เคล็ดลับธุรกิจครอบครัว ที่อายุยืนยาวที่สุดในโลก(1)

06 มี.ค. 2561 | 23:05 น.
MP35-3345-1 เป็นที่น่าสังเกตว่าธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่ไม่สามารถอยู่รอดได้เกินกว่า 1 รุ่น มีเพียง 30% ของธุรกิจครอบครัวทั้งหมดเท่านั้นที่สามารถส่งต่อไปยังรุ่นที่ 2 ได้และเพียง 3% ที่สามารถอยู่ได้ถึง 4 รุ่นขึ้นไป ซึ่งในบริบทนี้ธุรกิจครอบครัวของญี่ปุ่นมีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก ด้วยธุรกิจครอบครัวที่เก่าแก่ที่สุดในโลกคือ Hoshi Ryokan ซึ่งเป็นโรงแรมที่เจ้าของและดำเนินการโดยครอบครัวเดียวกันมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 718 และเป็นธุรกิจที่สืบทอดกันมาถึง 46 รุ่น

นอกจากนี้จากบริษัทที่มีอายุมากกว่า 200 ปี ทั้งหมด 5,000 แห่งทั่วโลก พบว่ามากกว่า 60% (ประมาณ 3,000 บริษัท) อยู่ในประเทศญี่ปุ่น รวมถึง Sudo Honke ผู้ผลิตเหล้าสาเกก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจครอบครัวเก่าแก่ ที่สามารถอยู่ได้ถึงรุ่นที่ 55 ด้วยเช่นกัน ทำให้หลายคนอาจตั้งคำถามว่ามีส่วนประกอบพิเศษอะไรบางอย่างหรือไม่ที่ทำให้ธุรกิจในญี่ปุ่นสามารถคงอยู่ได้ยาวนานหลายชั่วอายุคน

ในวารสาร Business Today ฉบับเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2560 มีบทความหนึ่งน่าสนใจเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวที่มีอายุยืนยาวที่สุดในโลก เขียนโดย Sonu Bhasin ในชื่อ How world’s oldest family businesses have survived for centuries ได้วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดมาได้นับศตวรรษเอาไว้น่าสนใจว่า ค่านิยมครอบครัว (family values) เป็นส่วนสำคัญของแต่ละครอบครัว โดยเฉพาะในครอบครัวที่ทำธุรกิจ ค่านิยมของครอบครัวจะกลายเป็นของธุรกิจครอบครัวด้วยทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าค่านิยมเหล่านี้เป็นรากฐานของธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่เชื่อมโยงธุรกิจครอบครัวทุกยุคหลายรุ่น คือการมุ่งเน้นไปที่ค่านิยมหลักของครอบครัว ซึ่งการวิจัยที่ศึกษาธุรกิจทั่วโลกชี้ว่าการยึดมั่นในค่านิยมครอบครัว เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีธุรกิจครอบครัวที่เก่าแก่ที่สุด ทั้งนี้ค่านิยมหลักในครอบครัวใดๆในโลกนี้คือความไว้วางใจกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว

MP35-3345-2 สำหรับในประเทศญี่ปุ่นแล้วค่านิยมหลักของครอบครัวถูกนำเข้ามาใช้ในธุรกิจอย่างจริงจังมาก ซึ่งหากใครเคยทำงานกับคนญี่ปุ่นจะรู้ว่าช่วงแรกๆ ของความสัมพันธ์มุ่งเน้นไปที่การสร้างความไว้วางใจ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ หากแต่การสร้างความไว้วางใจเป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยเวลา ไม่สามารถรีบเร่งหรือบังคับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดความไว้วางใจระหว่างคนญี่ปุ่นและคู่ค้าแล้ว ความสัมพันธ์นั้นจะคงอยู่ต่อไปยาวนานเลยทีเดียว ทั้งนี้ส่วนผสมหลักของ “ความไว้วางใจ” (trust) คือความโปร่งใส (transparency) และชาวญี่ปุ่นมีความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก

โดยทั่วไปความไว้วางใจไม่เพียงต้องสร้างขึ้นแค่ภายในสมาชิกในครอบครัวแต่ละคนเท่านั้น แต่รวมไปถึงพนักงานที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัวที่อยู่ในบริษัทด้วย จะเห็นได้ว่าความไว้วางใจเกี่ยวข้องกับคุณสมบัติ 2 ประการ คือ บุคลิก (character) และความสามารถ (competence) ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่าบุคลิกนั้นเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเป็นผลมาจากค่านิยม ทัศนคติและพฤติกรรมของแต่ละคน ขณะที่ความสามารถอาจมีรายละเอียดมากกว่าคือประกอบด้วย การศึกษา ทักษะและสมรรถนะ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,345 วันที่ 4 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว