ปิดฉากท่องเที่ยวปี60 โรงแรมกำไรพุ่งสวนทางแอร์ไลน์อ่วมพิษน้ำมัน

08 มี.ค. 2561 | 06:34 น.
พิษต้นทุนนํ้ามันพุ่ง ฉุดผลประกอบการปี 60 แอร์ไลน์ร่วง ไทยแอร์เอเชีย-บางกอกแอร์ กำไรหด ขณะที่ทีจี นกแอร์ ยังอ่วมขาดทุน ด้านโรงแรมตีปีกกำไรพุ่ง ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ คาดขยายตัวต่อเนื่องถึงปี 2561

การดำเนินธุรกิจด้านการบิน-ท่องเที่ยวของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งสิ้นสุดในปี 2560 พบว่า แม้ธุรกิจสายการบินในปีที่ผ่านมา จะมีการขยายตัวของรายได้ที่เพิ่มขึ้นทุกสายการบิน จากปัจจัยบวกของภาพรวมการท่องเที่ยวที่ เติบโต 9% และมีต่างชาติ 35.4 ล้านคนมาเที่ยวไทย และผู้โดยสารจีนที่กลับมาท่องเที่ยวไทยอย่างคึกคัก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2559 แต่จากราคาเฉลี่ย นํ้ามันในตลาดโลกในปี 2560 ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนนํ้ามันที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผลประกอบการของสายการบินหดตัว หากเทียบกับปี 2559

สายการบินที่มีกำไรในปีที่ผ่านมา ยังคงเป็น “ไทยแอร์เอเชีย” มีรายได้ 3.59 หมื่นล้านบาท มีกำไรสุทธิลดลง 21% จากปี 2559 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 3.36 พันล้านบาท มามีกำไรสุทธิ 2.68 พันล้านบาทในปี 2560 (เฉพาะที่เป็น ส่วนของบมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น หรือ AAV ซึ่งถือหุ้นใหญ่ มีกำไรอยู่ที่ 1.47 พันล้านบาท) และ “บางกอกแอร์เวย์ส” มีกำไรสุทธิลดลงจากปี 2559 ถึง 990 ล้านบาท ลดลง 53.9% โดยในปี 2560 มีกำไร 846.4 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรสุทธิที่เป็นส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท 787.9 ล้านบาท แม้จะมีรายได้ 2.84 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5% ก็ตาม

mp22-3345-a สำหรับสายการบินที่ยังขาดทุนในปีที่ผ่านมา คือ “การบินไทย” ขาดทุนอยู่ 2.10 พันล้านบาท พลิกกลับมาขาดทุนอีกครั้ง จากปี 2559 ที่กำไรอยู่ 15.1 ล้านบาท และนกแอร์ ที่ขาดทุน 1.85 พันล้านบาท

อย่างไรก็ตามในปีที่ผ่านมาแม้การบินไทย จะมีกำไรจากการดำเนินธุรกิจ และสามารถทำอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารอยู่ที่เฉลี่ย 79.2% สูงสุดในรอบ 10 ปี โดยมีผู้โดยสารมากถึง 24.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.3% แต่จากค่านํ้ามันเครื่องบินที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคานํ้ามันเฉลี่ยที่สูงกว่าปีก่อน 24.2% การขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ผลกระทบจากเครื่องยนต์โรลส์-รอยซ์ รุ่นเทรนท์1000 ที่ติดตั้งกับเครื่องบินโบอิ้ง787-8 จำนวน 6 ลำ การขาดทุนของสายการบินไทยสมายล์ กว่า 1 พันล้านบาท เป็นต้น

ในส่วนนกแอร์ หลังการเดินแผนพลิกฟื้นธุรกิจ (Turnaround Plan) การเปลี่ยนผู้บริหารตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีที่แล้ว พร้อมเพิ่มทุนเสริมสภาพคล่องได้สำเร็จ ก็ทำให้การดำเนินธุรกิจของนกแอร์ เริ่มผงกหัวบ้าง ปีที่ผ่านมามีผลการขาดทุนที่ลดลง และในปีนี้นกแอร์ ยังคงลดต้นทุน พร้อมขยายเส้นทางบินต่อเนื่อง

นายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทสายการบิน นกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2561 จะร่วมมือกับพันธมิตรไทยกรุ๊ป และกลุ่มแวลู อัลไลแอนซ์ (กลุ่มโลว์คอสต์แอร์ไลน์ในภูมิภาคนี้) ในการสร้างเครือข่าย รวมไปถึงผลักดันการใช้งานเครื่องบินเพิ่มเป็น 12 ชั่วโมงต่อวัน เน้นสัดส่วนรายได้จากเที่ยวบิน ระหว่างประเทศเพิ่มจาก 20% เป็น 40% ในปีนี้ นอกจากจุดบินจีน ก็อยู่ระหว่างพิจารณาการเปิดเส้นทางบินใหม่ไปยังอินเดีย ในเดือนมิถุนายนนี้ โดยหวังว่าจะสร้างรายได้จากเที่ยวบินในประเทศลดสัดส่วนจาก 80% มาอยู่ที่ 60% ในปีนี้ ทั้งยังตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้น 3 พันล้านบาทในปีนี้ จากปีที่ผ่านมามีรายได้ 1.4 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าผู้โดยสาร 9 ล้านคน

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์-2 นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด (มหาชน)เผยว่าปี 2561 ไทยแอร์เอเชีย วางเป้าหมายรับเครื่องบินรุ่นแอร์บัส A320 อีก 7 ลำ รวมเป็น 63 ลำ ณ สิ้นปี โดยวางกลยุทธ์การเติบโตระยะสั้นที่ตลาดอินเดียและอาเซียน พร้อมรักษาฐานลูกค้าในตลาดจีน ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาฐานลูกค้า กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อเสถียรภาพทางรายได้ที่มั่นคง โดยมั่นใจมีอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสารแข็งแกร่งอยู่ที่ 87% ด้วยจำนวนผู้โดยสารที่ 23.2 ล้านคน

ในด้านของธุรกิจโรงแรม ส่วนใหญ่ยังคงมีกำไรต่อเนื่อง ตามการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ไมเนอร์ ซึ่งหากไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวเมื่อปี 2559 วัดเฉพาะผลประกอบการในการดำเนินธุรกิจในปี 2560 ไมเนอร์ มีกำไรสุทธิถึง 5.41 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากปี 2559 ซึ่งมีกำไรสุทธิจากการดำเนินการ 4.57 พันล้านบาท การเติบโตเป็นผลมาจากการดำเนินงานของโรงแรมในไทย และมัลดีฟส์ รวมถึงการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ขณะที่ในปี 2561 ไมเนอร์มั่นใจว่าผลการดำเนินงานใน 3 ธุรกิจของไมเนอร์ ทั้งโรงแรม อาหารและไลฟ์สไตล์ คาดว่าจะเติบโต ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องในไทย ความต้องการที่เพิ่มขึ้นและห้องพักที่ดีขึ้นหลังการปรับปรุงโรงแรมในประเทศโปรตุเกส ซึ่งจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2561

สำหรับการดำเนินธุรกิจของบริษัทโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ก็ปิดฉากกำไรในปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 9.8% และในปี 2561 ก็คาดว่า จากการเติบโตของนักท่องเที่ยว จะทำให้ผลการดำเนินธุรกิจโรงแรมและอาหารปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีโครงการพัฒนาโรงแรมใหม่ โดยได้เริ่มก่อสร้างโรงแรมโคซี่ พัทยา นาเกลือ บีช 282 ห้อง และมีแผนจะก่อสร้างโรงแรมอีก 2 แห่ง รวมห้องพักกว่า 300 ห้องในประเทศมัลดีฟส์ด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,345 วันที่ 4 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว