดันราคายาง กำลังย่างเข้าสู่เดือนที่ 3 (ดูกราฟิกประกอบ)

ท.พ.พงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต กรรมการผู้จัดการบริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด 1 ใน 5 ผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ของประเทศ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์ราคายางเริ่มดีขึ้น ผลจากหลายปัจจัย ปัจจัยแรกคือ มาตรการจำกัดการส่งออกยาง 3 ประเทศ จะเริ่มเห็นผลในเดือนที่ 3

(มีนาคม) จากโควตาส่งออกของหลายบริษัทที่ได้รับการจัดสรรได้หมดลงแล้ว จากใช้ส่งออกในช่วง 2 เดือนแรก ปัจจัยที่ 2 ข่าวที่รัฐมนตรีเกษตรและสหกรณ์ จะร่วมมือกับ 3 ประเทศ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจาเชิญอินเดียเข้าร่วมด้วย) สลับหยุดกรีดยาง 3 ล้านไร่ ส่งผลให้ราคายางค่อยดีดตัวขึ้นอย่างชัดเจน จากกระแสข่าวที่ออกไปคู่ค้าต่างประเทศได้สายตรงเข้ามาถาม จึงยํ้าไปว่ารัฐบาลไทยเอาจริง ส่วนตัวเสนอแนะให้หยุดกรีดยางพร้อมกัน 3 ประเทศไปเลย เชื่อว่าจะทำให้ราคายางดีขึ้นแน่นอน

TP9-3345-A “รัฐมนตรีเกษตรฯ คนนี้เก่ง มาถูกทางแล้ว ยอมรับว่าที่ผ่านมาเกษตรกรขายยางได้ราคาตํ่ากว่าต้นทุนที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม ดังนั้นต้องเห็นใจ และช่วยเหลือยกระดับราคายางให้เห็นผลโดยเร็ว จำเป็นต้องใช้ยาแรง ถ้าชาวสวน คนกรีดยางอยู่ไม่ได้ ท้ายสุดจะกระทบกับผู้ส่งออก ดังนั้นจะต้องทำให้ทุกห่วงโซ่อยู่ได้”

สอดคล้องกับนายเพิก เลิศวังพง อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (ชสยท.) ที่กล่าวว่า จากโควตาที่ผู้ส่งออกยางหลายบริษัท/สหกรณ์ชาวสวนยางถูกจำกัดการส่งออกได้หมดลงก่อนสิ้นสุดมาตรการในเดือนมีนาคม ผลที่ตามเวลานี้คือมีการซื้อขายโควตาการส่งออกยางกันเป็นจำนวนมาก หลายรายเมื่อโควตาหมดลงได้ไปร้องศาลปกครองกลางเพื่อขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้สามารถส่งออกยางได้ตามคำสั่งซื้อที่มีอยู่ เรื่องนี้ขอให้รัฐมนตรีช่วยตรวจสอบ

“ส่วนมาตรการหยุดกรีดยาง รัฐมนตรีควรจะเร่งเปิดรับสมัครสหกรณ์/ชาวสวนที่สมัครใจ โดยอุดหนุนเงินก้อนหนึ่ง (แนวคิดชดเชยไร่ละ 1,500 บาท)ถือว่าถูกต้องแล้ว ส่วนชาวสวนที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการจะเสียโอกาสในการได้เงินจากภาครัฐ แต่มีแนวโน้มจะขายยางได้ในราคาที่สูงขึ้น ต้องเลือกว่าต้อง การแบบไหน ไม่ใช่อยากได้ทั้ง 2 ทาง”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1 แหล่งข่าวจากไอทีอาร์ซี เผยว่า ไทยเป็นประเทศเดียวที่ยังไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการควบคุมพื้นที่การผลิต ตามมาตรการควบคุมผลผลิต (SMS) ซึ่งเป็นมาตรการระยะยาว โดยมีพื้นที่ปลูกยางพาราเมื่อสิ้นปี 2560 เกินโควตาที่ตกลงกันถึง 6.26 ล้านไร่ จึงเป็นที่มาของการสร้างแรงจูงใจในการลดพื้นที่ปลูกยาง ทั้งการโค่นแบบปกติ คือต้นยางอายุ 25 ปี จำนวน 4 แสนไร่ และมาตรการจูงใจเร่งด่วน สนับสนุนเงินรายละ 4,000 บาท ไม่จำกัดอายุยาง เพื่อโค่นยางและปลูกแทนด้วยไม้ยืนต้น เช่น ไม้ผล เพื่อการแปรรูปและอื่นๆ ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ จำนวน 2 แสนไร่ เป็นต้น

อนึ่ง กระทรวงเกษตรฯ ได้ออกประกาศ ลงวันที่ 9 มกราคม 2561 เรื่องการกำหนดปริมาณการจัดสรรเนื้อยางสำหรับการส่งออก พ.ศ.2561 ควบคุมการส่งออกยาง 3 ชนิด ได้แก่ ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสมสารเคมี กรณีผู้ส่งออกที่ได้รับใบขนส่งสินค้าออกจากศุลกากร ในปี 2559 เป็น

จำนวนมากกว่า 5,000 ตัน อนุญาตออกใบผ่านด่านแก่ผู้ส่งออกยางไม่เกิน 70% ส่วนผู้ส่งออกที่ส่งออกยางเท่ากับหรือน้อยกว่า 5,000 ตัน ให้ส่งออกไม่เกิน 100% ของปริมาณส่งออกในระหว่างเดือนมกราคม-เดือนมีนาคม 2561 ปริมาณการควบคุมยาง สามารถถัวเฉลี่ยได้ให้ครบตามปริมาณการจัดสรรภายใน 3 เดือน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,345 วันที่ 4 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว