รถไฟทางคู่จิระ-อุบลฯ เพิ่มโครงข่ายเสริมศักยภาพโลจิสติกส์ภาคอีสาน

03 มี.ค. 2561 | 14:00 น.
ภายหลังจากที่ได้เปิดการประชุมด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน (การประชุมใหญ่) ครั้งที่ 3เสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2559 ที่ จ.บุรีรัมย์ ล่าสุดนั้นรถไฟโครงการนี้ได้รับการบรรจุไว้ในแผนการพัฒนารถไฟทางคู่ระยะที่ 2 เรียบร้อยแล้วเพื่อที่จะเร่งผลักดันให้เปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จในปี 2561-2562 นี้ก่อนที่จะเร่งเปิดให้บริการในปี 2566-2567

ทั้งนี้โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้มีการนำเสนอผลสรุปแนวเส้นทางโครงการ จากสถานีชุมทางถนนจิระ- อุบลราชธานี มีระยะทางรวมประมาณ 307 กิโลเมตร แนวเส้นทางรถไฟจะก่อสร้างคู่ขนานกับทางรถไฟเดิม ประกอบด้วย 34 สถานี (ไม่รวมสถานีชุมทางถนนจิระ) และมีย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า (CY) 4 แห่ง ได้แก่ ป้ายหยุดรถบ้านตะโก จ.บุรีรัมย์ สถานีบุฤาษี จ.สุรินทร์ สถานีหนองแวง จ.ศรีสะเกษ และสถานีบุ่งหวาย จ.อุบลราชธานี ส่วนย่านกองเก็บและขนถ่ายสินค้า (CY) ทั้ง 4 แห่งจะก่อสร้างในพื้นที่ของ ร.ฟ.ท.ทั้งหมด แต่จะมีการเวนคืนพื้นที่ที่สถานีหนองแวง จากถนนทางหลวงหมายเลข 226 เข้าสู่สถานีเพื่อสร้างถนนกว้าง 12 เมตร ระยะทางประมาณ 650 เมตร

tp12-3344-B ในส่วนปัญหาจุดตัดทางรถไฟ จำนวน 131 จุด มีแนวทางแก้ 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟในแนวตรง 2. ถนนยกระดับข้ามทางรถไฟในรูปตัวยู 3. ท่อเหลี่ยมลอดใต้ทางรถไฟ 4. ยกระดับทางรถไฟ และก่อสร้างรั้วกั้นตลอดแนวเขตทางรถไฟ เพื่อความปลอดภัยของคนหรือสัตว์ในการข้ามทางรถไฟและความปลอดภัยของการเดินรถไฟ
สำหรับผลการศึกษาด้านเศรษฐกิจพบว่ามีความเหมาะสมในการลงทุนอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return : EIRR) 14.25% มูลค่าลงทุนโครงการกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท โดยในปี 2565 มูลค่าผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ 6,122 ล้านบาท/ปี สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายการใช้ยานพาหนะ 3,490 ล้านบาท/ปี ประหยัดเวลาเดินทาง 1,224 ล้านบาท/ปี และลดค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อม 1,407 ล้านบาท/ปี

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1 ทั้งนี้คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการได้ในปี 2562 แล้วเสร็จในปี 2565 จะมีปริมาณผู้โดยสารประมาณ 7.22 ล้านคน-เที่ยว /ปี มีปริมาณการขนส่งสินค้าประมาณ 8.6 แสนตัน/ปี อีกทั้งลดระยะเวลาเดินทางจาก จ.นครราช สีมา-จ.อุบลราชธานี จากเดิม 5 ชม. 30 นาที เป็น 3 ชม. 15 นาที

โดยตามผลการศึกษาคาดหวังว่าการพัฒนารถไฟทางคู่ช่วงดังกล่าวนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพการเดินทางและการขนส่งสินค้าด้านอุตสาหกรรมการเกษตรและด้านเกษตรอินทรีย์ ให้ จ.บุรีรัมย์ และ จ.สุรินทร์ มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งช่วยลดระยะเวลาการเดินทาง และส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยว การกีฬา ของทั้ง 2 จังหวัดให้มีการเติบโต สามารถกระจายรายได้สู่ประชาชนในท้องถิ่นเพิ่มขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,344 วันที่ 1 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว