‘นวัตกรรม-มูลค่าเพิ่ม’ คาถาทูน่าไทยรั้งเบอร์ 1 โลก

05 มี.ค. 2561 | 10:32 น.
อุตสาหกรรมทูน่าไทยได้รับการยอมรับเป็นเบอร์ 1 ของโลกมานานหลายสิบปี โดยไทยเป็นประเทศปลายทางที่วัตถุดิบปลาทูน่าถูกนำเข้ามาแปรรูปและส่งออกมากที่สุดเฉลี่ยปีละ 7-8 แสนตัน เป็นผลจากความได้เปรียบในอดีตที่ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวมีจำนวนมากและค่าจ้างไม่สูงนัก มีสินค้าหลักคือ ทูน่ากระป๋องซึ่งเป็นสินค้าพื้นฐานใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ไม่สูงมาก แต่ ณ วันนี้ทิศทางอุตสาห- กรรมทูน่าไทยกำลังจะพลิกโฉมหน้าไปอีกระดับหนึ่ง เพื่อสปีดหนีคู่แข่งขัน

++ลุยนวัตกรรม-มูลค่าเพิ่ม
“ชนินทร์ ชลิศราพงศ์”นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทยให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ณ ปัจจุบันผู้ประกอบการทูน่าของไทยนอกจากจะผลิตและส่งออกสินค้าทูน่าพื้นฐาน เช่น ทูน่ากระป๋อง ทูน่าลอยน์แล้ว ยังผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ทูน่าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น เพาช์ทูน่า ทูน่าในซอสต่างๆ ทูน่าสูตรอาหารไทย สูตรอาหารเกาหลี สูตรอาหารญี่ปุ่น สูตรอาหารตะวันตก เป็นต้น รวมถึงอาหารสัตว์เลี้ยงจากทูน่าในแพ็กเกจที่มีความสวยงามและทันสมัย

[caption id="attachment_264556" align="aligncenter" width="503"] ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ ชนินทร์ ชลิศราพงศ์[/caption]

ขณะที่ค่ายใหญ่ เช่นกลุ่มไทยยูเนี่ยน กลุ่มซีแวลู ได้ทุ่มทุนจัดตั้งศูนย์นวัตกรรม และศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ในการคิดค้นสินค้าที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ และมีมูลค่าเพิ่มสูงออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น นํ้ามันปลา รวมถึงใช้นํ้ามันที่สกัดจากทูน่าที่มีดีเอชเอและโอเมก้า 3 ในการผลิตอาหารเสริม โภชนาการคลินิก ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อฉีกหนีคู่แข่งขันทั้งในยุโรปและเอเชียที่ส่วนใหญ่ยังเน้นการผลิตสินค้าพื้นฐาน

“ผู้ประกอบการเริ่มคิดค้นและพัฒนาสินค้าจากทูน่าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมากขึ้น จากเมื่อก่อนสัดส่วนไม่ถึง 10% แต่เวลานี้สัดส่วนสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มคาดมีมากกว่า 20% แล้ว และแนวโน้มจะดีขึ้นเรื่อยๆ แม้จะไม่สามารถทดแทนสินค้าพื้นฐานได้ 100% แต่อย่างน้อยมองว่าถ้าขึ้นไปได้ 35% หรือ 1 ใน 3 ของปริมาณสินค้าที่ส่งออกใน 4-5 ปีข้างหน้า การส่งออกผลิตภัณฑ์จากทูน่าของไทยจะมีมูลค่าสูงขึ้นมาก และจะมีกำไรเพิ่ม ความสามารถในการแข่งขันของไทยจะยิ่งสูงขึ้น เชื่อว่าคู่แข่งทั้งฟิลิปปินส์ จีน เวียดนาม อินโดนีเซียตามเราไม่ทันแน่นอน”

++ลดแรงงานสู่เทคโนโลยี
ขณะที่อีกด้านหนึ่งอุตสาหกรรมทูน่าใช้แรงงานคนในการผลิตสินค้าจำนวนมาก รวมทุกโรงกว่า 5 หมื่นคนที่เป็นแรงงานรายวัน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานต่างด้าวกว่า 4 หมื่นคน ที่เหลือเป็นแรงงานไทย ซึ่งจากที่รัฐบาลเตรียมปรับค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็น 308-330 บาทต่อวันทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 จะทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนเพิ่ม ประกอบกับแรงงานเริ่มหายากขึ้นส่งผลให้สมาชิกของสมาคม 25 ราย ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกรวมกันกว่า 90% ของภาพรวมได้เริ่มใช้เครื่องจักร และหุ่นยนต์ (แขนกล) ทดแทนแรงงานคนมากขึ้น โดยเริ่มแล้วในส่วนของไลน์ขนปลาในห้องเย็น ไลน์บรรจุภัณฑ์ และจัดเก็บสินค้า เป็นต้น”

“ทิศทางการปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันของอุตสาหกรรมทูน่าไทยในยุค 4.0 จะมุ่งเน้นการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี เพราะแรงงานจะหายาก รวมถึงแข่งขันด้วยสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มซึ่งถือเป็นความยั่งยืนระยะยาว เพราะปลาทูน่าในทะเลปีหนึ่งอย่างไรก็จับได้ไม่เกิน 5 ล้านตัน และแต่ละปีไทยนำเข้ามาผลิตไม่เกิน 8 แสนตันหรือเคยสูงสุดในบางปี 8.5 แสนตัน ดังนั้นการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยและมีมูลค่าเพิ่มจึงเป็นทางออกเพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าในตลาดประเทศที่พัฒนาแล้วและมีกำลังซื้อสูงเช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย โดยจะเห็นได้ว่าแม้ยอดส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าไทยภาพรวมปีที่ผ่านมาในรูปเงินบาทจะติดลบ (-1%) จากการขาดแคลนวัตถุดิบ แต่ยอดส่งออกไปยัง 3 ตลาดข้างต้นกลับยังเป็นบวกจากเขาที่เชื่อมั่นและสั่งซื้อสินค้าจากไทยเป็นหลักโดยยอมจ่ายในราคาสูง”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1 ++4 ปัจจัยหนุนปี61สดใส
สำหรับทิศทางการส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าของไทยในปีนี้คาดจะส่งออกได้มากกว่า 9 หมื่นล้านบาท (รวมอาหารสัตว์เลี้ยงจากปลาทูน่า แซลมอน ซาร์ดีน และแมกเคอเรล) จากปีที่แล้วส่งออกได้ 8.5 หมื่นล้านบาท ส่วนด้านปริมาณคาดจะส่งออกได้ราว 7.2 แสนตัน จากปีที่แล้วส่งออกได้ 6.2 แสนตัน มีปัจจัยบวกจาก 4 ปัจจัยได้แก่ 1. แนวโน้มการจับปลาทูน่าที่ใช้เป็นวัตถุดิบดีกว่าปีที่แล้ว และไม่ขาดแคลน และราคาวัตถุดิบปีนี้คาดเฉลี่ยจะตํ่ากว่าปีก่อน จะทำให้ความสามารถในการตลาด และการทำกำไรของผู้ประกอบการดีขึ้น ซึ่งขณะนี้โรงงานทูน่าส่วนใหญ่ได้รับคำสั่งซื้อเต็มกำลังผลิตในช่วงครึ่งแรกของปีนี้แล้ว

2. โรงงานต่าง ๆ ได้นำเครื่องจักร เทคโนโลยีมาใช้แทนแรงงานคน ช่วยลดต้นทุน 3. การพัฒนาและส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น และ 4. การแก้ไขปัญหาการทำประมงไอยูยูของไทยได้รับการยอมรับจากลูกค้าต่างประเทศทั่วโลกว่ามีความก้าวหน้าทั้งในแง่กฎหมาย และมาตรการต่างๆ มีความจริงใจและจริงจังในการแก้ไขปัญหา เป็นเครดิตทำให้การค้าสินค้าประมงของไทยในต่างประเทศไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่ปัจจัยลบมีเพียงเงินบาทที่แข็งค่ามากอาจกระทบต่อรายได้และกำไรในรูปเงินบาทที่ลดลง ซึ่งหากไม่มีกำไรจะกระทบในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะผลิตสินค้าน้อยลง และไม่มีเงินไปปรับปรุงประสิทธิ ภาพการผลิต” อย่างไรก็ดีปีนี้ จะเป็นปีที่ดีกว่าปีที่แล้วของอุตสาหกรรมทูน่าไทยอย่างแน่นอน ผลจาก 4 ปัจจัยข้างต้น”

เรื่อง : ชาญวิทย์ อินยันญะ
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,345 วันที่ 4 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว