เคลียร์ซื้อขบวนแอร์พอร์ตลิงค์ คมนาคมจี้หลังถูกท้วงราคาสูงเกินจริง/นำราคามาเลเซียเทียบ

18 ม.ค. 2559 | 01:30 น.
คมนาคมเร่งหาทางออกจัดซื้อ 7 ขบวนแอร์พอร์ตลิงค์ หลังถูกท้วงราคาสูงเกินจริง เตรียมเสนอคตร.เห็นชอบพร้อมแนบข้อมูลเปรียบเทียบจากมาเลเซียให้พิจารณา หลังออกเทียบเชิญบิ๊กแอร์พอร์ตลิงค์และบิ๊กร.ฟ.ท.จับเข่าหารือ คาดก.พ.นี้ได้ความชัดเจน ส่วนผลเจรจาภาระหนี้ระหว่างร.ฟ.ท.-รฟฟท. 31 มี.ค.ได้ข้อสรุปแน่

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ 7 ขบวนว่า คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้เรียกนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) และพล.อ.ดรัณ ยุทธวงษ์สุข รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด(รฟฟท.) เข้าหารือร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนดำเนินการจัดซื้อโดยเร็วต่อไป

ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.กล่าวว่า การจัดซื้อรถ 7 ขบวนนั้นขณะนี้ได้รับผลสอบถามราคาการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซียแล้ว เพื่อนำมาเปรียบเทียบราคาตามที่มีผู้ร้องเรียนจากบริษัทเอกชนและคณะกรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ(ภตช.) กรณีการประกวดราคาจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต ลิงค์ 7 ขบวน งบประมาณ 4.4 พันล้านบาทว่า มีการทำราคากลางสูงเกินความเป็นจริงประมาณ 2.34 เท่า และมีข้อสงสัยว่าอาจจะมีการสมยอมเสนอราคากันระหว่างบริษัทเมื่อได้รับงานไปดำเนินการแล้ว

ดังนั้นผลการหารือร่วมคตร.-ร.ฟ.ท.และรฟฟท.ว่าจะออกมาอย่างไรนั้นคงต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง โดยหลังผลการหารือเรียบร้อยแล้ว ก็จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบต่อไป เบื้องต้นนี้ร.ฟ.ท.ได้ทำหนังสือสอบถามไปยังมาเลเซีย ในเรื่องเกี่ยวกับสเปกรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ที่มาเลเซียใช้งานอยู่ปัจจุบันเพื่อนำมาเปรียบเทียบกับที่ร.ฟ.ท.สั่งซื้อไป

“ขณะนี้กรณีที่จะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกการจัดซื้อรถไฟ 7 ขบวน จะต้องมีข้อมูลประกอบการพิจารณาที่ครบถ้วน เพราะหากมีไม่อะไรอ้างอิงอาจถูกฟ้องร้องได้ ที่สำคัญการดำเนินงานตั้งแต่แรกเป็นต้นมานั้นได้ดำเนินการตามวิธีปฏิบัติตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างอย่างถูกต้อง แต่ก็ยอมฟังข้อท้วงติง ซึ่งจะต้องมีเหตุมีผลชัดเจน หลังจากนั้นก็จะนำเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) ร.ฟ.ท. แต่หากพบว่ามีการนำเสนอราคาแตกต่างกันกว่า 2 พันล้านบาท ก็ถือว่ามีเหตุผลที่จะประกาศยกเลิกประมูลได้เช่นกัน”

ส่วนความคืบหน้าการแยกบัญชีทรัพย์สินและภาระหนี้สินระหว่างร.ฟ.ท.กับรฟฟท.นั้น ล่าสุดได้มีการนำเสนอข้อมูลมาแล้วบางส่วนอาทิ การนำขบวนรถทั้ง 9 ขบวน ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ มิเตอร์ประปา- ไฟฟ้า นอกจากนั้นยังจะให้เอาสัญญาเช่าที่มีอยู่โอนไปให้รฟฟท.ในช่วงแรกนี้ก่อนที่จะทยอยส่วนอื่นๆต่อเนื่องกันไป

หลังจากนั้นให้รฟฟท.มาทำสัญญาเช่าที่ดินของร.ฟ.ท.ก่อนนำไปให้เช่าช่วงตามที่รฟฟท.ต้องการ โดยต้องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2559 นี้ทั้ง 3 เรื่องคือ 9 ขบวนรถ ระบบมิเตอร์ประปา-ไฟฟ้าและสัญญาเช่าที่มีอยู่ นายวุฒิชาติกล่าว

ทั้งนี้ การจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์จำนวน 7 ขบวน เกิดกระแสข่าวสะพัดว่า มีการตั้งงบไว้สูงเกินจริง จากราคาขายโดยทั่วไปที่อยู่เพียงคันละไม่เกิน 1.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 61.2 ล้านบาท รวม 7 ขบวน 28 คันราคาควรอยู่ในราว 1,713 ล้านบาท เมื่อรวมอุปกรณ์ระบบอาณัติสัญญาณที่ต้องซื้อจากซีเมนส์อีกราว 600 ล้านบาท งบประมาณรวมโครงการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้านี้ควรจะอยู่ในราว 2.5 พันล้านบาท แต่กลับมีการตั้งงบดำเนินการไว้สูงกว่า 4.4 พันล้านบาท ยังไม่รวมการจัดซื้ออะไหล่สำรองอีก 400 ล้านบาทที่การรถไฟฯจะจัดซื้อผนวกไปพร้อมกันหรือรวมทั้งสิ้นกว่า 4.8 พันล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,123 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2559