ยังอีโคโนมิสต์ | สถาบันการเงินเฉพาะกิจ กับ 'แบงกิ้งเอเยนต์'

25 มี.ค. 2561 | 09:27 น.
250361-1623

… สถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือที่หลายคนรู้กันกันว่า ‘แบงก์รัฐ’ มีหน้าที่ให้บริการทางการเงินในรูปแบบเฉพาะตามพันธกิจในการจัดตั้ง โดยบทบาทสำคัญ คือ การเข้ามาเปิดช่องว่างทางการเงินให้ประชาชนที่ยังขาดโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงิน ไม่ว่าจากธนาคารพาณิชย์ หรือผู้ให้บริการประเภทอื่น โดยสามารถจำแนกแบงก์รัฐออกเป็น 3 กลุ่ม ตามพันธกิจ ดังนี้

1.กลุ่มที่เน้นให้บริการลูกค้ารายย่อยทั่วไป ทั้งด้านเงินฝาก สินเชื่อ หรือโอน / ชำระเงิน เช่น ธนาคารออมสิน เน้นลูกค้ารายย่อย ทั้งบุคคลธรรมดาและผู้ประกอบการ, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เน้นลูกค้าเกษตร ขณะที่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เน้นลูกค้าที่ต้องการที่อยู่อาศัย ด้าน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จะเน้นบริการทางการเงินตามหลักศาสนาอิสลาม


logo-nav

2.กลุ่มที่เน้นให้บริการบางประเภทแก่ SMEs หรือผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งเป็นบริการด้านสินเชื่อและให้คำปรึกษาทางธุรกิจ เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

3.กลุ่มที่ทำหน้าที่เป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินงานของแบงก์รัฐ หรือ สถาบันการเงินอื่น คือ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม ที่เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs ที่มีศักยภาพ แต่ขาดหรือมีหลักประกันไม่เพียงพอให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ และบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่เข้ามาทำหน้าที่เป็นตลาดรองให้กับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินในการขยายสินเชื่อเพื่อรองรับความต้องการที่อยู่อาศัย

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า แบงก์รัฐเป็นที่พึ่งสำคัญของประชาชนทุกกลุ่มที่มีข้อจำกัดทางการเงิน ให้เข้าถึงบริการและแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกขึ้น จากการให้บริการผ่านสาขาธนาคารการให้บริการนอกสถานที่ (Mobile Unit) เช่น รถหรือเรือเคลื่อนที่ หรือแม้แต่การให้บริการดิจิตอล ที่แบงก์รัฐหลายแห่งอยู่ระหว่างพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการควบคุมการใช้จ่ายด้วยตนเองได้ แบบทุกที่ทุกเวลา ซึ่งหากมีโอกาสจะขอมาเล่าในบทความครั้งต่อไป

โดยปัจจุบัน การขยายบริการโดยเปิดสาขาเพิ่มนั้น อาจไม่ตอบโจทย์ทั้งฝั่งผู้ให้และผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะแบงก์รัฐ กลุ่มที่เน้นให้บริการลูกค้ารายย่อย ซึ่งต้องปรับรูปแบบธุรกิจ พร้อมกับพัฒนาความสามารถพนักงาน เพื่อให้บริการได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าในต้นทุนที่เหมาะสม ซึ่งรูปแบบธุรกิจหนึ่งที่แบงก์รัฐบางแห่งเริ่มนำมาใช้แล้ว คือ การแต่งตั้งตัวแทน หรือ ‘แบงกิ้งเอเยนต์ (Banking Agent)’ ให้เข้ามาช่วยเสริมพันธกิจของแบงก์รัฐในการกระจายโอกาสทางการเงินให้ประชาชนอย่างทั่วถึง โดยเป็นช่องทางให้บริการที่สามารถเข้าถึงชุมชนได้ครอบคลุมยิ่งขึ้นในต้นทุนที่เหมาะสม โดยส่วนใหญ่จะเป็นกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สถาบันการเงินชุมชน (1) หรือสหกรณ์ (2)

** (1) จำนวนประมาณ 79,255 แห่ง และได้ยกระดับเป็นสถาบันการเงินชุมชนแล้วกว่า 1,700 แห่ง (ข้อมูลเมื่อ 7 ก.พ. 61 จากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)
** (2) จำนวน 8,194 แห่ง (ข้อมูลเมื่อ ธ.ค. 60 จากกรมส่งเสริมสหกรณ์)


MP23-3344-1A

หากจะถามว่า ทำไมแบงก์รัฐถึงเลือกองค์กรเหล่านั้นมาเป็นแบงกิ้งเอเยนต์ นั่นอาจเป็นเพราะความได้เปรียบในการเข้าถึงชุมชนจากการมีสถานที่ทำการตั้งอยู่ในหมู่บ้าน หรือ ชุมชน ซึ่งช่วยลดต้นทุนการเดินทางของลูกค้า หรือ ความใกล้ชิด และการรู้จักตัวตนของคนในชุมชน ซึ่งจะช่วยคัดกรองและติดตามพฤติกรรมลูกค้าให้แบงก์รัฐได้ โดยแบงกิ้งเอเยนต์จะให้บริการพื้นฐานบางประเภทแทนแบงก์รัฐ เช่น โอนเงิน ชำระหนี้สินเชื่อ หรือ ค่าสาธารณูปโภค รับฝาก-ถอนเงิน และให้คำปรึกษาทางการเงิน

และหากจะมองถึงประโยชน์ของแบงกิ้งเอเยนต์ แม้ว่าสาขาของแบงก์รัฐจะกระจายอยู่ทั่วไปแล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในเขตเมือง ซึ่งลูกค้าที่อยู่นอกเขตเมืองต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายเดินทางมาทำธุรกรรม และเมื่อเทียบกับจำนวนเงินในการทำธุรกรรมต่อครั้งนั้น อาจไม่คุ้มกัน แต่หากมีแบงกิ้งเอเยนต์อยู่ในชุมชน คนในชุมชนก็สามารถไปทำธุรกรรมผ่านแบงกิ้งเอเยนต์ได้ โดยไม่ต้องเดินทางไกล และไม่ต้องปิดร้านหรือหยุดงาน เพื่อมาสาขาในเมืองตามวันเวลาทำการที่กำหนด เพราะแบงกิ้งเอเยนต์จะเปิดให้บริการในวันเวลาที่ยืดหยุ่นกว่า และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน เช่น เปิดตอนเย็น หรือ เปิดในวันหยุด


MP24-3347-2A

อย่างไรก็ดี การให้บริการดังกล่าวจะสำเร็จได้นั้น จำเป็นที่แบงก์รัฐต้องพัฒนาความรู้ให้กับแบงกิ้งเอเยนต์อย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการติดตั้งระบบงาน สอนใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการให้บริการ เช่น การโอน หรือ ชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ โมบายแบงกิ้ง ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นถึงความสำคัญและสนับสนุนการให้บริการผ่านแบงกิ้งเอเยนต์ เนื่องจากจะเป็นประโยชน์ต่อแบงกิ้งเอเยนต์เอง ที่จะได้ควมรู้และโอกาสพัฒนาศักยภาพ ลูกค้าก็เข้าถึงบริการได้สะดวกขึ้นในต้นทุนที่ถูกลง ตลอดจนแบงก์รัฐก็สามารถลดต้นทุนในการจัดตั้งและบริหารสาขาในพื้นที่


บาร์ไลน์ฐาน

นอกจากนั้น การมีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดีและมีประสิทธิภาพ มีแนวทางในการคุ้มครองลูกค้า และมีการรับและแก้ไขข้อร้องเรียนที่ชัดเจน ถูกต้อง และรวดเร็ว นับเป็นหัวใจสำคัญที่แบงก์รัฐต้องคำนึงถึงเช่นกัน ซึ่ง ธปท. ก็ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว จึงร่างหลักเกณฑ์กำกับดูแลการแต่งตั้งตัวแทนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ที่ได้จัดประชุมชี้แจงรายละเอียดหลักเกณฑ์ให้แบงก์รัฐทราบแล้ว เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โดยนัยสำคัญจะเน้นเรื่องการบริหารจัดการความเสี่ยง โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านปฏิบัติการและการคุ้มครองลูกค้า เพื่อไม่ให้กระทบต่อชื่อเสียงของแบงก์รัฐ ความเชื่อมั่นของประชาชน และเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน แต่ยังคงความยืดหยุ่นและส่งเสริมให้แบงก์รัฐสามารถทำหน้าที่ตามพันธกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งเมื่อหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลใช้บังคบ ผู้เขียนก็หวังว่า แบงก์รัฐก็จะมีการให้บริการผ่านแบงกิ้งเอเยนต์ที่ได้มาตรฐาน หลากหลาย และน่าเชื่อถือ รวมทั้งมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เป็นระบบและเหมาะสม ตลอดจนมีแนวทางในการคุ้มครองลูกค้าที่ชัดเจน


** บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


……………….
คอลัมน์ : ยังอีโคโนมิสต์ โดย ศิธิษณา สู่แสวงสุข ฝ่ายกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,344 วันที่ 1-3 มี.ค. 2561 หน้า 23
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ธนาคารเฟ้น ‘แบงกิ้งเอเยนต์’ คุมเสี่ยง-ตอบโจทย์ลูกค้า
โชวห่วยตีปีก! กทบ. ขอเอี่ยว 'แบงก์เอเยนต์'


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว