ออร์เดอร์ 'ทูน่า' ฟื้น! ลุ้นปีนี้ 9 หมื่นล้าน

02 มี.ค. 2561 | 09:20 น.
1556

ส่งออก ‘ทูน่า’ ส่งสัญญาณฟื้น หลังวัตถุดิบไม่ขาดแคลนและราคาลดลง ... สมาคมทูน่าฯ ฟันธงปีนี้กำไรดีกว่าปี 60 ระบุ 25 บริษัทสมาชิก ออร์เดอร์เต็มกำลังผลิตยาวถึงกลางปีแล้ว คาดปีนี้ฟัน 9 หมื่นล้าน ห่วงบาทแข็งตัวถ่วง

‘อุตสาหกรรมทูน่าไทย’ ถือเป็นเบอร์ 1 ของโลก ทั้งในแง่การผลิตและการส่งออกไปยังกว่า 200 ประเทศทั่วโลก
ขณะที่หลายค่ายยักษ์ใหญ่ อาทิ กลุ่มไทยยูเนี่ยน, กลุ่มซีแวลู และกลุ่มพัทยาฟู้ด ยังได้รุกเข้าไปซื้อกิจการทูน่าในยุโรปและอเมริกาเพื่อขยายและต่อยอดธุรกิจ ยิ่งสร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมทูน่าไทยในระยะยาว

นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปี 2561 คาดการณ์ส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าของไทย (ทูน่ากระป๋อง/เพาช์ทูน่า/ทูน่าลอยด์) จะสามารถส่งออกได้ที่มูลค่า 9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ส่งออก 8.5 หมื่นล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 6% ส่วนด้านปริมาณคาดจะส่งออกได้ 7.2 แสนตัน จากปีที่แล้วส่งออก 6.2 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้น 16%


15-3344

ทั้งนี้ มีสัญญาณจากเรือจับปลาทูน่าในต่างประเทศ ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ สามารถจับปลาได้ค่อนข้างดี ไม่ว่าจะเป็น ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก หรือ ฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ทำให้มีปริมาณปลาทูน่าวัตถุดิบเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าปลาทูน่ารายใหญ่สุดของโลก (สัดส่วน 95% ของปลาทูน่าที่ไทยใช้ผลิตเป็นปลานำเข้า อีก 5% จากเรือจับปลาในประเทศ) ช่วง 2 เดือนแรกปีนี้ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และส่งผลให้ราคาปลาวัตถุดิบได้ปรับตัวลดลงจากระดับ 2,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ขณะนี้ลดเหลือระดับ 1,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน หรือลดลงถึง 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน

“ปีที่แล้วผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เรือจับปลาได้น้อยกว่าปกติ ทำให้มีปลาทูน่าเข้ามาไทยเพียง 6.7 แสนตัน ต่ำสุดในรอบหลายปี จากระดับปกติจะนำเข้า 7.5-8 แสนตันต่อปี จากปลาที่ขาดแคลนและราคาสูง มีผลต่อราคาสินค้าส่งออกที่ปรับตัวสูงขึ้นหลายตลาด เช่น ตะวันออกกลาง และตลาดอื่น ๆ ลดการสั่งซื้อ ทำให้การส่งออกทูน่ารูปเงินบาทปีที่แล้วติดลบ 1% และด้านปริมาณลบ 13%”

อย่างไรก็ดี จากสัญญาณการจับปลาและการนำเข้าปลาได้เข้าสู่ภาวะปกติและมีราคาลดลง มั่นใจว่า สมาชิกของสมาคม 25 ราย (มีสัดส่วนส่งออกรวมกันกว่า 90% ของภาพรวม) ในปีนี้จะสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น ทั้งด้านปริมาณและมูลค่า และจะมีความสามารถในการทำกำไรได้ดีกว่าในปีที่ผ่านมา จากราคาวัตถุดิบปรับตัวลดลง ราคาขายสมเหตุสมผล ผู้นำเข้าและผู้บริโภคประเทศปลายทางรับได้ และสั่งซื้อมากขึ้น เห็นได้จากเวลานี้สมาชิกส่วนใหญ่ได้รับคำสั่งซื้อเต็มกำลังการผลิตในช่วง 3 เดือนแรกแล้ว และบางรายเต็มกำลังการผลิตไปถึงเดือน เม.ย.-พ.ค. แล้ว ทำให้การส่งออกในครึ่งแรกของปีนี้จะดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จากมีคำสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่องและปลาวัตถุดิบมีเพียงพอ


บาร์ไลน์ฐาน

นายกสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย กล่าวอีกว่า นอกจากการจับปลาที่ได้กลับมาเป็นปกติ ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญ คาดราคาปลาทูน่าในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 1,500-1,600 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน และช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ หากเฉลี่ยที่ 1,800-1,900 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน (จากปีที่ผ่านมา มีความผันผวนเฉลี่ยตั้งแต่ 1,400-2,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน) ทำให้ราคาปลาและตลาดส่งออกจะมีเสถียรภาพมากกว่าปีที่แล้ว นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากผู้ประกอบการทูน่าของไทยส่วนใหญ่ ได้มีการทำวิจัยและพัฒนา (อาร์ แอนด์ ดี) ผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อลดผลกระทบการแข่งขันจากสินค้าทูน่าพื้นฐานจากฟิลิปปินส์ เวียดนาม หรือจีน เช่น ผลิตเป็นโอเมก้า 3, ทูน่าในน้ำ หรือส่วนผสมต่าง ๆ, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยงจากทูน่า เป็นต้น ณ ปัจจุบัน ประเมินว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่าของไทยสัดส่วนมากกว่า 20% จะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม และคาดหมายใน 4-5 ปีข้างหน้า สัดส่วนจะเพิ่มเป็น 35% หรือ 1 ใน 3 ของปริมาณสินค้าส่งออก

สอดคล้องกับนายอมรพันธุ์ อร่ามวัฒนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มซีแวลู 1 ในผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่ารายใหญ่ ที่เผยว่า ขณะนี้คำสั่งซื้อจากต่างประเทศได้เต็มกำลังการผลิตของโรงงานในเครือไปถึงสิ้นเดือน มี.ค. แล้ว จากลูกค้ามีความต้องการสินค้ามากขึ้น หลังราคาปลาวัตถุดิบและราคาสินค้าปรับตัวลดลง คาดจะทำให้ในปีนี้เป้าส่งออกของกลุ่มที่ 2.5 หมื่นล้านบาท จะเป็นไปตามเป้าหมาย ขณะเดียวกัน เพื่อฉีกหนีคู่แข่งขัน ทางกลุ่มได้ลงทุนศูนย์อาร์แอนด์ดีในการพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เวลานี้สินค้าส่งออกของกลุ่มสัดส่วน 30% เป็นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม ส่วนปัจจัยเสี่ยงมากที่สุดในปีนี้ คือ เงินบาทที่แข็งค่ามาก จะกระทบต่อรายได้และกำไรในรูปเงินบาท ขอให้ภาครัฐช่วยดูแลให้มีเสถียรภาพ ไม่ให้แข็งค่ามากกว่าคู่แข่งขัน

อนึ่ง ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ทูน่ารายใหญ่ 5 อันดับแรกของไทย ประกอบด้วย กลุ่มไทยยูเนี่ยน, กลุ่มซีแวลู, กลุ่มโชติวัฒน์, กลุ่มคิงส์ ฟิชเชอร์ และกลุ่มพัทยา ฟู้ด ตามลำดับ


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,344 วันที่ 1-3 มี.ค. 2561 หน้า 01-15

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว