โรซ่าปรับพอร์ตสินค้า ลดเสี่ยงวัตถุดิบขาด

06 มี.ค. 2561 | 23:00 น.
โรซ่า เผยผลประกอบการแตะ 2,500 ล้าน โตสวนกระแสตลาดซอสและปลากระป๋องหดตัว ส่งผลภาพรวมติดลบเป็นครั้งแรก 4% ซอสพริกและมะเขือเทศติดลบ 2% เล็งปรับพอร์ตสินค้า กระจายความเสี่ยง เผยรายได้ปี 2560 เติบโต 9% ตัวเลขแตะ 2,500 ล้านบาท ขณะที่ปี 2559 โต 3%

นายสุวิทย์ วังพัฒนมงคล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายปลากระป๋องและซอสปรุงรสโรซ่า เปิดเผยว่า ปี 2560 ถือเป็นปีแรกที่ตลาดปลากระป๋องติดลบถึง 4% เนื่องจากการขาดแคลนปลาซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก โดยปกติปลากระป๋องจะเติบโตปีละ 7-8% แต่หลังๆ การเติบโตลดลงเหลือ 2-3% ก่อนที่จะติดลบ สำหรับปีนี้ภาพรวมวัตถุดิบดีขึ้น แต่ที่ผ่านมาผู้ผลิตต้องแบกรับต้นทุนราคาปลาที่เพิ่มขึ้นถึง 20-30% หากปลายังเป็นปัจจัยที่ผันผวนเช่นนี้ เชื่อว่าตลาดจะเริ่มปรับตัว จากการขาดแคลนวัตถุดิบ อาจส่งผลให้มีการปรับราคาปลากระป๋อง ทำให้ผู้บริโภคหันไปเลือกสินค้าอื่นแทน โดยวัตถุดิบหลักมากกว่า 50% นำเข้าจาก จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม เมียนมา ส่วนซอสมะเขือเทศ ซอสพริก ก็ติดลบเช่นกัน โดยลบอยู่ที่ 1-2%

[caption id="attachment_42128" align="aligncenter" width="331"] สุวิทย์ วังพัฒนมงคล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด สุวิทย์ วังพัฒนมงคล
ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด
บริษัท ไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด[/caption]

สำหรับโรซ่า เริ่มปรับตัวขยายพอร์ตสินค้าแล้ว โดยการออกสินค้าพร้อมรับประทาน อย่าง โรซ่าพร้อม และมีแผนที่จะส่งเสริมและพัฒนาสินค้าในกลุ่มนี้ออกสู่ตลาดให้มากขึ้น เพื่อเสริมยอดขายให้แข็งแรงมากขึ้น โดยปีที่ผ่านมา โรซ่ายังทำยอดขายได้เติบโตต่อเนื่องประมาณ 9% รายได้รวมแตะ 2,500 ล้านบาท ถือเป็นการเติบโตที่สูงขึ้นจากปีก่อนที่เติบโต 3% โดยแบ่งเป็นสินค้าหลัก 4 กลุ่ม คือ ซอส 35% ปลากระป๋อง 55% อาหารแบบซอง, ผักกาดดอง และโรซ่าพร้อมประมาณ 10% ส่วนแบ่งตลาดซอสมะเขือเทศเพิ่มขึ้นจาก 55% เป็น 57-58% ซอสพริก จาก 30% ขึ้นมาเป็น 32% ส่วนปลากระป๋องมีส่วนแบ่งประมาณ 11-12%

การที่ตลาดปลากระป๋องและซอสติดลบ รวมไปถึงสินค้า FMCG เกือบทั้งหมด ที่ติดลบ มีปัจจัยหลักที่สำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ บริโภค ที่หันไปซื้อของออนไลน์มากขึ้น ทำให้ตลาดค้าปลีกซบเซาลง นอกจากนี้สำหรับตลาดซอสมะเขือเทศ และซอสพริก ปัจจุบันไปโตที่เซ็กเมนต์อุตสาหกรรมที่เป็นไซซ์แกลลอนมากกว่า ซึ่งตัวเลขตรงนี้ไม่มีใครวัดได้ “วิธีการแก้ปัญหาของเรา คือ การสร้างตัว โรซ่าพร้อม ขึ้นมา เราพยายามสร้างให้มันขึ้นมาเป็นขาที่ 3 เพื่อพยุงบริษัท จากเดิมเรามี 2 ขา คือ ปลากระป๋อง กับ ซอส ขาที่พยุงบริษัทมีเยอะขา ก็ยิ่งดี แต่มันใช้เวลานิดหนึ่ง เพราะมันเป็นสินค้าที่ไม่ได้สร้างตลาดง่ายๆ เพราะในตลาดอาหารพร้อมทาน อาหารแช่แข็งจะครองตลาด และเขาได้เปรียบเพราะเป็นทั้งผู้ ผลิต และผู้คุมค้าปลีกทั้งหมด แถมยังมีสตรีตฟูดเต็มไปหมด เวลาเป็นตัวเลือก เราเลยเป็นตัวเลือกท้ายๆ ตอนนี้เราต้องพยายามทำให้เราเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ให้ได้” นายสุวิทย์กล่าว

อีกทางเลือกหนึ่ง คือ การทำปลากระป๋องให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยเลือกใช้วัตถุดิบที่พรีเมียมมากขึ้น ซึ่งอันนี้คิดกันมานานแล้วแต่ยังไม่มีใครทำได้ และในส่วนของซอส ที่โรซ่ามีแหล่งวัตถุดิบที่แข็งแรง ก็ยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ จะผลิตโปรดักต์ใหม่ๆ ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น รวมทั้งการผลิตสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพออกสู่ตลาด

ขณะเดียวกัน ในตลาดออนไลน์ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่โรซ่าให้ความสนใจ อยู่ในช่วงของการพิจารณาความเหมาะสม ในการทำตลาด ที่อาจจะสร้างซัพ แบรนด์ ออกมาเจาะตลาดออนไลน์ หรือออกสินค้าใหม่ ที่ขายเฉพาะตลาดออนไลน์เท่านั้น

app-suwit นายสุวิทย์ กล่าวว่า สำหรับปีนี้ซอสยังคงมีการเติบโตแน่นอน ส่วนปลากระป๋องยังประเมินยาก อย่างไรก็ตาม บริษัทยังเชื่อมั่นในการสร้างแบรนด์ ที่เดินมาถูกทาง คือการทำสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง และกิจกรรมการตลาดอื่นๆ โดยแต่ละปีใช้งบการตลาดประมาณ 70-80 ล้านบาท เพราะสร้าง Brand Loyalty พร้อมๆ กับการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ที่จะช่วยทำให้การสร้าง Brand Loyalty ในจิตใจผู้บริโภคลงไปในระดับที่ลึกขึ้น เป็นการเสริมซึ่งกันและกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,345 วันที่ 4 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว